12 มี.ค. 2021 เวลา 13:49 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เครื่องบินถอยหลังเองได้ไหม? และ Pushback คืออะไร?
จะทำได้ไหม ทำได้รึปล่าว~
หลายคนอาจสงสัยว่าเครื่องบินสามารถถอยหลังได้หรือไม่ เพราะมันต้องมีบ้างแหละที่จะเกิดความผิดพลาดที่นักบินเลี้ยวผิด หรือจอดผิดหลุม (ฮ่า) ซึ่งถ้าหากว่าทำไม่ได้ แล้วที่ถอยกันอยู่ทุกวันนั้นทำได้อย่างไร
1
Reverse thrust เปลี่ยนทิศทางไอพ่นให้พ่นไปด้านหน้าPhoto: @mr.aircraftengineer
คำตอบก็คือ "ถอยเองได้" ซึ่งเราจะเรียกว่า Powerback โดยเครื่องบินของสายการบินที่เราโดยสารกันปัจจุบัน จะมีระบบที่เปลี่ยนทิศทางของไอพ่น ให้พ่นไป"ด้านหน้า"ทำให้ตัวเครื่องบิน"ถอยหลัง" ซึ่งระบบนี้เราจะเรียกว่า Reverse thrust แต่มัน"ไม่เหมาะ" ที่เครื่องบินจะถอยเองครับ
ลองนึกภาพลม (Jet blast) จากเครื่องยนต์เป่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆให้ปลิวว่อนดูครับ Photo: www.aerosweep.com
เพราะถ้าหากพิจารณาถึงน้ำหนักของตัวเครื่องบิน ที่หนักถึง 40 ตัน (Boeing 737 เครื่องเปล่าๆ ไม่มีอย่างอื่นนะครับ) เท่ากับเครื่องบินจะต้องพ่นลมไปด้านหน้าแรงมากๆเพื่อจะทำให้ตัวเครื่องบินถอยออกจากหลุมจอด และบริเวณนั้นก็จะมี พนักงานภาคพื้น สิ่งของ เครื่องมือต่างๆ รถยนต์ รวมไปถึงอาคารผู้โดยสาร (Terminal) ซึ่งลมที่แรงมากๆ(Jet blast)ขนาดนั้น ก็จะเป่าทุกสิ่งทุกอย่างให้ลอยตลบอบอวน ปลิวว่อนไปหมด ตัวอาคารอาจจะได้รับความเสียหาย สิ่งของก็จะปลิวไปมาจนเป็นอันตราย คนที่อยู่บริเวณนั้นอาจจะได้รับบาดเจ็บ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตเลย! ยังไม่นับถึงความเป็นไปได้ที่สิ่งของจะปลิวว่อนเข้าไปในตัวเครื่องยนต์จนเกิดความเสียหาย (หรืออาจจะถึงขั้นไฟติดตัวเครื่องยนต์ก็เป็นได้) เพราะฉะนั้นการถอยเองโดยใช้เครื่องยนต์ของเครื่องบินจึงเป็นวิธีที่ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งครับ
และพระเอกที่มาช่วยถอยเครื่องบินแทนก็คือเจ้ารถคันจิ๋วแต่แจ๋วคันนี้นี่เอง
เจ้าหน้าที่ภาคพื้นกำลังขับรถ Tug Photo:blog.adbsafegate.com
กระบวนการที่ใช้รถมา"ดัน"(Push) เครื่องบินให้"ถอยหลัง"(back) เรียกว่า Pushback ครับ โดยรถที่ใช้ Pushback นั้นเราจะเรียกว่า Tugs หรือ Pushback tractors โดยจะมีพนักงานภาคพื้นเป็นคนคอยขับให้อยู่ครับ
Tug นอกจากจะใช้ Pushback แล้วยังสามารถใช้ลาก(Tow) เครื่องบินให้เข้าหลุมจอดได้อย่างปลอดภัยด้วยครับ
เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุผิดพลาดอะไร การเรียกพนักงานภาคพื้นให้มาลากจูงเครื่องบิน จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่จำเป็นด้วยครับ
อย่าลืมกดติดตามเพจ บินเลี่ยน เพจแบ่งปันความรู้ด้านการบินแบบย่อยง่ายนะครับ
โฆษณา