Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE SNIKET-D
•
ติดตาม
14 มี.ค. 2021 เวลา 06:08 • ท่องเที่ยว
ยาสามัญประจำทริป เที่ยวทั้งที... ต้องมียาอะไรบ้าง
เราทุกคนล้วนอยากใช้เวลาว่างเพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย ความเครียด ความเหนื่อยล้า หรือสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว บางคนอาจจะทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงน้องหมาน้องแมว
อีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมยอดฮิต คงจะเป็นการพาตัวเองหนีจากความวุ่นวายไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่อาจจะสนุกได้ไม่เต็มที่ หากระหว่างทริปดันเกิดป่วยขึ้นมา วันนี้เราจะมาแนะนำยาที่ควรพกติดตัวประจำเพื่อช่วยเหลืออาการเบื้องต้นกันครับ
#ยาสำหรับโรคประจำตัวหรือยาที่ต้องทานอย่างต่อเนื่อง
เป็นยาที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องพกติดตัวไว้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ไม่แนะนำให้หยุดทานเด็ดขาดนะครับ เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบ หรือเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้ หากลืมเอาไปจริง ๆ ก็สามารถซื้อได้ที่ร้านขายยาที่ใกล้ ๆ โดยนำชื่อของตัวยาแจ้งกับเภสัชกรประจำร้านได้เลยครับ
#ยาแก้ปวด #ลดไข้
ยาที่ช่วยลดอาการปวด ลดไข้คงหนีไม่พ้น Paracetamol (Tylenol) รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้ ยานี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านชำหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป
#ยาบรรเทาอาการปวด #ลดการอักเสบ
ยากลุ่มนี้สามารถรับประทานได้เมื่อมีอาการปวดและอักเสบเกือบทุกชนิด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดฟัน ปวดประจำเดือน หรือใครที่มีอาการเจ็บคอก็สามารถรับประทานยากลุ่มนี้ได้เช่นกัน
Ibuprofen (Gofen) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการปวดหรืออักเสบ
**ยาตัวนี้ลดไข้ได้ สามารถทานตัวนี้ได้เลยโดยไม่ต้องทานพาราเพิ่ม
Mefenamic acid (Ponstan) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการปวดหรืออักเสบ
Diclofenac (Difelene) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการปวดหรืออักเสบ
เสริมนิดนึงครับ หลายคนคงใช้ยาสับสนกันระหว่าง “ยาฆ่าเชื้อ” กับ “ยาลดอักเสบ” จริง ๆ แล้ว พวกอะม็อกซี่ (Amoxicillin) คือยาฆ่าเชื้อนะครับ ดังนั้นหากเราทานเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน หรือเจ็บคอ จะไม่สามารถบรรเทาอาการได้ครับ
ข้อควรระวัง ยาบรรเทาอาการปวดกลุ่มนี้อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ใครที่เป็นโรคกระเพาะอาจจะต้องระมัดระวังนะครับ หาอะไรร้องท้องก่อนทานยาหรือดื่มน้ำตามมาก ๆ หลังทานยา ตัวที่ระเคืองกระเพาะน้อยที่สุดก็คือ Ibuprofen ครับ เลือกทานตัวนี้ได้สำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะ
#ยาคลายกล้ามเนื้อ
ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
Paracetamol + Orphenadrine (Norgesic) คลายกล้ามเนื้อ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง **ยาตัวนี้มีพาราผสมอยู่ หากมีไข้ สามารถทานตัวนี้แทนพาราได้เลย
นอกจากนี้อาการปวดกล้ามนื้อ สามารถใช้เป็นยาทา ยานวด ยาหม่อง หรือพลาสเตอร์แก้ปวดได้ครับ แบ่งเป็นสูตรร้อนและสูตรเย็น
ยาทาหรือพลาสเตอร์ยาแก้ปวดเมื่อยสูตรเย็น เหมาะสำหรับการปวดจากการบาดเจ็บ เช่น ข้อเท้าพลิก บาดเจ็บจากการกระทบกระแทก และใช้ในการปวดหรืออักเสบมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง
ยาทาหรือพลาสเตอร์ยาแก้ปวดเมื่อยสูตรร้อน เหมาะสำหรับการคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด เช่น เดินทางไกล ยกของหนัก และใช้กับอาการปวดเรื้อรังหรือการปวดมากกว่า 48 ชั่วโมง
#ยาแก้แพ้ #แก้คัน #ลดน้ำมูก #แก้หวัด #ลดคัดจมูก
ยากลุ่มนี้สามารถทานแทนกันได้ทุกตัว แต่ยาแต่ละตัวก็จะมีคุณสมบัติและเหมาะสำหรับอาการแต่ละอาการต่างกัน
CPM เป็นยาแก้แพ้แบบง่วง รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการ เหมาะสำหรับอาการคัน น้ำมูกไหล จาม แพ้อากาศ หรือใครที่ไปนอนต่างที่แล้วนอนไม่หลับ ก็สามารถรับประทานตัวนี้ช่วยให้นอนหลับได้เช่นกัน
**ยาตัวนี้ทำให้ง่วง อาจต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
Cetirizine (Zyrtec)/ Fexofenadine (Telfast) เป็นยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เหมาะสำหรับคนที่กิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละครั้ง เหมาะสำหรับอาการน้ำมูกไหล จาม แพ้อากาศ ยาตัวนี้ออกฤทธิ์นาน ดังนั้นรับประทานเพียงวันละครั้งได้
CPM + Phenylephrine (Sulidine) เหมาะสำหรับคนที่เป็นหวัด มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม แพ้อากาศ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการ
**ยาตัวนี้ทำให้ง่วง อาจต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
นอกจากนี้ยังมียาสูตรผสมที่ประกอบด้วยยาแก้แพ้ (CPM) แก้หวัด (Phenylephrine) และยาลดไข้ (Paracetamol) เช่น Tiffy dey หรือ Decolgen prin เหมาะสำหรับคนที่เป็นหวัดและมีไข้ร่วมด้วย
#ยาแก้ไอ
เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอจากการระคายเคืองลำคอ ขับเสมหะ
Bromhexine (Bisolvon) เหมาะสำหรับอาการ #ไอมีเสมหะ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
Dextrometrophan เหมาะสำหรับอาการ #ไอที่ไม่มีเสมหะ รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร **ยาตัวนี้ทำให้ง่วง อาจต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย
หากมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการไอด้วยสามารถใช้ยาพ่นอย่าง Kamillosan-M และ Propolis ควบคู่กับการจิบน้ำอุ่น ใช้ยาอมแก้ไอในระหว่างวันเพื่อเพิ่มความชุ่มคอได้นะครับ
#ยาแก้เมารถ #เมาเรือ
เป็นยาที่เหมาะสำหรับคนที่มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนทุกครั้งเมื่อเดินทางด้วยรถหรือเรือ
Dimenhydrinate (Dramamine) รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ก่อนเดินทาง 30 – 60 นาที หรือรับประทาน 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมงเมื่อเกิดอาการเมารถ เมาเรือ
**ยาตัวนี้ทำให้ง่วง อาจจะต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เหมาะกับการเดินทางโดยรถหรือเรือที่มีระยะเวลานาน
#ยาแก้ท้องเสีย
Loperamide (Lomotil) ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้หยุดถ่าย รับประทาน 2 เม็ดทันที หลังจากนั้นรับประทานซ้ำ 1 เม็ดทุกครั้งที่ถ่าย แต่ไม่เกินวันละ 6 เม็ด
Medicinal charcoal (Ultracarbon) ช่วยดูดซับสารพิษ เชื้อโรค กรดเกิน รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด ก่อนอาหาร
** ยาตัวนี้เป็นตัวช่วยดูดซับ อาจจะดูดซับยาที่เรากินไปด้วย แนะนำให้รับประทานห่างจากยาตัวอื่น 2 ชั่วโมง
เกลือแร่ทดแทน (ORS) ชดเชยแร่ธาตุและน้ำที่สูญเสีย ละลายเกลือแร่กับน้ำสะอาด แล้วค่อย ๆ จิบ อย่าดื่มทีเดียวอาจจะทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ **เกลือแร่สำหรับท้องเสียต้องเป็น ORS เท่านั้นนะครับ ไม่แนะนำเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย ใช้แทนกันไม่ได้นะครับ
#ยาระบบทางเดินอาหาร
Omeprazole (Miracid) ลดกรดในกระเพาะอาหาร รับประทานวันละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหาร
Antacid (Antacil) มีทั้งแบบชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ ช่วยสะเทินกรดในกระเพาะ เคลือบกระเพาะลดอาการปวดท้อง แสบท้อง จุกเสียดแน่นท้อง รับประทาน 1-2 เม็ด ทันทีเมื่อมีอการ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน **ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็ว แต่ก็หมดฤทธิ์เร็ว แนะนำให้รับประทาน Omeprazole ก่อนอาหารเช้า และรับประทาน Antacid ระหว่างวัน เวลามีอาการของโรคกระเพาะ
Domperidone (Motilium-M) แก้คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
Simethicone (Air-X) แก้ท้องอืด ขับลม แน่นท้อง รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
ยาธาตุน้ำขาว แก้ท้องเสียแบบไม่รุนแรง ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
Hyosicne (Buscopan) แก้ปวดบิดปวดเกร็งท้อง รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
**ยานี้ใช้ได้ทั้งปวดบิด ปวดเกร็งท้อง จากโรคกระเพาะอาหาร ท้องเสีย หรือปวดหน่วงจากปวดประจำเดือน
#ยาอื่น
สเปรย์กันยุงและแมลง เพื่อป้องกันยุง แมลง คนที่
มีอาการแพ้แมลงจึงควรพกติดตัวเป็นอย่ายิ่ง
ยาหม่อง เป็นยาทาหลังโดนแมลงสัตว์กัดต่อย และยังช่วยอาการวิงเวียนศีรษะ และใช้นวดแก้ปวดเมื่อยได้ค
ยาดม ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ขนาดเล็ก พกพาง่าย ยาดมหนึ่งแท่งจะมีพิมเสนน้ำอยู่ด้วย ใช้สำหรับทาบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยได้
ยาทาแผลในปาก ใช้สำหรับทาแผลในปาก เช่น แผลร้อนใน แผลกัดปาก ที่ฤทธิ์เย็น ตัวยาจะเคลือบแผลเป็นฟิล์มบาง ๆ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียในปากเข้าสู่แผลได้
สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ พกไว้เพื่อฉีดหรือทาฆ่าเชื้อที่มือ หรือบริเวณที่สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ
หากพกยาทั้งหมดนี้มีหวังคงจะเปลืองพื้นที่สำหรับเสื้อผ้าสำหรับทริปสำคัญแน่เลย ดังนั้นควรเลือกไปให้เหมาะสมกับทริปที่เราจะไป แต่ยาที่ขาดไม่เลยก็คือยาประจำโรคตัวนะครับ สำคัญมาก ๆ และเพื่อให้ทริปนี้เป็นทริปที่สนุก การดูแลตัวเองให้ไม่เจ็บป่วยคงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ
-DONG X PATCHARA-
ฝากติดตามกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจและ blockdit เพื่อเป็นกำลังใจให้โด่งด้วยนะครับ
Blockdit:
https://www.blockdit.com/thesniket.d
Facebook fan page:
https://www.facebook.com/thesniket.dd
1 บันทึก
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย