13 มี.ค. 2021 เวลา 11:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“Raya and the last dragon “ บทวิเคราะห์ชีวิตกับสายน้ำของชาวอุษาคเนย์ ความขัดแย้งและความแตกแยกที่ถูกหลอมรวมกันเป็นหนึ่ง (ควรชมภาพยนตร์ก่อนอ่านนะครับ เนื้อหามีสปอยล์)
“Raya and the last dragon” เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของ Disney ที่ทางผู้สร้างได้ออกมาประกาศตั้งแต่เริ่มว่า อนิเมชั่นเรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือ ภูมิภาคอาเซียนของเรานั่นเอง แปลว่า จะต้องมีวัฒนธรรมและส่วนประกอบต่าง ๆ ในภาพยนตร์ที่คนในอาเซียนมองแล้วจะต้องสงสัยว่า ‘เอ๊ะ อันนี้ของประเทศเรารึเปล่านะ’ ‘เอ๊ะ! หรือจะไม่ใช่หรือมันเป็นของประเทศเพื่อนบ้าน’ สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพยนตร์ในยุคโควิดระบาดเช่นนี้ ถือว่าทำรายได้เปิดตัวสูงมาก ถ้าหากอนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉายในสถานการณ์ที่ปกติ จากความสวยงามของฉาก ธรรมชาติแบบร้อนชื้นของอนิเมชั่นที่มีแบบมาจากภูมิภาคอาเซียน คงจะทำให้อาเซียนเป็นเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว และมีคนมาเยี่ยมเยือนมากขึ้นแน่นอน
.
ภาพลักษณ์แบบไทย ๆ ธรรมเนียมการกราบไหว้ อาหารและวัฒนธรรมร่วมของอาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนิเมชั่นมีความเป็นไทยเยอะมาก หากใครไปดูในโรง แล้วนั่งชมจนจบจะเห็นว่า มีอาหารไทยเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง โจ๊กกุ้ง ซึ่งการที่ใช้กุ้งในการประกอบอาหารก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงของชาวอาเซียนกันอยู่แล้ว ทางด้านขนมหวานเห็นชัดว่ามีบรรดาขนมไทยและผลไม้เขตร้อนอย่าง ลำไย จัดใส่สำรับไว้รับประทาน โดยเฉพาะ “Heart Region” อาณาจักรของ รายาเรียกได้ว่า มองให้เป็นประเทศอื่นได้ยากมาก ตอนที่รายาผ่านการทดสอบจากเบญจาผู้เป็นพ่อ ทั้งสองคนทำความเคารพ มณีมังกร ด้วยการนั่งคุกเข่า แล้วเอามีประสานเป็นรูปลูกแก้วเหนือหัว หรือการยกมือขึ้นทำความเคารพตอนที่มังกรปรากฎตัว การกระทำเช่นนี้ค่อนข้างเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับวงการฮอลลีวูด เพราะวัฒนธรรมฝรั่งจะไม่มีการนั่งคุกเข่าและประสานมือขึ้นแน่นอน จังหวะนั้น โดยส่วนตัว ผมขนลุก แล้วต้องอุทานออกมาในใจว่า “นี่มันวัฒนธรรมอุษาคเนย์ชัด ๆ” ไม่เพียงแค่นั้นเครื่องแต่งกายของ รายากับเบญจา ยังเป็นลายประจำยาม ซึ่งมีที่มีจากดอกจัน หรือ ลูกจัน ของไทยนั่นเอง ทรงผมของตัวละครก็มีการมัดสูง สองท่อน หรือการมัดจุกของนางเอกในวัยเด็ก แม้แต่การให้ของขวัญ ยังมีการใช้พวงมาลัยที่ร้อยจากดอกมะลิและกุหลาบตูมติดอยู่ด้านบนกล่องแทนโบว์ อาวุธที่ใช้ต่อสู้กันของตัวละครเบญจาและรายาอาจจะมีที่มาจาก “มีดกริช” ในภาคใต้ของไทยและภาคพื้นสมุทรอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ในตอนที่เกิดวิกฤตน้ำลงฉับพลับจะเห็นได้ว่า มีเรือลำหนี่งของ “Fang region“ ที่มีร่มฉัตรเป็นหลักคาเรือ มองเผิน ๆแล้วคลับคล้ายกับเรือพระราชพิธีของไทยเลยทีเดียว
เครื่องแต่งกาย
มีดกริช
พญานาคสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Sisu ได้รับการยืนยันว่าคือ พญานาค จากทีมผู้สร้าง โดยภาพตัวละครอาจถูกออกแบบให้คล้ายมังกรจีนเพราะว่าเป็นภาพยนตร์ที่ฉายทั่วโลก มังกรจึงต้องถูกออกแบบให้มีความเป็นสากล แต่ในทางประติมานวิทยาแล้ว มังกร Sisu ก็คือ พญานาคอย่างแน่นอน ด้วยอิทธิฤิทธิ์ที่ปรากฎในเรื่อง อย่างเช่น วิถีชีวิตของชาวคูมันตรา ที่นิยมกราบไหว้บูชามังกร เพราะมังกรสามารถ บันดาลให้ฝนตกได้ ทั้งยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับสายน้ำ สามารถพ่นหมอกควัน และสิ่งที่แน่ชัดที่สุดคือ คอนเซปการกลายร่างเป็นมนุษย์ผู้หญิง เพราะจากความเชื่ออุษาคเนย์ พญานาคยังสามารถจำแลงร่างเป็นมนุษย์ได้ จากอิทธิฤิทธิ์ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งยืนยันว่า Sisu คือพญานาคนั่นเอง
วิถีชีวิตกับสายน้ำ การตั้งถิ่นฐานตามลุ่มแม่น้ำจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ต้นแบบจากรัฐโบราณในอุษาคเนย์ภูมิศาสตร์กายภาพกับการสร้างแผนที่คูมันตรา
แผนที่ของคูมันตรา จะมีสายน้ำกระแสหลัก ที่ไหลจากเทือกเขาสูงลงมา มีระยะทางของแม่น้ำที่กว้างใหญ่ บริเวณที่แม่น้ำไหลผ่าน จะก่อเกิดชีวิตและอารยธรรมมากมาย โดยแม่น้ำของคูมันตรา มีรูปร่างคล้ายลำตัวของมังกร โดยมีหางเป็นต้นน้ำที่ไหลจากเทือกเขาสูง เราจะสามารถสันนิษฐานได้ว่าเทือกเขาแห่งนี้คือเทือกเขาหิมาลัย อาณาบริเวณโดยรอบเป็นทะเลทรายเรียกว่า “Tail” ซึ่งเป็นส่วนหางของมังกร แม่น้ำจะไหลต่อไปยังส่วนที่เรียกว่า “Talon” ซึ่งจะเป็นกรงเล็บเท้าหลังของมังกร ผู้คนบริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานแบบมีส่วนของตัวบ้านยื่นออกมาบนตัวแม่น้ำ มีการประกอบอาชีพและทำกิจกรรมค้าขายกันบนน้ำ คล้าย ๆ กับการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯและตลาดน้ำอัมพวาบ้านเรา ทางผู้สร้างกล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากไทยและเวียดนาม เหนือขึ้นไปเป็นส่วน “Spine” เป็นกระดูกสันหลัง บริเวณนี้จะมีอากาศหนาว มีหิมะปกคลุม เพราะส่วนของกระดูกสันหลังจะติดกับเทือกเขาสูงที่มีลักษณะดังเทือกเขาหิมาลัยข้างต้นที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำนี้ ถัดไปตามลำตัวของมังกร ก่อนถึงกรงเล็บหน้า จะเป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่มาก ดินแดนแห่งนี้เรียกว่า “Heart” ซึ่งก็คือหัวใจของมังกร เป็นเมืองที่มีแม่น้ำล้อมรอบ มีสถานที่สำคัญคือภูเขาหินปูนลูกใหญ่ที่เว้าโค้งมีรูกลวงตรงกลางซึ่งอาจเป็นสิ่งสะท้อนแนวคิดทางโหราศาสตร์ของชาวอุษาคเนย์ที่มักจะชอบสร้างปราสาทหินให้พระอาทิตย์ส่องแสงลอดบานประตูของปราสาทแล้วบรรจุสิ่งสักสิทธิ์สำคัญอย่างศิวะลึงค์ไว้ด้านใน เช่นเดียวกันบนภูเขาลูกนั้นยังเป็นจุดสำคัญที่อดีตเคยเก็บมณีมังกรไว้ ส่วนเหนือขึ้นไปจะเป็นดินแดนสุดท้าย เรียกว่า “Fang” คือเขี้ยวของมังกร ผู้คนในบริเวณจะตั้งถิ่นฐานโดยการขุดคลองขึ้นมาห้อมล้อมอาณาจักรของตัวเองไว้ ก่อนที่แม่น้ำจะไหลลงสู่ทะเลที่ปากอ่าว จากการวางผังดินแดน “คูมันตรา” จะเห็นได้ว่า มันมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาคพื้นทวีปของอาเซียน อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำโขง เพราะมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาหิมาลัย ที่มีอากาศนหนาวเย็น ต้นน้ำมีความแห้งแล้งมากกว่าปลายน้ำ และไหลผ่าน 6 ประเทศอย่าง จีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งหากไม่นับรวมจีน ก็จะมีแค่ 5 ประเทศของอาเซียนที่หลอมรวมแม่น้ำสายนี้เข้ากับวิถีชีวิต
และใช้เป็นแม่น้ำสายหลักในการสร้างอารยธรรม ดังนั้นคูมันตรา จึงเปรียบได้กับ “อุษาคเนย์” ภาคพื้นทวีป 5 ประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่านก็เป็นได้
Kumandra
แม่น้ำโขง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการขุดคลอง และการตั้งอาณาจักรบนพื้นที่บริเวณที่มีแม่น้ำห้อมล้อม จากในเรื่องทุก ๆ คนจะกลัวความชั่วร้ายที่เรียกว่า “ดรูน” ซึ่งหากสัมผัสแล้วจะกลายเป็นหิน ความชั่วร้ายเหล่านี้จะไม่สามารถทำร้ายใครได้ เพราะพวกมันกลัวน้ำ ดังนั้นการสร้างอาณาจักรให้ใกล้ชิดกับน้ำ หรือมีน้ำล้อมรอบ จะช่วยปกป้องผู้คนจาก “ดรูน” ได้ มันก็เหมือนกับอาณาจักรโบราณในอุษาคเนย์ที่นิยมขุดคลอง หรือห้อมล้อมด้วยน้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “อยุธยา” เพราะการที่มีน้ำห้อมล้อมช่วยในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้าขายและป้องกันข้าศึกโดยปราการธรรมชาติ บางครั้งข้าศึกในที่นี้ อาจจะเป็นความชั่วร้ายในภาพยนตร์ที่ถูกแทนด้วยจิตใจอันดำมืดของมนุษย์ที่แตกแยกกันก็เป็นได้ เพราะพวก “ดรูน” จะปรากฎขึ้นเมื่อมนุษย์ไร้ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีความโลภครอบงำ อันเป็นที่มาของการแก่งแย่งชิงดินแดนในรัฐโบราณสมัยอุษาคเนย์
Ayudya
Land of fang
Land of heart
สายน้ำยังมีความสำคัญ ดังในตอนจบของเรื่องเมื่อเหล่ามังกรคืนชีพ บันดาลให้ฟ้าครึ้ม บันดาลฝนให้ตกลงมา สายฝนจึงชำระบรรดาเหล่าผู้คนที่กลายเป็นหินให้กลับกลายมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ชี้ชัดว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ เล่าเรื่องให้เห็นถึงความศักสิทธ์ของสายน้ำเช่นเดียวกันกับความเชื่อของภูมิภาคอุษาคเนย์
.
“คูมันตรา” ภาพแทนการก่อรูปรัฐสมัยโบราณ การทรยศหักหลัง สงครามและความขัดแย้งในภูมิภาคที่ไร้สันติภาพ สู่ความสัมพันธ์ของรัฐในโลกสมัยใหม่
 
คูมันตรา เคยเป็นอาณาจักรเดียวกันมาก่อน ภายหลังแตกแยกออกเป็น5 อาณาจักรย่อย แนวคิดนี้สะท้อนภาพแทนอุษาคเนย์ได้ดี เพราะ รัฐโบราณในดินแดนอุษาคเนย์ ก็เคยเป็นรัฐเดียวกันมาก่อนอาทิเช่น สหภพอินโดจีนที่เป็นที่รวมของสามประเทศคือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม, ไทยกับลาว, ไทยกับมาเลเซีย หรือมาเลเซียกับสิงคโปร์ แต่ในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่เรียกว่ารัฐชาติได้เกิดขึ้น หมดยุคของสงคราม การแย่งชิงดินแดนและการผลัดกันแสดงอานุภาพเหนือดินแดนอื่นจึงไม่มีอยู่แล้ว ดินแดนของรัฐในรัฐสมัยใหม่จึงเป็นสิ่งที่แน่นอนและคงที่ มากกว่าในรัฐยุคโบราณ แต่ในภาพยนตร์อนิเมชั่น ในตอนจบทุกคนยอมเชื่อใจกันและกลับไปอยู่ในนครคูมันตราที่ดินแดน heart ดังเช่นเดิม แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการรวมรัฐสมัยใหม่หลายรัฐให้เป็นหนึ่งนั้นทำได้ยาก เพราะทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตยของตน ดังนั้นจึงเกิดการร่วมมือระดับภูมิภาคขึ้นมา เป็น ASEAN เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาภูมิภาคในด้านต่าง ๆ โดยไม่รุกล้ำอธิปไตยซึ่งกันและกันดังนั้น ความหมายกว้าง ๆ ของASEAN อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็น คูมันตราได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ภายในเรื่องยังมีข้อคิดเรื่องความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอันเป็นที่มาของสงครามและความขัดแย้ง และทุกอาณาจักรล้วนอยากให้ประชาชนของตนมีชีวิตที่ดี โดยที่ไม่ได้สนใจอาณาจักรอื่นๆ ทุกอาณาจักรล้วนต้องการครอบครองมณีมังกร รายา นางเอกของเราก็โดน “นามารี” เจ้าหญิงแห่งดินแดน Fang หักหลังถึงสองครั้ง ซึ่งสิ่งนี้ในโลกความเป็นจริงค่อนข้างเพ้อฝันที่เราจะเชื่อใจใครซักคนที่เคยหักหลังเราซ้ำสอง ทุกคนต่างมองหาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน มันก็เหมือนเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศที่มีคนเคยกล่าวว่า “มิตรในวันนี้ อาจจะเป็นศัตรูในวันหน้า” คือทางการระหว่างประเทศอาจจะไม่มีมิตรแท้ถาวรซึ่งกันและกันมันอยู่ที่ว่าเราจะพึ่งพาใครเพื่อหาผลประโยชน์ให้กับประเทศของเราให้ได้มากที่สุด ณ เวลานั้นต่างหาก ดังนั้นแล้วภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้จึงค่อนข้างเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติ เพราะแม้ในโลกสมัยใหม่ที่สงครามจะจบลง แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐยังคงมีอยู่ ดังนั้นภาพยนตร์อนิมเชั่นเรื่องนี้จึงสมกับเป็นสิ่งที่เรียกว่า “mad at disney” จริง ๆ
ภาพประกอบเพิ่มเติม
โฆษณา