15 มี.ค. 2021 เวลา 02:12 • ศิลปะ & ออกแบบ
เล็งทุบสถิติครั้งใหม่...แสตมป์แพงที่สุดในโลก
เผยแพร่วันที่ 15 มีนาคม 2564
เจ็ดปีให้หลังทำสถิติแสตมป์ที่มีราคาสูงที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปี 2014 ก็ได้เวลาขยับสถิติรอบใหม่ในปีนี้ เมื่อ Stuart Weitzman เจ้าของคนล่าสุดผู้ครอบครองแสตมป์หนี่งเดียวในปฐพี ชุดที่รู้จักกันในนาม 1856 British Guiana 1¢ Magenta ตัดสินใจจะนำออกประมูลผ่านบริษัทประมูล Sotheby นครนิวยอร์กในวันที่ 8 มิถุนายนที่จะถึง พร้อมกับชุด Inverted Jenny “แสตมป์ตลก”บล็อกสี่สุดหายากพอกัน ซึ่งเขาก็เป็นเจ้าของอยู่ด้วยเช่นกัน
แสตมป์อายุนานถึง 165 ปี ดวงสีแดงรูปทรงแปดเหลี่ยมเพราะถูกตัดมุมและผ่านมือมาหลายเจ้าของ ถูกประมูลครั้งสุดท้ายไปด้วยราคา 9.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวเกือบ 300 ล้านบาท ว่ากันว่าคิดเป็นเกือบพันล้านเท่าของราคาหน้าดวงเมื่อแรกออก ขณะที่ชุดเครื่องบินที่พิมพ์ผิดจนกลับหัวเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ฉีกเป็นบล็อกสี่พร้อมเลขกำกับแผ่นซึ่งเขาได้มาหลังชุดแรกไม่ถึงสี่เดือน มีราคาเคาะครั้งสุดท้ายประมาณ 5 ล้านเหรียญ หรือราว 150 ล้านบาท
แมกเจนตาราคาหนึ่งเซ็นต์ที่มีอัตลักษณ์ไม่เหมือนใครนี้ ในวงการนักสะสมแสตมป์ถือเป็น “โมนาลิซ่า” ของบรรดาแสตมป์ทั้งปวง ในช่วงทศวรรษ 1920 ตกเป็นของผู้ประกอบการสิ่งทอคนหนึ่งที่เล่ากันว่าเสนอราคาสูงกว่าพระเจ้าจอร์จ ที่ 5 แห่งอังกฤษ ในราคา 32,250 เหรียญฯ กว่าจะมาถึงมือของไวตซ์แมนซึ่งได้ต่อจากทายาทของเจ้าของธุรกิจเคมีภัณฑ์ดูปองต์ ผู้ซื้อไว้ในครอบครองเมื่อปี 1980 ก่อนตัวเองต้องเข้าคุกไปด้วยข้อหาอื้อฉาวฆาตกรรมอดีตนักมวยปล้ำโอลิมปิก
ส่วนชุดเจนนี่กลับหัวซึ่งปกติถือเป็นแสตมป์ชุดหายากและมีราคาสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่แผ่นบล็อกสี่นี้ต้องถือเป็นเซ็ตหนึ่งเดียวเท่านั้น จากมุมของแผ่นแสตมป์จำนวน 100 ดวง พร้อมด้วยเลขรันนิ่งของเพลตพิมพ์ โดยที่เหลืออีก 96 ดวงนั้นเจ้าของเดิมได้ฉีกแยกขายเป็นดวง ๆ จะมีก็เฉพาะสี่ดวงติดกันบนแผ่นนี้เท่านั้นที่ยังมีเลขกำกับเช่นเดิม
ตามประวัตินั้นบอกว่าเจ้าของรายแรกซื้อจากที่ทำการไปรษณีย์วอชิงตันดีซีตามราคาหน้าดวง แผ่นละ 24 ดอลลาร์เท่านั้น ทันทีที่รับมาและเห็นว่าเป็นแสตมป์ตลกเพราะพิมพ์ผิด เจ้าตัวก็รีบเผ่นไปก่อนที่ผู้ตรวจการไปรษณีย์จะมาตามหาเพื่อขอคืนไปทำลายเหมือนแผ่นอื่น ๆ จึงได้หลุดรอดมาสู่โลกภายนอก ผู้ครอบครองรายแรกขายไปในราคา 15,000 เหรียญเหนาะ ๆ มากพอที่จะซื้อรถคันใหม่เลยทีเดียว จากนั้นก็ผ่านมาอีกหลายมือจนราคาพุ่งเป็นหลักล้านในปัจจุบัน
การประมูลครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน นอกจากแสตมป์หายากทั้งสองแล้ว ยังรวมถึงหรียญทองคำอินทรีคู่ปี 1933 ชนิดราคา 20 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นของสจ๊วต ไวตซ์แมน เช่นกัน ได้มาจากการประมูลเมื่อปี 2002 ด้วยราคา 7.59 ล้านเหรียญฯ หรือราว 220 ล้านบาท สิ่งสะสมล้ำค่าทั้งสามนี้ โซเทบีส์ประเมินราคาประมูลไว้สูงถึง 25 – 37 ล้านเหรียญฯ โดยแสตมป์แมกเจนต้า และเหรียญราคาน่าจะวิ่งไปถึงอย่างละ 10-15 ล้านดอลลาร์ แสตมป์เจนนี่กลับหัวจะอยู่ที่ราคา 5 – 7 ล้านดอลลาร์
รายได้จากการประมูลจะนำไปสมทบทุนการกุศลของมูลนิธิครอบครัวไวตซ์แมน ซึ่งให้การสนับสนุนการวิจัยด้านการแพทย์ และการศึกษา เช่น วิทยาลัยการออกแบบสจ๊วต ไวตซ์แมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย รวมถึงโครงการพิพิธภัณฑ์ชาวยิวในกรุงแมดริด ประเทศสเปน
ไวตซ์แมนเป็นนักออกแบบและผู้ประกอบการใจบุญที่มีชื่อด้านรองเท้าระดับไฮโซ โดยใช้ชื่อตัวเองเป็นแบรนด์ และยังเป็นนักสะสมมายาวนาน การซื้อสมบัติล้ำค่าทั้งสามชิ้นนี้แต่ละครั้งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แม้ในตอนแรกจะไม่เปิดเผยชื่อก็ตาม อย่างเหรียญอินทรีคู่หลังประมูลได้ ผู้คนรู้จักเพียงชื่อ “มิสเตอร์บิ๊ก” จนผู้คนคาดเดาไปว่าถ้าไม่ใช่บิลเกตส์ ก็อาจเป็นสตีฟจ็อบส์ และไม่เคยมีการเปิดเผยเจ้าของมาก่อนจนกระทั่งโซเทบีส์ประกาศเปิดประมูลเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา
โซเทบีส์ ถึงกับระบุว่าการประมูลครั้งนี้ที่มีของล้ำค่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวถึง 3 อย่างในคราวเดียวกัน อาจถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิต เป็นพินัยกรรมที่แสดงถึงความใฝ่ฝันตลอดกาลและการอุทิศให้แก่ความทะเยอทะยานในวัยเด็กของสจ๊วต ไวตซ์แมน จนได้มาซึ่งของมีค่าเหล่านี้และนำมาแบ่งปันเรื่องราวให้แก่โลกพร้อมกัน ก่อนถึงวันประมูล 8 มิถุนายนนี้ จึงจัดแสดงเป็นนิทรรศการระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2564 ณ แกเลอรี่ของโซเทบีส์ด้วย
“ผมมีความฝันมาชั่วชีวิตที่จะสะสมสิ่งหายากที่สุดที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ทั้งที่เกี่ยวกับแสตมป์และเหรียญ แล้วนำทรัพย์สินสุดพิเศษเหล่านี้ซึ่งซ่อนเร้นมานานหลายสิบปีออกแสดงสู่สายตาสาธารณชน ผมมุ่งมั่นจะทำให้ได้ และได้บรรลุฝันนั้นแล้ว สำหรับฝันของผมในวันนี้ก็คือ ทิ้งให้เป็นตำนานเพื่อการกุศลอันจะเกิดขึ้นจากการจำหน่ายทรัพย์สมบัติเหล่านี้” โซเทบีส์อ้างคำกล่าวของไวตซ์แมนในการประกาศนำออกมาประมูลครั้งล่าสุด
ที่ผ่านมาไวตซ์แมนทำตัวเหมือนผู้ดูแลทรัพย์สินมีค่าที่มีจิตใจเอื้ออารี หลังประมูลได้มาแล้วก็เปิดโอกาสให้สถาบันพิพิธภัณฑ์ขั้นนำต่าง ๆ หยิบยืมไปจัดแสดงแก่สาธารณชนในนิทรรศการพิเศษของแต่ละแห่งอยู่เป็นประจำ
ไวตซ์แมนในวัย 79 ปี บอกด้วยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ตนตัดสินใจนำออกประมูลขายครั้งนี้ ก็เพราะลูก ๆ ไม่ต้องการสืบทอดสมบัติเหล่านี้อีกต่อไป “พวกเขาบอกว่าสิ่งที่พ่อทำมานั้นยิ่งใหญ่แล้ว แต่เราไม่ต้องการจะคอยเป็นกังวล และวิตกจริต เฝ้าคุ้มครอง จนต้องคอยคิดว่าจะทำอะไรกับพวกมันดี”
อีกไม่นานเราคงได้เห็นกันว่า สถิติใหม่ของแสตมป์ราคาแพงที่สุดในโลกจะขยับไปได้ไกลขนาดไหน
ย้อนอ่าน Stampmania ตอนเก่า ๆ ได้ทาง >>>Stampmania
โฆษณา