14 มี.ค. 2021 เวลา 14:24 • ธุรกิจ
เปิดประวัติแบรนด์ Hermès จากร้านทำอานม้าสู่แบรนด์กระเป๋าที่แค่มีเงินก็ซื้อไม่ได้
กระเป๋าราคาแพง เสื้อผ้าเรียบหรู เครื่องหนังพรีเมี่ยม สิ่งเหล่านี้คือคนนึกถึงแบรนด์อย่าง Hermès แต่มีคนจำนวนไม่มากนักรู้ถึงที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นซูเปอร์แบรนด์ระดับโลกเช่นนี้ เรื่องราวในอดีตหล่อหลอมตัวแบรนด์มาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้อัตลักษณ์ของแบรนด์ก็ยังคงอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนแฟชั่นก็ไม่เคยขาดชื่อของแอร์เมสเลยแม้แต่ช่วงเดียว พลวัตแฟชั่นจะวิ่งวนไปทิศทางไหนเรายังคงพูดถึงชื่อนี้อยู่เสมอ วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าอาชาแห่งฝรั่งเศสที่ชื่อละม้ายคล้ายเทพแห่งกรีกนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร...
วันที่ 10 มกราคม 1801 วันที่เมืองเครเฟลด์เมืองเจ้าของฉายา “City of Velvet” ยังถือเป็นดินแดนฝรั่งเศสของจักรวรรดินโปเลียนอยู่ เด็กน้อยคนหนึ่งนามว่า Thierry Hermès เกิดขึ้นในครอบครัวพ่อชาวฝรั่งเศสและแม่ชาวเยอรมัน ด้วยฉายาของเมืองที่หมายถึงกำมะหยี่ซึ่งสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ในการผลิตสิ่งทอทำให้เธียรี่ได้รับอิทธิพลเข้าเต็ม ๆ ช่วงวัยเด็กของเขาจึงฝักใฝ่เรียนรู้เกี่ยวกับการพิมพ์ลายและสิ่งทออย่างจริงจัง ถือเป็นการปูพื้นฐานและสร้างประสบการณ์ศิลปะงานฝีมือให้กับเด็กชายคนนี้ตั้งแต่วัยเยาว์
จุดพลิกผันของชีวิตอันเรียบง่ายของเธียรี่คือการย้ายเข้ามาอาศัยทางตอนเหนือของกรุงปารีสในปี 1828 และนี่คือจุดเริ่มต้นของแบรนด์แอร์เมสอย่างจริงจัง ยุคที่การเดินทางยังใช้ม้าเป็นพาหนะชายหนุ่มวัย 27 จึงปรับใช้เทคนิคงานฝีมือสมัยวัยเด็กร่วมกับการเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับม้า ไม่ว่าจะเป็นบังเหียน สายคล้องและอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนหนังเพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุ งานของเขาขึ้นชื่อเรื่องความละเมียดละไมและมีจุดเด่นที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเบาะหนังฝีมือหนุ่มจากเครเฟลด์นั้นไม่ธรรมดา
ช่วงชีวิตของเธียรี่ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกับการผลิตสินค้า ปี 1831 เขากับภรรยาคู่ใจมี Charles-Emile Hermès เป็นโซ่ทองคล้องใจ พอมีลูกชีวิตต้องพัฒนาอีกระดับการนั่งทำอานม้าอย่างเงียบ ๆ ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ปี 1837 ร้านแฮร์เมสเวิร์กช็อปจึงถือกำเนิดขึ้นแถว Grands Boulevards ในกรุงปารีส
ช่วงแรกสินค้าของเธียรี่มีเพียงแค่เครื่องหนังและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขี่ม้าทั้งอานและบังเหียนเพื่อตอบสนองให้กับชนชั้นสูงที่ต้องการอุปกรณ์เหล่านี้ในระดับที่เหนือกว่าคนอื่น แอร์เมสจึงดำรงอยู่ได้และเป็นสัญลักษณ์แห่งแบรนด์ชนชั้นสูงของฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การันตีด้วยเหรียญรางวัลจากงาน Exposition Universelle งานจัดแสดงผลงานระดับโลกในปี 1855 และ 1867
1
อาณาจักรความยิ่งใหญ่เริ่มขยายตัวเมื่อชาร์ลส์-เอมิลดูแลกิจการเต็มตัวในปี 1880 และโยกย้ายร้านไปที่ 24 rue du Faubourg Saint-Honoré หลังจากที่ก่อนที่จะนำลูกชาย 2 คนเข้ามาช่วยกิจการจนสามารถแผ่ขยายสินค้าแอร์เมสไปได้ทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอานม้าที่ถูกส่งไปแผ่นดินยุโรป เอเชียรวมถึงอเมริกา นี่เริ่มเป็นการตั้งธงประกาศศักดาว่าแอร์เมสกำลังขยับขยายสู่สเกลระดับโลกและไม่กี่ปีต่อมาก็กำเนิดกระเป๋าเพื่อแบกสัมภาระไปกับการเดินทางบนหลังม้าอย่าง Haut à Courroies ซึ่งเป็นรากฐานของกระเป๋าแอร์เมสหลายต่อหลายรุ่นในปัจจุบัน
กว่า 20 ปีเต็มที่ชาร์ลส์-เอมิลบริหารงานพร้อมกับลูก ๆ ถึงเวลาที่ชายใกล้วัยเกษียณต้องวางมือและส่งแอร์เมสต่อให้ Adolphe และ Émile-Maurice ลูกชายทั้ง 2 คนในปี 1902 และชื่อแอร์เมสก็ถูกรีแบรนด์เป็น “Hermès Frères” ซึ่งแปลว่าสองพี่น้องแอร์เมสนั่นเอง ความรุ่งเรื่องพุ่งถึงขีดสุดยอดขายอานม้าทะลุเป้าและเอมิล-เมาริสสร้างสรรค์การใช้ซิปกับเครื่องหนังและเสื้อผ้าเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสในปี 1914 ก่อนที่ปี 1918
จะทำถุงกอล์ฟมีซิปให้เจ้าชายเอดเวิร์ด จนซิปถูกเรียกอย่างเอ็กซ์คลูซีฟว่า “Hermès fastener” เรียกว่าแทบจะกลายเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ในยุคนั้นเลยทีเดียว แต่ความรุ่งเรืองมันไม่ได้สวยหรูเพราะ 2 พี่น้องแอร์เมสแยกทางกันในเชิงธุรกิจเหลือเพียงเอมิล-เมาริสดูแลกิจการเพียงคนเดียว
คนเดียวยังสามารถพัฒนาแบรนด์ได้ต่อเนื่องและจุดเริ่มต้นไอคอนิกไอเท็มก็เกิดขึ้นในปี 1922 เมื่อเอมิล-เมาริสเอาใจภรรยาสุดที่รักด้วยการดีไซน์กระเป๋าถือให้เพราะเธอหากระเป๋าใบถูกใจไม่ได้เขาเลยออกแบบคอลเล็กชั่นมันเสียเองเลย และในช่วงนั้นเองไลน์เสื้อผ้าและแอ็กเซสเซอรี่ก็กำเนิดขึ้นมาเติมเต็มแบรนด์อย่างสมบูรณ์ ทำให้แบรนด์สามารถเปิดร้านในปารีสได้อีก 2 แห่งและที่สำคัญขยายอาณาจักรอาชาแห่งฝรั่งเศสไปสู่ทวีปอเมริกาด้วย
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเพราะเอมิล-เมาริสจัดคอมโบชุดใหญ่เปิดไลน์เสื้อผ้ากูตูร์ในปารีส กระเป๋า “Sac à dépêches” และ “Hermès carrés” หรือผ้าพันคอในปี 1929, 1935 และ 1937 ตามลำดับ ภายหลังทั้งกระเป๋าและผ้าพันคอโด่งดังเป็นพลุแตกสร้างชื่อให้กับแอร์เมสมาตลอดหลายสิบปีจากอิทธิพลของสตรีหมายเลข 1 อย่าง Jacqueline “Jackie” Kennedy กับการสไตลิ่งผ้าพันคอที่สร้างชื่อกระฉ่อนโลก
ความ “แอร์เมส” แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมฝรั่งเศสแบบเต็มตัวรากฐานที่มาจากม้าแอร์เมสก็ขาดม้าไม่ได้พวกเขาไม่เคยละทิ้งตัวตนชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับที่เกี่ยวข้องกับการขี่ม้ายังถูกสอดแทรกเข้าไปในคอลเล็กชั่นอยู่เสมอในช่วงปี ‘30s-‘40s ก่อนที่เอมิล-เมาริสจะส่งท้ายด้วยการปล่อยไลน์น้ำหอมและเนกไทผ้าไหมที่โด่งดังจนถึงทุกวันนี้ พร้อมทิ้งท้ายริเริ่มพัฒนานาฬิกาและหลักปรัชญาสำหรับแบรนด์ไว้ว่า “เครื่องหนัง กีฬาและขนบธรรมเนียบอันหรูหรางดงาม” เขาเสียชีวิตลงในปี 1951 และไม้ต่อตกไปอยู่กับคนนอกสายเลือดฝั่งพ่อเป็นครั้งแรกอย่าง Robert Dumas และ Jean-René Guerrand ตำนานบทต่อไปของแอร์เมสกำลังจะเริ่มขึ้น
ทั้งโรแบร์และฌอง-เรเน่เริ่มใช้สีส้มและโลโก้รถม้าสัญลักษณ์สุดอมตะแห่งวงการแฟชั่นและยังสานต่องานจากเอมิล-เมาริสอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะการออกแบบผ้าพันคอเพิ่มเติม แต่น่าแปลกที่การผลิตและยอดขายไลน์สินค้านี้ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกสิ่งบนโลกเมื่อมีสิ่งหนึ่งลงย่อมมีสิ่งหนึ่งขึ้นเสมอเพื่อรักษาสมดุล นิตยสารไลฟ์ปี 1956 เปิดภาพเกรซเคลลี่เจ้าหญิงแห่งโมนาโกถือกระเป๋าต้นแบบ “Sac à dépêches” ปิดหน้าท้องขณะตั้งครรภ์เป็นหน้าปก หลังจากสตรีศรีแฟชั่นหลั่งไหลเข้ามาที่ร้านแอร์เมสพร้อมกับถามหา “Kelly Bag” ทางแบรนด์เห็นโอกาสอันดีในการเปลี่ยนเพื่อกระแสและความเข้าใจง่ายนับแต่นั้นกระเป๋าทรงคลาสสิกฝีมือการออกแบบของเอมิล-เมาริสจึงได้ชื่อว่า “Hermès Kelly” ทำให้ยอดขายที่ดิ่งลงถีบตัวขึ้นสูงอย่างน่าตกใจ
นอกจากนี้ในปี 1961 ยังมีน้ำหอม “Calèche” น้ำหอมตัวคลาสสิกปล่อยออกมาให้แฟน ๆ แอร์เมสพรมความหอมคละคลุ้งไปทั่วร่างกายและกระเป๋า Constance ที่เปิดตัวในปี 1959 แต่กระนั้นความสวยงามไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หนามกุหลาบทิ่มแทงแอร์เมสจากกระแสการใช้วัสดุแบบใหม่ซึ่งทำให้แอร์เมสถึงคราลำบากแต่ทั้งโรแบร์และฌอง-เรเน่ก็พลิกฟื้นพาแบรนด์กลับมายืนหยัดเป็นการส่งท้ายยุคการบริหารของทั้งคู่อย่างท้าทาย
1
Jean-Louis Dumas เข้ามารับช่วงต่อในปี 1978 เริ่มขยายร้านที่ 24 Rue Faubourg Saint-Honore ทันที เป็นยุคที่โฟกัสเรื่องผ้าและเครื่องหนังอย่างจริงจังกลายเป็นรากฐานสำคัญที่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของแอร์เมสจนถึงตอนนี้ นี่คือพระเอกของแบรนด์ในแง่ธุรกิจจริง ๆ เขาเล็งเห็นว่าต้องปรับปรุงคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าก็ดึงเอา Eric Bergère และ Bernard Sanz มาทำ สายตามองช่องทางธุรกิจดั่งเหยี่ยวหาเหยือส่งผลให้ปีแรกทำยอดขายไป 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และต่อยอดมาถึงปี 1998 ที่ทำยอดขายสูงถึง 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นประวัติกาลของแบรนด์เลยทีเดียว เหตุจากความฉลาดของฌอง-หลุยส์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และรักษารากฐานกลุ่มเก่ารวมถึงคุณภาพสินค้าได้อย่างมั่นคง
เเหล่งอ้างอิง: http://gscm.nida.ac.th/th/previews.php?id=140
โฆษณา