13 มี.ค. 2021 เวลา 03:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดาวหางเฮียกุตาเกะ(Hyakutake)
หากจะให้พูดถึงดาวหางที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่หลายๆคนรู้จัก เชื่อว่าจะต้องมีชื่อของดาวหางเอียกุตาเกะแน่นอน ถ้าจะถามแอดมินว่าเคยเห็นไหม ก็ต้องขอบอกว่าไม่เคยครับ เกิดไม่ทัน555 แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยเห็นไหม
เอาล่ะครับ เกริ่นกันมาพอสมควรแล้ว เรามาเริ่มเลยดีกว่าครับ Let’s go
ข้อมูลทั่วไปของดาวหาง
1.ประวัติการค้นพบ
 
ดาวหางเฮียกุตาเกะนั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/1996 B2 ซึ่งคำว่าเฮียกุตาเกะนั้นมีที่มาจากคุณ ยูจิ เฮียกุตาเกะ(Yuji Hyakutake) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบดาวหางดวงนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 โดยคุณเฮียกุตาเกะนั้นเป็นเพียงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นเท่านั้นซึ่งเขาได้ใช้กล้องขนาด 6 นิ้วในการค้นพบดาวหางเฮียกุตาเกะ แต่จริงๆแล้วนั้นคุณเฮียกุตาเกะนั้นค้นพบดาวหางอีกดวงก่อนหน้านี้อยู่หลายอาทิตย์ก่อนที่เขาจะค้นพบดางหางเฮียกุตาเกะ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/1995 Y1 คือในตอนที่เขากำลังส่องสังเกตการณ์ดาวหางดวงแรกอยู่นั้น อยู่ดีๆก็มีดาวหางเฮียกุตาเกะโผล่มาแบบงงๆ(ซึ่งตำแหน่งที่โผล่มา มีความใกล้เคียงกับตำแหน่งของดาวหางดวงแรกมาก) ซึ่งหลังจากที่เขาค้นพบดาวหางเฮียกุตาเกะนั้น เขาก็ได้รายงานการค้นพบนั้นแก่ National Astronomical Observatory of Japan หรือ NAOJ ในเช้าวันต่อมา โดยในตอนที่ค้นพบนั้นมีค่าความสว่าง 11.0 และหัวของดางหาง(Coma)มีขนาดปรากฏประมาณ 2.5 อาร์ควินาที และอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 2 AU
2.วงโคจรของดาวหาง
 
สำหรับคาบการโคจรของดาวหางเฮียกุตาเกะนั้นมีคาบประมาณ 17,000 ปี แต่เนื่องจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์แก๊สทำให้คาบการโคจรเปลี่ยนเป็น 70,000 ปี โดยเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2539 ในระยะ 0.12 AU และเข้าใกล้จุดใกล้ดวงอาทิตย์หรือจุด Perihelion ในระยะ 0.23 AU ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2539 โดยดาวหางเฮียกุตาเกะนั้นเริ่มเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2539 โดยในช่วงนั้นดาวหางมีค่าความส่องสว่าง 4 แล้วหางมีความยาว 5 องศา โดยดางหางนั้นมีสีฟ้าอมเขียว เมื่อเวลาผ่านไปถึงวันที่ 24 เดือนเดียวกัน หางก็ทอดยาวในท้องฟ้าถึง 35 องศา จากนั้น…ในวันต่อมา 25 มีนาคม เป็นวันที่ดาวหางใกล้โลกที่สุดโดยหางทอดยาวไปถึง 85 องศา และมีค่าความสว่างประมาณ 0 และหัวหรือโคม่าของดาวหางนั้น เมื่อโคจรปรากฏเข้าใกล้จุดเหนือหัวของคนที่สังเกตการณ์ในซีกโลกเหนือ หัวดาวหางนั้นมีขนาดปรากฏ 1.5 ถึง 2 องศา โดยดาวหางนั้นก็ได้เคยผ่านหน้ากล้องของยาน SOHO ด้วย(ไว้มีเวลาแอดมินจะมาขยายข้อมูลให้นะครับ)
เกร็ดความรู้
ดาวหางเฮียกุตาเกะนั้นเป็นดาวหางที่ถือว่าเป็นดาวหางที่มีหางยาวที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ โดยมีความยาวถึง 300,000,000 km
ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของดาวหางเฮียกุตาเกะ
ยานยูลิซิส(Ulysses)บินผ่านหางของดาวหาง
โดยยาน Ulysses เป็นภารกิจที่ในตอนแรกนั้นจะถูกส่งเพื่อไปสำรวจดวงอาทิตย์ในช่วงปี พ.ศ.2533 ถึง พ.ศ.2552 (อันนี้เป็นการเกริ่นนิดนึงนะครับ เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นถึงจุดประสงค์ของยานลำนี้) โดยยานลำนี้ได้บินผ่านหางของดางหางเฮียกุตาเกะในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2539 แต่กว่าที่ข้อมูลที่ยานได้รับและพบนั้นจะถูกเผยแพร่ก็ปาไป 2 ปีเลยทีเดียวนะครับ โดยนักดาราศาสตร์นั้นก็ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากยาน Ulyssesโดยอุปกรณ์บนยานนั้นสามารถตรวจจับโปรตอนขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ผ่านยานไปได้เช่นเดียวกับการตรวจจับได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางและความแรงของสนามแม่เหล็ก โดยก็พูดเป็นนัยๆได้ว่ายานได้บินผ่านร่องรอยของวัตถุที่คล้ายดาวหางมาก(ซึ่งความจริงก็คือดาวหางนั่นแหละครับ555)
โดยข้อมูลจากยาน Ulysses สรุปได้ว่าหางของดาวหางอาจมีความยาวได้ถึง 570 ล้านกิโลเมตร(ซึ่งข้อมูลอาจจะไม่ค่อยตรงกับช่วงเกร็ดน่ารู้นิดหน่อยนะครับ เพราะว่าอาจจะด้วยวิทยาการในอดีต ทำให้อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ รวมถึงข้อมูลจากหลายแหล่ง)
องค์ประกอบของดาวหาง
จากการสังเกตการณ์ภาคพื้นดินนั้น ทำให้ทราบว่ามีมีเทนและอีเทนอยู่ในดาวหางด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ค้นพบแก๊สแบบนี้ในดาวหาง โดยนักวิเคราะห์ทางเคมีนั้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงปริมาณของอีเทนและมีเทนบนดาวหางที่ค่อนข้างมีปริมาณเท่ากัน
การปล่อยรังสีเอกซ์(X-RAY Emission)
หนึ่งในสิ่งที่น่าประหลาดและอาจแตกต่างๆจากดาวหางดวงอื่นๆ ของดาวหางเฮียกุตาเกะคือ มีการปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาด้วย โดยใช้ดาวเทียม ROSAT ซึ่งก็ได้ตรวจพบการแผ่รังสีเอกซ์ออกมามาก ซึ่งมีการคาดไว้ว่าสาเหตุที่เกิดการปล่อยรังสีเอกซ์ออกมานั้น เกิดจาการรวมกันของกลไก 2 กลไก คือมาจากตัวดาวหางเองและลมสุริยะ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์นี้นี่เอง
ขนาดของนิวเคลียสและกิจกรรมของดาวหาง
ข้อมูลที่ได้จากหอดูดาวสังเกตการณ์อาเรซิโบ ทำให้ทราบว่าส่วนนิวเคลียสนั้นมีขนาดประมาณ 4.8 กิโลเมตร และล้อมรอบไปด้วยอนุภาคเล็กๆ โดยการคำนวณนี้มีความใกล้เคียงกับการประมาณโดยใช้รังสีอินฟราเรดและผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
ในส่วนของกิจกรรมของดาวหางเฮียกุตาเกะนั้น มีกิจกรรมเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของดาวหาง เพื่อให้มันมีความสว่างที่มันเป็นอยู่ ณ ตอนนั้น โดยมีการคำนวณมาว่าดาวหางเฮียกุตาเกะนั้นมีอัตราการผลิตฝุ่นอยู่ที่ 2*10^3 kg/s ในช่วงที่เข้าใกล้โลก(มีนาคม พ.ศ.2539 นั่นเอง) แล้วเมื่อมันเข้าใกล้จุดใกล้ดวงอาทิตย์(Perihelion) ก็มีอัตราการผลิตฝุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 3*10^4 kg/s โดยที่ความเร็วของฝุ่นที่แผ่พุ่งออกมานั้นเพิ่มขึ้น 50 m/s เป็น 500 m/s
จากการสังเกตการณ์สิ่งที่พุ่งออกมาจากดาวหางนั้น สามารถทราบได้อีกถึงคาบการหมุนของดาวหาง โดยเมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกนั้น นักดาราศาสตร์ก็ได้คำนวณคาบการหมุนของดาวหางเป็น 6.23 ชั่วโมงนั่นเอง
โฆษณา