14 มี.ค. 2021 เวลา 23:30 • ประวัติศาสตร์
หลวงพ่อโสธร
หนึ่งในพระคู่บ้านคู่เมืองของไทย
(แม่น้ำบางปะกง)
หลวงพ่อโสธร
ช่วงนี้จะเป็นซีรีย์ "เบญจภาคีวารีปาฏิหาริย์" ที่รวบรวมหลวงพ่อ 5 พี่น้อง(ตามความเชื่อ)ที่ลอยน้ำมาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนทั้งหลาย มาเป็นบทความให้เข้าใจง่ายขึ้น
หลวงพ่อโสธรหรือหลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวใน 5 พี่น้องที่เป็นปางสมาธิ
ตำนาน
ตำนานของหลวงพ่อโสธรนั้นจะมีแตกต่างออกกันไปบ้าง แต่โดยรวมคือท่านเป็นพระพี่คนโตสุด และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ทราบกันมาว่า เมื่อนานมาแล้วมีพระสงฆ์ 5 พี่น้อง(บางตำนานมี 3 พี่น้อง) ได้ร่ำเรียนศึกษาพระธรรมจนสำเร็จเป็นพระโสดาบันและทั้งหมดต่างตั้งสัจอธิษฐานว่า ต่อจากนี้จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากเวียนว่ายตายเกิดและให้รู้ถึงพระพุทธศาสนา เมื่อทั้งหมดได้ดับขันธนิพพานแล้ว ก็ได้ไปสถิตอยู่พระพุทธรูปต่างๆ และได้ลอยแม่น้ำมาคนละสาย
ส่วนตำนาน 3 พี่น้อง มีตำนานเพิ่มเติมเล็กน้อยก็คือว่า เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไปบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาได้เพี้ยนและเรียกว่า สัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก สถานที่นั้นเรียกว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้
ตำบลสัมปทวน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ต่อมามีพระพุทธรูปหนึ่งองค์ได้ลอยวนไปวนมาบนแม่น้ำบางปะกงและมาผุดขึ้นหน้า วัดหงษ์ เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง แล้วต่อมาก็เกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็นวัดโสธร
ประชาชนพลเมืองจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้คนหนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวเมือง จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในพระวิหารวัดโสธร และเรียกนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา
หลวงพ่อโสธรจำลองลอยน้ำ
ประวัติศาสตร์
หลวงพ่อโสธรน่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรฯมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ในราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่2(เจ้าสามพระยา) หรือประมาณ 500-600 ปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปหินทรายประกอบสมัยอยุธยาตอนต้น(อู่ทองรุ่นที่ 2 ) ประทับบนพุทธบังลังก์ 4 ชั้น ปูลาดด้วยผ้าทิพย์ อันเป็นรูปแบบที่นิยมกันมากในช่วงอยุธยาตอนปลาย รวมถึงพระพุทธรูปบริวารอีก10 องค์ที่ประดิษฐานรวมกันบนชุกชี ก็มีพุทธลักษณะแบบอยุธยาเช่นเดียวกัน โดยจำนวน 2 ใน 10 องค์นั้นเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างขึ้นจากไม้มงคล มีพุทธลักษณะค่อนมาทางอยุธยาตอนปลาย ต่างจากพระพุทธรูปบริวารอีก 8 องค์ที่สร้างขึ้นจากหินทรายซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในช่วงอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดโสธรฯและองค์หลวงพ่อโสธรน่าจะตั้งอยู่บริเวณบ้านโสธรนี้มาเป็นเวลาช้านานและมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยต่อมา เดิมที วัดนี้ก็ชื่อโสธร ตามชื่อคลองโสธร มานานแล้ว ไม่มีหลักฐานที่บอกว่าชื่อ วัดหงษ์ เพราะ เสาหงษ์หัก เลยชื่อ เสาทอน เพี้ยนมาเป็นโสธร ตามตำนานหลวงพ่อโสธร นิราศฉะเชิงเทราและโคลงนิราศปราจีนบุรี ที่แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกวีเดินทางผ่านบ้านโสธร ก็กล่าวถึงเพียงวัดโสธรเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงตำนานหลวงพ่อโสธรเลย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2416 พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ได้สร้างพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร และสร้างถนนดินจากหน้าเมืองมาวัดโสธร 26 เส้น นางมีภรรยาได้สร้างศาลาและขุดสระกึ่งกลางถนน สันนิฐานว่าการบูรณะครั้งนั้น ได้พอกปูนปั้นหลวงพ่อโสธรทำให้กลายเป็นพุทธศิลป์ล้านช้าง โดยกลุ่มช่างที่บูรณะมาจากเมืองพนมสารคาม หลังจากนั้นก็ได้ใช้พระอุโบสถเป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ส่วนตำนานหลวงพ่อโสธรลอยน้ำมานั้น สันนิฐานว่ามาจากกลุ่มชาวมอญแถววัดโสธรที่นำตำนานพระลอยน้ำจากพระราชพงศาวดารเหนือ มาอธิบายประวัติหลวงพ่อโสธร
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันอยู่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ปัจจุบันยังไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสเนื่องจากพระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) เจ้าอาวาสคนปัจจุบันได้มรณภาพเมื่อ 23 ม.ค. 64
พระธรรมมังคลาจารย์ วิ.
พระอุโบสถหลังใหม่
พระอุโบสถวัดโสธรฯ หลังใหม่
แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็กซึ่งสร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆอีก 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระจิรปุณโญ (ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
ภาพหลวงพ่อโสธรขณะประดิษฐานในโบสถ์เก่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยนายประเวศ ลิมปรังษี งานด้านวิศวกรรมโครงสร้าง โดย สำนักออกแบบนายอรุณ ชัยเสรี
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
ในการสร้างพระอุโบสถใหม่ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้ทำการกะเทาะปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อโสธรออก ทำให้พบว่าหลวงพ่อโสธรเป็นหินทราย 11 ชิ้น ศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปุญโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ร่วมเป็นพยานบุคคลในการปฏิบัติงานกะเทาะปูนหลวงพ่อโสธรด้วย
หลวงพ่อโสธร กลายเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้คนเดินทางไปกราบไหว้บูชากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาถาบูชานั้นมีความเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมโชค เสริมลาภ และแคล้วคลาดปลอดภัย และยังเป็นเสมือนพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ชาวเมืองฉะเชิงเทรามีความศรัทธาในองค์หลวงพ่อโสธรเป็นอย่างมาก ทำให้ทุกคนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทั้งยังมีความโดดเด่นในเรื่องของการขอพร ที่ใครต่อใครก็ตามที่ได้มาไหว้ขอพรแล้วนั้นจะสมหวังตามปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นการขอในเรื่องของการค้าขายดี ขอให้มีโชคลาภ ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย หรือแม้แต่ขอให้มีบุตร และไม่เพียงแต่ผู้ที่มากราบไหว้หรือบนบานจะได้รับพรดังที่ขอเท่านั้น ยังจะทำให้มีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย
คาถาบูชาหลวงพ่อโสธร
(แบบเต็ม)
ตั้งนะโมฯ 3 จบ
กาเยนะ วาจายะ เจตสา วา โสธะรัง นามะ อิทธิปะฏิหาริกะรัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิสัพพะโสฯ
นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร ยะ ทรงอากาศ
พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด ศัตรูพาลวินาศสันติ
นะกาโร กุกกุสันโธ สิโรมัชเฌ โมกาโร โกนาคะมะโน นานาจิตเต พุทธกาโร กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต ธา กาโร ศรีศากกะยะมุนี โคตะโม ยะกันเน ยะกาโร อะริยะ เมตตรัยโย ชิวหาทีเต ปัญจะพุทธา นะมามิหัง
พุทธะบูชา มะหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มะหาปัญโญ สังฆะบูชา มะหาโภคะวะโห
อะระหังพุทโธ อิติปิโสภะคะวา นะมามิหัง
(แบบย่อ)
ตั้งนะโมฯ 3 จบ
อิติ อิติ อิติ โสธโร นะโมพุทธายะ ยะธาพุทธโมนะ
การแก้บน ส่วนใหญ่มักจะแก้บนว่าด้วยเรื่องขอบุตร ขอโชคลาภ ของาน แต่เรื่องที่เป็นข้อต้องห้ามสำหรับที่นี่คือ ห้ามบนขอไม่ให้เป็นทหาร เพราะตามความเชื่อเล่าว่า พลวงพ่อโสธรชอบให้คนเป็นทหาร เพื่อจะได้ปกป้องรักษาบ้านเมือง ส่วนการแก้บนมักจะใช้เป็นไข่ต้ม พวงมาลัย แผ่นทองคำเปลว หรือแล้วแต่ศรัทธา
เรื่องราวของหลวงพ่อโสธรมีเพียงนี้ ครั้งหน้าจะเป็นหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา