ทุกขวรรคที่ ๖
๑. ปริวีมังสนสูตร
[๑๘๘] ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า !
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย !
ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ? ภิกษุเมื่อพิจารณา พึงพิจารณาเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า ! ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่ตั้ง มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ได้โปรดเถิดพระพุทธเจ้าข้า
ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณาย่อมพิจารณาว่า ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในโลก
ทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิดหนอแล ?
เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ; ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า
ทุกข์คือชราและมรณะมีประการต่างๆ มากมาย เกิดขึ้นในโลก !
ทุกข์นี้แลมีชาติเป็นเหตุ ,
มีชาติเป็นสมุทัย ,
มีชาติเป็นกำเนิด ,
มีชาติเป็นแดนเกิด ,
เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี ;
เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชราและมรณะ ,
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดชราและมรณะ ,
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชราและมรณะ ,
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ ,
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ;
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ;
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เราเรียกว่า
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชราและมรณะ ฯ
[๑๙๐] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็ชาตินี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นพิจารณาอยู่่ ย่อมรู้ประจักษ์ว่า
ชาติมีภพเป็นเหตุ ,
มีภพเป็นสมุทัย ,
มีภพเป็นกำเนิด ,
มีภพเป็นแดนเกิด,
เมื่อภพมี ชาติจึงมี ;
เมื่อภพไม่มี ชาติจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ชาติ ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งชาติ ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งชาติ ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งชาติ ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ,
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ,
ภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง เพื่อความดับแห่งชาติ ฯ
[๑๙๑] อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็ภพนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี ภพจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า
ภพมีอุปาทานเป็นเหตุ ;
มีอุปาทานเป็นสมุทัย ;
มีอุปาทานเป็นกำเนิด ;
มีอุปาทานเป็นแดนเกิด ;
เมื่ออุปาทานมี ภพจึงมี ;
เมื่ออุปาทานไม่มี ภพจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ภพ,
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งภพ,
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งภพ,
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งภพ,
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ;
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ;
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งภพ.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็อุปาทานนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า อุปาทานมีตัณหาเป็นเหตุ ;
มีตัณหาเป็นสมุทัย ;
มีตัณหาเป็นกำเนิด ;
มีตัณหาเป็นแดนเกิด ;
เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี ;
เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์อุปาทาน,
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งอุปาทาน,
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งอุปาทาน,
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน,
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ;
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ;
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งอุปาทาน.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ ;
มีเวทนาเป็นสมุทัย ;
มีเวทนาเป็นกำเนิด ;
มีเวทนาเป็นแดนเกิด ;
เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี ,
เมื่อเวทนาไม่มีตัณหาจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ตัณหา ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งตัณหา ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งตัณหา ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งตัณหา ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ,
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร ,
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งตัณหา.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็เวทนานี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ ;
มีผัสสะเป็นสมุทัย ;
มีผัสสะเป็นกำเนิด ;
มีผัสสะเป็นแดนเกิด ;
เมื่อผัสสะมี เวทนาจึงมี ,
เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์เวทนา ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งเวทนา ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งเวทนา ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งเวทนา.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็ผัสสะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ ;
มีสฬายตนะเป็นสมุทัย ;
มีสฬายตนะเป็นกำเนิด ;
มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ;
เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะจึงมี ,
เมื่อสฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์ผัสสะ,
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งผัสสะ,
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งผัสสะ,
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งผัสสะ,
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งผัสสะ.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า สฬายตนะมีนามรูปเป็นเหตุ ;
มีนามรูปเป็นสมุทัย ;
มีนามรูปเป็นกำเนิด ;
มีนามรูปเป็นแดนเกิด ;
เมื่อนามรูปมี สฬายตนะจึงมี ,
เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สฬายตนะ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสฬายตนะ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสฬายตนะ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสฬายตนะ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งสฬายตนะ.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็นามรูปนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า นามรูปมีวิญญาณเป็นเหตุ ;
มีวิญญาณเป็นสมุทัย ;
มีวิญาณเป็นกำเนิด ;
มีวิญญาณเป็นแดนเกิด ;
เมื่อวิญญาณมี นามรูปจึงมี ,
เมื่อวิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์นามรูป ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งนามรูป ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งนามรูป ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งนามรูป ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งนามรูป.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็วิญญาณนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า วิญญาณมีสังขารเป็นเหตุ ;
มีสังขารเป็นสมุทัย ;
มีสังขารเป็นกำเนิด ;
มีสังขารเป็นแดนเกิด ;
เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี ,
เมื่อสังขารไม่มี วิญญาณจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์วิญญาณ ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งวิญญาณ ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งวิญญาณ.!
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาว่า
ก็สังขารนี้มีอะไรเป็นเหตุ ?
มีอะไรเป็นสมุทัย ?
มีอะไรเป็นกำเนิด ?
มีอะไรเป็นแดนเกิด ?
เมื่ออะไรมี สังขารจึงมี ;
เมื่ออะไรไม่มี สังขารจึงไม่มี ;
ภิกษุนั้น เมื่อพิจารณาย่อมรู้ประจักษ์ว่า สังขารมีอวิชชาเป็นเหตุ ;
มีอวิชชาเป็นสมุทัย ;
มีอวิชชาเป็นกำเนิด ;
มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ;
เมื่ออวิชชามี สังขารจึงมี ,
เมื่ออวิชชาไม่มี สังขารจึงไม่มี ,
ภิกษุนั้นย่อมรู้ประจักษ์สังขาร ;
ย่อมรู้ประจักษ์เหตุเกิดแห่งสังขาร ;
ย่อมรู้ประจักษ์ความดับแห่งสังขาร ;
ย่อมรู้ประจักษ์ปฏิปทาอันสมควรที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร ;
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นผู้ประพฤติธรรมอันสมควร
ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ โดยประการทั้งปวง
เพื่อความดับแห่งสังขาร.!
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลตกอยู่ในอวิชชา ถ้าสังขารที่เป็นบุญปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบุญ ,
ถ้าสังขารที่เป็นบาปปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงบาป ,
ถ้าสังขารที่เป็นอเนญชาปรุงแต่ง วิญญาณก็เข้าถึงอเนญชา ฯ
[๑๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว ; วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ;
ในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ;
ไม่ทำกรรมเป็นบาป ; ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา ;
เพราะสำรอกอวิชชาเสีย ;
เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น ;
เมื่อไม่ทำเมื่อไม่คิด ;
ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก;
เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว ;
เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ; ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ,
ก็รู้ชัดว่าสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง,
อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา,
อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา,
ถ้าเสวยทุกขเวทนา ,
ก็รู้ชัดว่าทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ,
อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา ,
อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ,
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ,
ก็รู้ชัดว่าอทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ,
อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา,
อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา,
ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนาก็วางใจเฉย เสวยไป ;
ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไป ;
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไป ;
ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย,
ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย,
เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ,
ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ,
รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้วจักเป็นของเย็น ;
สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฯ
[๑๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษยกหม้อที่ยังร้อนออกจากเตาเผาหม้อวางไว้ที่พื้นดิน อันเรียบ ไออุ่นที่หม้อนั้นพึงหายไป กระเบื้องหม้อยังเหลืออยู่ที่พื้นดินนั้นนั่นแหละ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย,
ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย;
เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต,
ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต;
รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหาไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น
สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้น เบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
[๑๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ?
ภิกษุผู้ขีณาสพพึงทำกรรมเป็นบุญบ้าง; ทำกรรมเป็นบาปบ้าง; ทำกรรมเป็นอเนญชา; บ้างหรือหนอ ฯ
ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังขารไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสังขารดับ วิญญาณพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิญญาณไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะวิญญาณดับ นามรูปพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะนามรูปดับ สฬายตนะพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสฬายตนะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะ พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับ เวทนาพึง ปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับ ตัณหาพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับ อุปาทาน พึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะอุปาทานดับ ภพพึง ปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะภพดับ ชาติพึงปรากฏหรือ หนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับ ชราและมรณะพึงปรากฏหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
[๑๙๕] ดีละๆ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสำคัญ จงเชื่อซึ่งข้อนั้นไว้อย่างนั้นเถิด !
พวกเธอจงน้อมใจไปสู่ข้อนั้นอย่างนั้นเถิด !
จงหมดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อนั้นเถิด! :- นั่นเป็น ที่สุดทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๑
พระไตรปิฎกไทย (ฉบับหลวง)
เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๘๐-๘๓ ข้อที่ ๑๘๘-๑๙๕
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
bn8185.