14 มี.ค. 2021 เวลา 16:04 • การศึกษา
ห้องสมุดมหาวิทยาลัยไปทางไหนต่อดี?
ได้ฟังบรรณารักษ์คุยกันในคลับเฮาส์พูดคุยถึงทิศทางของห้องสมุดในอนาคตแล้วลองมาทบทวนอะไรอะไรดู
 
เมื่อซักห้าปีก่อนที่ผมจะเข้ามาบริหารงานห้องสมุด กระแสของการที่ ห้องสมุดจะ
ถูกดิสรัพท์รุนแรงมาก หลักๆ ก็เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คำว่าดิจิตอลทำวงการห้องสมุดสั่นสะเทือนอย่างมาก
แต่ยิ่งเวลาผ่านผมพบว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยกลับมีความก้าวหน้าตามกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างดีเยี่ยม อาจจะพูดได้ว่ามีความแข็งแกร่งมากขึ้นก็ว่าได้
เกิดอะไรขึ้นระหว่างนั้น ลองย้อนดูห้องสมุดมหาวิทยาลัยเมื่อ 5 ปีแล้ว เปรียบเทียบกับวันนี้ จะเห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน และหัวใจที่สำคัญ ผมมองว่าห้องสมุดทำตัวเหมือนกับ น้ำ (ของเหลว) ที่จะมีรูปร่าง รูปทรงที่เปลี่ยนไปตาม ภาชนะ ที่หล่อหรือปั้น ตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และที่สำคัญใช้ ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือดิจิตอลอย่างเต็มที่
บริการเดิมๆเริ่มลดบทบาท ไม่ว่าจะเป็นการมาหาหนังสือ มานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ มาค้นคว้าในห้องสมุดลดลงอย่างมาก วัตถุประสงค์ใหม่ของการมาห้องสมุดกลับเป็นการมาใช้สถานที่ในการพบปะ พูดคุย เรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการนี้ห้องสมุดก็ต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องของสถานที่ การจัดโซนของผู้ใช้ที่มีความต้องการที่แตกต่าง การสนับสนุนในเรื่อง อินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนรู้ต่างๆ แล้วห้องสมุดปรับตามกระแสนี้ได้อย่างไร ผมพบว่า บุคลากรห้องสมุดมีคุณลักษณะที่โดดเด่นคือความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา สิ่งที่เป็นอยู่ (Unlearn) และการเรียนรู้หรือยอมรับสิ่งที่เคยรู้เคยเรียนด้วยมุมมองใหม่ (Relearn)
1
โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน สไตล์การเรียนรู้และความต้องการของคนก็เปลี่ยน รูปแบบการทำงาน การบริการเดิมๆของห้องสมุดอาจจะไม่เหมาะกับสภาพปัจจุบัน ห้องสมุดไม่ใช่สถานที่ที่เงียบกริบอีกต่อไป การใช้เสียงไม่ใช่สิ่งต้องห้าม การนำอาหารเครื่องดื่มที่ไม่ส่งกลิ่นรบกวนผู้อื่นมารับประทานในห้องสมุดก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องอนุโลม
การมาเรียนรู้มาทำงานในห้องสมุดไม่ต้องการยืมหนังสือแต่อยากได้อินเทอร์เน็ตแรงๆ อย่กได้ปลั๊กไฟเยอะๆ อยากได้อุปกรณ์ในการทำงานกลุ่ม ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ เช่น Library of Things, Deep quiet zone, Study room ต่างๆมากมาย และขณะเดียวกันก็ต้องมีการนำเทคโนโลยีที่จะดิสรัพท์ห้องสมุดมาเป็นพลังในการพัฒนาห้องสมุดให้ก้าวไปตามกระเเสโลกดิจิตอล บริการออนไลน์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย การตอบสนองการเรียนรู้แบบทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous learning)เป็นทิศทางของห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกๆแห่ง
4
ถึงวันนี้ถามว่าอีกสิบปีข้างหน้ายังจะมีห้องสมุดอยู่หรือไม่ คำตอบคงต้องขอยืมประโยคเด็ดจากภาพยนต์เรื่องธอร์ที่ว่า "Asgard is not a place; never was" ห้องสมุดก็เช่นกัน ห้องสมุดไม่ใช่แค่สถานที่ ไม่เคยเป็น แต่การสนับสนุนการเรียนรู้ต่างหากคือแก่นแท้ของห้องสมุด.
ท่านสามารถติดตามการพัฒนาของห้องสมุดมหาวิทยาลัยผ่านเพจ
1
โฆษณา