12 มี.ค. 2021 เวลา 11:32 • ธุรกิจ
สรุปจาก ธุรกิจเล็กปรับตัวอย่างไร หลังโควิด by สภาชานม x RentSpree
====================
สรุป:
1. ธุรกิจเล็กต้องรักษาความเล็ก ความเร็ว ต้องมีความสามารถในการปรับตัว อย่าไปยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ที่เราทำมาในเหตุการณ์ต่างๆ มันมีโอกาสของมันอยู่ แต่เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยน
2. อย่าไปผูกตัวเองอยู่กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือสินค้าใดสินค้าหนึ่ง โลกมันเปลี่ยนไปเร็วเราจะต้อง diversify และหาเงินให้เข้ามาจากหลายๆ ช่องทาง
====================
[คุณต้อง]
- วันนี้จะมาชวนคุยกันเรื่องธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวอย่างไรหลังโควิด โดยมีกรณีศึกษาของ startup ที่ชื่อว่า RentSpree เป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีทีมอยู่เมืองไทย แต่ไปทำธุรกิจที่อเมริกาน่าสนใจมาก เดี๋ยวเราจะมาเรียนรู้กันว่าเขามีวิธีเอาตัวรอดได้อย่างไรในช่วงที่ผ่านมา
- ตอนนี้ถ้าเราจะพูดถึงผลกระทบจากโควิด เราอาจจะต้องมองไปไกลๆ พอสมควร ต้องเปลี่ยนวิธีการคิดกันใหม่หมด
[คุณรวิศ]
- ภาพการฟื้นตัวของโควิด มันค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะเป็นในรูปแบบ K-Shaped Recovery (ให้นึกถึงตัว K ที่จะมีเส้นทะแยงขาบน และอีกเส้นทะแยงขาล่าง) หมายถึง บางธุรกิจจะไปได้ดีมาก กลับมาฟื้นตัวเร็ว แต่บางธุรกิจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับจะแย่ลงไปเรื่อยๆ บางอันต้องเปลี่ยนธุรกิจไปเลย
- พอผลวิเคราะห์ออกมาเป็นแบบนี้แล้วเนี่ย ภาครัฐก็จะมีหน้าที่ ที่ต้องคอยประเมินให้ดีว่าจะมีมาตรการจัดการกับธุรกิจที่เป็นขาล่างที่ดิ่งลงอย่างไร แต่เข้าใจว่าเงินของรัฐบาลก็มีจำกัดและการที่จะเอามาอุดหนุนธุรกิจเหมือนเดิมแล้วหวังว่าภาพมันจะกลับไปเป็นเหมือนปี 2019 คงเป็นไปได้ยาก
- มีบทวิเคราะห์ของ ดร.ศุภวุฒิ ในกรุงเทพธุรกิจว่าในประเทศไทยมี output gap หรือส่วนต่างระหว่างผลผลิตมวลรวมจริง (GDP) เทียบสิ่งที่เราควรจะได้ กับสิ่งที่เป็น ตอนนี้เท่ากับ 10 กว่าๆ มาจาก +4 คือสิ่งที่เราควรจะได้ กับ +6.1 คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมันจะเป็นหลัก 10 ไปอีกหลายปี อย่างน้อย 3 ปี
- ในขณะที่อเมริกาเขาโดนโควิดเหมือนกัน และมีผลกระทบรุนแรงกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เขาปิดช่องว่างตรงนี้ได้เร็วกว่าเราเยอะ เป็นเพราะเขาใช้เงินอัดฉีดในทางที่ถูกจุด ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจต้องการนโยบายการช่วยเหลือจากรัฐอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีสภาพคล่องที่แย่มากในตอนนี้
1. ธุรกิจอะไรบ้างที่อยู่ใน K ขาล่างและขาบน
[คุณรวิศ]
- ที่เป็น K ขาลงเลยคือ ธุรกิจประเภทการบิน ต้องบอกก่อนว่าธุรกิจนี้มันลากโยงเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ยกตัวอย่างรีพอร์ตจาก McKinsey ที่ออกมาบอกว่า หลังจากนี้ นักธุรกิจที่จะต้องเดินทางเชิงธุรกิจในรูปแบบของการไปประชุม conference หรือการไปหาลูกค้าต่างๆ จะหายไปถาวร 25% โดยเฉพาะฝั่งภายในบริษัทเอง
- เทียบง่ายๆ คือในปี 2019 มีคนเดินทางมาในประเทศไทย 40 ล้านคน คิดเป็นคนเดินทางเชิงธุรกิจประมาณ 5% ซึ่งฟังดูอาจจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่เยอะ แต่คนที่เดินทางทางธุรกิจ เขาใช้เงินต่อคนต่อวันเยอะมาก เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะเลือกซื้อตั๋วราคาแพงอย่าง business class ที่สามารถเลื่อนวันเดินทางได้ โรงแรมก็เลือกที่มีราคาแพงประมาณหนึ่ง การเดินทางก็มักจะเป็นรถแท๊กซี่ที่สะดวกมากกว่า คือรวมๆ แล้วมูลค่าเงินที่จ่ายออกไป จะสูงกว่ากว่าเดินทางแบบอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งตรงนี้จะหายไป
- ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีธุรกิจอยู่ใน K ขาบนที่เป็นเศษฐกิจกระแสใหม่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นอยู่เพียง 3% จาก 700 บริษัท และบริษัทเหล่านั้นยังไม่ติด 10 อันดับสูงสุดเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนี้เป็นความท้าทายของประเทศไทยต่อจากนี้
- ยกตัวอย่างเทรนด์ของ Electronic Vehicle (EV) ที่ทั้งโลกมีเทรนด์ที่ไปในทิศทางนี้แน่นอนชนิดที่ว่าบางประเทศ เริ่มมีการแบนการใช้รถยนต์ที่ใช้นำ้มันกันแล้ว ล่าสุดคือ สิงค์โปรที่ออกมาห้ามใช้รถยนต์ดีเซลภายในปี 2025 ในขณะที่บ้านเราแทบจะยังไม่ขยับเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เรามีโรงงานผลิตรถยนต์ที่เกือบจะใหญ่ที่สุดในโลก และถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตไม่ทัน เราแพ้เวียดนามแน่นอน
[คุณต้อง]
- ในขณะที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน มันก็จะมีเจ้าของธุรกิจอยู่ 2 ประเภท คือคนที่กลัวอยู่ไม่รู้จะทำอะไร กับคนที่รู้แล้วว่าต้องทำอะไรและตัดสินใจว่าต้องเปลี่ยนอะไรซักอย่าง คือมันเป็นทัศนคติของคนที่โดนบังคับให้เปลี่ยน แล้วถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ บางทีอาจจะเสียโอกาสบางอย่างไป
[คุณรวิศ]
- ขอเสริมที่มีนักข่าวพึ่งไปสัมภาษณ์ Tony Fernandes, CEO ของ AirAsia ซึ่งเขาเล่าว่าการมีโควิดทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาคิดว่าควรจะทำไปตั้งนานแล้ว เขาได้มองธุรกิจของเขาใหม่ ยกตัวอย่าง loyalty program ของ AirAsia ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน South East Asia มีฐานลูกค้าถึง 60 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสใหญ่มากในการกระโดดมาทำธุรกิจใหม่อย่าง E-commerce และ Fintech
2. อะไรเป็นเหตุผลที่จะต้องทำธุรกิจให้หลากหลาย
[คุณรวิศ]
- เราเห็นแล้วว่า การที่ถูกกระทบแบบไม่ทันตั้งตัว อย่างที่เราขายเครื่องสำอางค์อยู่ดีๆ แล้วห้างปิดคือจบเลย ยอดเราหายทันที ดังนั้นเลยคิดไว้แล้วว่าในอนาคตมันจะต้องมีแบบนี้อีกแน่ เลยมานั่งคิดวิธีการหาเงินให้มันหลากหลาย
- แต่ว่าต้องคิดดูด้วยว่า มันจะทำให้เราเสียจุดยืนรึเปล่า ยกตัวอย่างทุกวันนี้ ไปที่ไหนก็มีแต่คนพูดถึงกัญชง กัญชา เราก็ต้องมาคิดว่าถ้าเราจะเริ่มธุรกิจนี้เราควรทำไหม ถ้าเอาคนของเราลงไปทำมันจะคุ้มมั้ย
[คุณเอ๋]
- มีคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทุกวันนี้ถ้าจะสร้างธุรกิจขึ้นมาสักหนึ่งอัน อายุมันอาจจะสั้นมาก หรืออาจจะประสบความสำเร็จเลยใน 2-3 ปี แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีคู่แข่งเข้ามา โลกอาจจะเปลี่ยน ความต้องการของลูกค้า อาจจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ก็เหมือนกับความสำเร็จอันนั้น มันเลยดูสั้นลงไปด้วยเหมือนกัน
- มันคือสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคน ทั้งเจ้าของธุรกิจเอง หรือพนักงานประจำเอง ก็พยายามจะแตกตัวเองออก เพื่อให้มันมีธุรกิจหรือทักษะอะไรที่หลากหลายมากขึ้น
3. ธุรกิจเล็กควรปรับตัวอย่างไร
[คุณต้อง]
- ธุรกิจเล็กต้องรักษาความเล็ก ความเร็ว ต้องมีความสามารถในการปรับตัว
- การปรับตัวที่ดีคือ ควรต้องมีความสามารถในการปรับตัว ถ้าคิดว่าจะทำอย่างหนึ่งไปนานๆ อาจจะไม่ได้แล้วหลังจากนี้
- ควรทำให้องค์กรเล็กลง และ lean มีการจัดการระบบภายในให้เร็วยิ่งขึ้น มองถึงโอกาสใหม่ๆ ที่ light weight คือไม่ต้องไปลงทุนเยอะๆ ในยุคนี้ลงเงินหนักๆ ต้องคิดให้ดีเลย
[คุณเอ๋]
- ไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องปรับตัว แต่องค์กรใหญ่ๆ เขาก็ปรับตัวให้มีธรรมชาติคล้ายธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คล่องตัวและมีข้อได้เปรียบแบบเดิมอยู่ พนักงานถูกกดดันให้ยืดหยุ่นขึ้น สลับหน้าที่กันมากขึ้น
ในธุรกิจเดิมที่เขาทำอยู่ เขาอาจจะออกสินค้าใหม่ที่มันทำให้เราประหลาดใจมากๆ เช่น ขายอาหารมาตลอดชีวิตแล้วอยู่ดีๆ มาขายเครื่องออกกำลังกาย ต่อไปนี้มันจะไม่มีธุรกิจที่เป็น core อีกแล้ว มีแต่อะไรที่เป็นโอกาสแล้วต้องรีบทำ ซึ่งคนตัวเล็กก็จะเจอคนพวกนี้เข้ามาแข่งอีกทาง
====================
บทสัมภาษณ์ คุณไปป์ Managing Director บริษัท RentSpree
====================
1. จุดเริ่มต้นของ RentSpree เป็นมาอย่างไร
- RentSpree เป็น property tech startup ที่ทำธุรกิจอยู่ที่อเมริกาโดยมี co-founder เป็นคนไทย เรามีทีมเซลล์อยู่ที่นั่น แต่ทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่นอยู่ที่เมืองไทย แอป RentSpree จะช่วยบริหารจัดการ การปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว เพื่อให้นายหน้า เจ้าของบ้าน ผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ และผู้เช่าสามารถดำเนินการเช่า หรือปล่อยเช่าได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ให้พวกเขาจัดการขั้นตอนทั้งหมดบนแอปของเราได้ ทำให้เขาปล่อยบ้านเช่าได้เยอะขึ้นในเวลาเท่าเดิม
- ที่อเมริกาเวลาจะเช่าบ้าน จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างจะซับซ้อน เวลาเป็นเจ้าของบ้านหรือนายหน้าที่มีบ้านในมือหลายๆ หลัง และต้องการจะปล่อยเช่า จะมีขั้นตอนหลายขั้นมาก ไม่สะดวกสบายเหมือนบ้านเรา
- Co-founder ของเราก็ได้เจอกับปัญหานี้โดยตรง ตอนที่ไปเรียนโท ที่อเมริกา และต้องหาบ้านเช่า มันจะมีขั้นตอนนึงที่เขาจะขอข้อมูล credit score ของผู้เช่า เพื่อประเมินดูประวัติการเงินของคนนั้นๆ ว่ามีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าไหม มีประวัติอาชญากรรม หรือเคยถูกไล่ออกจากบ้านเช่าบ้างรึเปล่า หลังจากนั้นก็ต้องกรอกเอกสาร ต้องรอนานมาก และต้องเสียค่าธรรมเนียมเยอะมาก co-founder ของเราเลยลองเอาปัญหานี้ไปถามในกลุ่มเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันว่า เจอปัญหาแบบเดียวกับเขามั้ย แล้วก็พบว่าทุกคนก็เจอปัญหาเหมือนกันเลย เวลาจะเช่าบ้าน เราเห็นถึงปัญหาในขั้นตอนตรงนี้เลยทำให้เราพัฒนาแอป RentSpree ขึ้นมา
2. ช่วงโควิดได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
- ช่วงแรกยอดตกลงไปอย่างน่ากลัว สาเหตุเป็นเพราะว่านายหน้าหรือเจ้าของบ้าน ไม่สามารถพาผู้เช่าไปดูบ้านได้ แต่พอผ่านไปประมาณสองเดือนก็เข้าสู่สถานการณ์ปกติ
- ตอนนั้นสิ่งที่เราทำคือ เราปรับกลยุทธ์ใหม่ เก็บเงินไว้ให้มากที่สุด เพื่อรองรับกับความผันผวนของตัวตลาดที่จะเข้ามาในอนาคต
- ชะลอแผนการขยายทีมออกไปก่อน จากเดิมที่อยากจะขยาย 100 คนในปี 2020 ก็ลดลง 50%
- วางแผนเปลี่ยนโมเดลการคำนวณรายได้ใหม่โดยเพิ่มปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของโควิดเข้าไปด้วย และลองตั้งสถานการณ์ให้ออกมาหลายๆ senario เพื่อวางแผนในทุกรูปแบบ
3. กว่าจะมาเป็น RentSpree และหาทุนได้ ผ่านอะไรมาบ้าง
- การหาทุนก้อนแรกลำบากที่สุด เราจะต้องเอาไอเดียของเรามาสร้าง prototype เท่าที่เราสร้างได้ แล้วก็เอาแผนไอเดียนี้ไป pitch กับนักลงทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อจะหาคนที่มีความเชื่อในสิ่งเดียวกันกับเราและยอมให้เงินก้อนแรกมา
- ต่อไปก็ตามหาทีมกลุ่มแรก ที่จะมาช่วยกันสร้างไอเดียของเรา เพื่อที่จะมาทำสิ่งที่เรียกว่า MVP (Minimum Viable Product) ให้ออกมาได้เร็วที่สุด และเอามาประเมินตลาด ซึ่งเวอร์ชั่นแรก ควรใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการพัฒนา แล้วเอาออกมาให้ user ลองใช้ดู หลังจากนั้นเอา feedback มาปรับไปเรื่อยๆ ตามที่เราได้เรียนรู้มาจากการทำขั้นตอนทั้งหมด
- การทำให้นักลงทุนเชื่อในไอเดียของเรา ในช่วงแรกจะยากมาก เพราะเรายังไม่ได้มี product อะไรออกมาจริงๆ เป็นแค่ไอเดียบนกระดาษ ดังนั้นการที่จะทำให้เขามาสนใจลงทุนเขาจะต้องเชื่อก่อนว่า co-founder และทีมของเรามีความสามารถมากพอที่จะทำสิ่งนี้ออกมาให้ได้
- เขาจะดูจากประสบการณ์ของ co-founder ว่ามีประวัติการทำธุรกิจมาก่อนไหม มีประวัติการทำงานที่ไหนมาบ้าง ดูว่าเคยทำ startup มาก่อนรึเปล่า และทำมาจนถึง series อะไร หรือเคยมีประวัติการขายบริษัทให้ใครบ้างรึเปล่า
- ส่วนของตัว RentSpree เอง เราก็ไม่ได้มีประวัติการทำ startup มาก่อน เราเลยต้องเน้นการพูดคุย และใช้เวลาร่วมกันกับนักลงทุน นัดเจอ นัดคุย เพื่อให้เขาศึกษาเราเพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จะดูเราได้จากตรงนั้น อย่างประวัติของผมคือ จบมาจากจุฬาฯ แล้วก้เข้าไปทำงานเป็น marketing executive ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดูแลแอป streaming ที่ใช้สำหรับการลงทุน ทำได้ 1 ปี ก็ออกมาเปิดบริษัท software house ที่รับพัฒนาเว็บและแอปพลิเคชั่น หลังจากนั้น 3 ปีก็ตัดสินใจแยกบริษัท RentSpree ออกมาเป็นอีกบริษัทนึง
- ตอนระดมทุนรอบ seed เราได้เงินมา $2.3 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 70 ล้านบาท โดยมันก็มาพร้อมความท้าทาย เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าจะโตปีละ 2-3 เท่า ทุกๆ ปี และก็มีแผนขยายทีมให้โตทันกับฟีเจอร์ที่จะปล่อยออกไป ซึ่งเรื่องคนก็เป็นอะไรที่ท้าทายมากในระดับนึงเลย
4. นักลงทุนคาดหวังอะไร
- หลังจากที่เขาลงทุนแล้ว เขาก็จะต้องทำยังไงก็ได้ให้บริษัทมันเติบโต เพื่อที่จะ exit ในอนาคต เพราะฉะนั้นเขาก็จะดูว่า เราจะเอาเงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง แล้วเขาจะมีความคาดหวังว่า เขาต้องการที่จะให้บริษัทเราเติบโตไปกี่เท่า ในระยะเวลาที่กำหนด เราเลยต้องคอยทำแผนการใช้เงินเพื่ออัพเดทนักลงทุนตลอด
5. พอทีมใหญ่ขึ้นแล้วมีความกังวลอะไรไหม
- กังวลเรื่อง culture breakdown ถ้าทีมใหญ่ขึ้น เราจะคุยกับทีมตลอดว่า ถึงทีมเราจะขยายอย่างรวดเร็ว แต่เราก็ต้องรักษา culture ของเราเอาไว้ให้ได้
- Culture ของ RentSpree คือเราจะใกล้ชิดกันมาก เวลาทำงานจะพยายามให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับเป้าหมาย ให้ทุกคนเห็นเป้าตรงกัน ให้ทุกคนรู้และเข้าใจว่า ‘ทำไม’ ต้องทำสิ่งนี้ หลังจากนั้นก็ปล่อยเป็นอิสระเลย ให้แต่ละคนจัดการตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เรารักษาความเร็วในการผลิตตัวผลงานของเราออกมาได้
- ตอนนี้มีพนักงานที่ไทย 50 คน ที่อเมริกา 20 คน คือเราทำงานที่ไทย แต่ธุรกิจเราอยู่ที่อเมริกา อุปสรรคใหญ่ๆ ที่เจอเลยคือ การที่ตัวทีมพัฒนาแอปอยู่ไกลกับผู้ใช้งาน ทำให้ยากที่เราจะเข้าใจความต้องการของเขา และเรื่องการสื่อสารเพราะเนื่องจาก time zone ที่ต่างกัน ทำให้บางทีอาจจะเกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกัน สิ่งที่เราทำก็คือพยายามวางระบบให้ทั้งสองทีมทำงานได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องคอยคุยกันเยอะมาก วางเป้าหมายให้ทั้งสองทีมแยกกันอย่างชัดเจน
- ข้อได้เปรียบเลย ที่เรามาสร้างทีมที่ไทยคือต้นทุนที่ถูกกว่ามากๆ และเราเชื่อว่าวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่เป็นคนไทยก็สามารถสร้างของระดับโลกได้ ในราคาที่ถูกกว่า การจ้างวิศวกรคอมพิวเตอร์ระดับ junior ในอเมริกา 1 คน ถ้าเทียบกับที่ไทยเราสามารถจ้างคนที่ตำแหน่งสูงกว่าได้ 2-3 คนเลย
6. ใกล้ชิดลูกค้ายังไงในเมื่ออยู่ห่างกันขนาดนี้
- เราใช้วิธีการที่ให้ทีม customer support ที่อยู่ที่อเมริกาสัมภาษณ์ลูกค้า แล้วให้เขาอัดวีดีโอมาให้เราฟัง และเนื่องจากบริษัทเรามีเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น ดังนั้นถ้ามีเวลาเราจะให้ทีมจัดสัมภาษณ์เองเลย อาจจะต้องอยู่ดึกถึงเที่ยงคืน ตี 1 หรือตื่นเช้ามากๆ เพื่อมาจัดสัมภาษณ์แบบออนไลน์ แต่วิธีนี้ก็จะทำให้เราใกล้ชิดลูกค้ามากยิ่งขึ้น
- เพราะเราให้ความสำคัญเรื่อง customer support มากๆ ทีมที่อเมริกาจะคอยรับสายและรับ feedback จากลูกค้ามาวิเคราะห์และก็ปรับเรื่อยๆ
7. ถ้าคนไทยอยากทำธุรกิจ startup ที่อเมริกาคิดว่ายังมีโอกาสไหม
- สำคัญคือเราต้องไปอยู่ที่นั่น แต่ไม่ต้องไปเองก็ได้ ให้พาร์ทเนอร์ที่ไว้ใจได้ไปอยู่แทนเรา และสร้างธุรกิจร่วมกัน เราต้องเชื่อใจเขา และเขาก็ต้องเชื่อใจเราได้ด้วย แต่มองว่ายังไงก็ต้องไปอยู่เอง เพราะคนอเมริกันมีความเป็นชาตินิยมค่อนข้างสูง เราก็เลยต้องมี CEO ที่เป็นคนอเมริกันไว้เพื่อคุยกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ ที่นั่น
8. องค์กรในเมืองไทยควรจะเรียนรู้อะไรจาก startup ได้บ้าง
- องค์กรใหญ่ๆ จะมีฟังก์ชั่นของทีมแต่ละทีมที่ตายตัว ทำให้การทำงานค่อนข้างแยกกันพอสมควร แต่ละคนจะเก่งในแต่ละเรื่องไปเลย ของ RentSpree เราจะมีทีมที่เป็น cross functional คือมีคนที่ถนัดหลากหลาย มาอยู่ในทีมเดียวกัน แล้วให้ทีมนั้นๆ มีสิทธิ์ตัดสินใจในการบริหารธุรกิจที่รับผิดชอบของตัวเองได้ ธุรกิจในที่นี้อาจจะเป็น product ในบาง domain หรือบางส่วนของแอป ทำให้เขามีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้เราออก product ออกไปได้เร็วขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีคนที่ทำงานร่วมกัน มีหลายๆ มุมมองมากขึ้น
9. ถ้ามีคู่แข่งเข้ามา คิดว่าอะไรจะทำให้เรายังประสบความสำเร็จอยู่
- คู่แข่งมาเรื่อยๆ แต่หน้าที่ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้ของของเราออกตลาดได้เร็วที่สุด และมีคุณภาพดีที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ Google ออกมาใหม่ๆ ตอนนั้นตลาดก็มี search engine อยู่ในตลาดมากมายอยู่แล้ว หรือตอนที่ Paypal เกิด มันก็มี payment gateway อยู่ในตลาดเต็มไปหมด แต่เขาก็สามารถเติบโต จนคนอื่นๆในตลาดไม่สามารถตามทันได้
10. สุดท้ายคิดว่าบริษัทเล็กที่โดนผลกระทบจากโควิด ควรจะปรับตัวอย่างไร อยากให้ช่วยแนะนำคนอื่นๆ
- อยากแนะนำเรื่องการ pivot คืออย่าไปยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ที่เราทำมา ในเหตุการณ์ต่างๆ มันมีโอกาสของมันอยู่ แต่เราต้องกล้าที่จะปรับตัว ต้องหาความรู้ ศึกษาตลาด ศึกษาลูกค้า ศึกษาเทรนด์ เชื่อว่าทุกคนจะผ่านไปได้
.
- หลังโควิดคิดว่าควรจะต้องปรับธุรกิจให้หลากหลายขึ้น อย่าไปผูกตัวเองอยู่กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือสินค้าใดสินค้าหนึ่ง โลกมันเปลี่ยนไปเร็วเราจะต้องทำให้มีเงินเข้ามาจากหลายๆ ช่องทาง
====================
Q&A
====================
Q1: ถ้าเรายังไม่มีรายได้ มีแค่ไอเดีย จะขอเงินนักลงทุนอย่างไร
- เหตุผลที่นักลงทุนส่วนใหญ่เขาถามเรื่องรายได้ เพราะเขาอยากจะรู้ว่าเรามีการทำการบ้านเรื่องแผนการทำธุรกิจ แผนการสร้างยอดขายอย่างไร เราต้องพยายามคิดโมเดลธุรกิจให้ได้ว่าเราจะหาเงินกับไอเดียของเราได้อย่างไรบ้าง
- หามูลค่า market size ให้ได้ แล้วเอาตัวเลขมาคำนวณให้เห็นภาพว่า ในธุรกิจของเรา ถ้าเราสามารถ capture ส่วนแบ่งตลาด ได้ตามที่เราคาดหวังมันจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่
- ต้องทำการบ้านในการวิเคราะห์ตลาดและโมเดลธุรกิจออกมาเป็นตัวเลขให้ได้ เพื่อที่จะไปตอบคำถามของนักลงทุน
[คุณต้อง]
- ขอเสริมว่าบาง startup ก็ยังไม่มีรายได้ แล้วถ้ายังไม่มีรายได้ นักลงทุนก็จะมองว่า แล้วมันมีคนใช้อยู่รึเปล่า แล้วคนใช้งานเป็นอย่างไร ชอบ product ของเราไหม ซึ่งการมีรายได้มันจะจับต้องได้ แต่มันก็ยังมีส่วนอื่นๆ ที่เขาดูเพื่อประกอบการลงทุนด้วย เช่น ที่ผมยกตัวอย่างมาก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญ
Q2: อยากถามเรื่องแผน go to market ของ RentSpree
- เราเคย pivot ธุรกิจมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อก่อนเราเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมา list ปล่อยบ้านเช่า แต่เราไม่สามารถสู้คู่แข่งได้ เพราะเงินลงทุนเรามีไม่พอ เราเลยเปลี่ยนมาเน้นเรื่อง tool ที่ใช้งานหลังบ้านแทน เน้นเซอร์วิสที่เป็นการจัดการหลังจากผู้ใช้งานเลือกบ้านเช่าได้แล้ว
-คนที่เป็นนายหน้าปล่อยบ้านเช่าที่อเมริกาเขาจะต้องเสียเงิน subscription ให้กับสมาคมอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วทุกปี ซึ่งเราก็ใช้วิธีการเข้าไปหาสมาคมเหล่านี้เพื่อเสนอแพลตฟอร์มของเราให้กับนายหน้าบริษัทหาบ้านเช่าต่างๆ ในสมาคมนั้นๆ
- เป็นการตลาดแบบ B2B2C คือพยายามเข้าไปดีลกับบริษัทอื่น เพื่อทำ partnership แล้วทำโมเดลแบ่งยอดขายกัน แล้วให้เขาเอาแพลตฟอร์มของเราไปทำการตลาด ให้กับผู้ใช้งานที่อยู่ในธุรกิจของเขาอีกต่อหนึ่ง
- ในแต่ละรัฐก็จะมีประมาณ 30-40 สมาคม เราก็เดินเข้าไปเสนอแบบตรงๆ เลย บางทีก็ cold call เข้าไป แต่เราต้องเน้นปิดเจ้าใหญ่ให้ได้ก่อน และที่สำคัญต้องหา key decision maker ให้เจอเพื่อปิดดีล
Q3: การที่แต่ละรัฐในอเมริกา มีกฏหมายต่างกัน เป็นอุปสรรคกับ RentSpree ไหม
- เป็นอุปสรรคของทางฝั่งทีมพัฒนา product คือทำไงก็ได้ให้ product ที่เราพัฒนาขึ้นมา สามารถปรับตั้งค่า ให้สอดคล้องกับกฏหมายของแต่ละรัฐให้ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็มีครอบคลุมอยู่แล้ว 3 รัฐ คือแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และฟลอริด้า
- โมเดลของเราเป็น transaction based ซึ่งก็คือ ทุกครั้งที่ผู้เช่ามีการทำสัญญาเช่ากับนายหน้า เราจะได้เงินส่วนแบ่ง แต่ว่าบางรัฐเขาก็จะออกกฎว่าจะต้องมีเพดานการเก็บเงินที่จำกัดอยู่ ทำให้เราจะต้องปรับตามกฎหมายพวกนั้น และแต่ละรัฐเราก็จะได้ส่วนแบ่ง ที่ไม่เท่ากันด้วย
Q4: ในตลาดอเมริกามีคู่แข่งเยอะไหม ทำอย่างไร สู้อย่างไร
- มีคู่แข่งเยอะมาก แต่จุดต่างของเราเลยคือ customer support เพราะเราพยายามที่จะตอบโต้กับลูกค้าในทันที ที่เขาเจอปัญหา เราเลยจะได้รีวิวจากลูกค้าที่ดีมากในมุมนี้
- เราพยายามทำ SEO เยอะมาก คือเน้นการสร้างคอนเท้นต์ที่มีคุณภาพ มีการวางเสาหลักของคอนเท้นต์เอาไว้ก่อน หลังจากนั้นก็พยายามสร้างคอนเทนต์ให้มาเกาะอยู่ในสิ่งที่เราวางไว้แล้ว เพื่อที่เราจะได้ไม่หลุดโฟกัส
====================
Date: 10 MAR 2021 (20:00-21:30)
Speaker:
@kaweewut Kaweewut Tong Temphuwapat (8 บรรทัดครึ่ง)
@rawit Rawit Hanutsaha (Mission To The Moon)
@roundfinger Sarawut Hengsawad (Roundfinger) The Curator
@suppanathuss Suppanat Hussarangsri (RentSpree Thailand, RentSpree)
#Clubhouse #ClubhouseTH #ClubhouseThailand
#RentSpree #ThaiStartup #StartupThailand #USAStartup #สภาชานม #TheCurator #eightandahalfsentences #missiontothemoon #roundfinger #todayinotetotext #todayinoteto #วันนี้สรุปมา
โฆษณา