15 มี.ค. 2021 เวลา 04:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ARM คืออะไร? ทำไม Apple ถึงต้องใช้? แล้วทำไม intel ถึงต้องกลัว?
By อัพน้อย - Security Analysis
ถ้าย้อนเวลากลับไปซักเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มือถือกับคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่เทียบกันแทบจะไม่ได้ในเรื่องของการประมวลผล คือระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในเวลานั้นมันนำมือถือไปไกลมาก
1
ถ้ายังพอจำช่วงเวลานั้นกันได้ เราแทบจะจินตนาการภาพของ Smart Phone ที่ใช้กันอยู่ในสมัยนี้ไม่ออกเลยด้วยซ้ำ
แต่เดี๋ยวนี้สถานการณ์มันได้เปลี่ยนไปแล้วครับ เพราะระบบการประมวลผลของมือถือมันได้เขยิบใกล้คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเรื่อยๆ แบบที่แทบจะเรียกได้ว่าแซงคอมพิวเตอร์ไปแล้วในบางมุม
ทีนี้เราลองมาดูกันครับว่าระบบประมวลของมือถือนั้นเป็นยังไง อะไรที่เป็นสิ่งที่ทำให้มือถือพัฒนาตีตื้นขึ้นมาได้รวดเร็วขนาดนี้ แล้วเราจะสามารถหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้บ้างมั้ย😊
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจระบบประมวลผลแบบง่ายๆกันก่อนครับ
ทั้งคอมพิวเตอร์และ Smart Phone นั้นต่างก็ต้องมีระบบประมวลผลในการรับคำสั่งจากผู้ใช้แบบเราเพื่อเข้าไปประมวลแล้วแสดงสิ่งที่เราสั่งการนั้นๆออกมา แต่สิ่งที่ทำให้ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์และมือถือต้องแตกต่างกันนั้นอยู่ที่ชุดคำสั่งที่ต้องใช้
โดยคอมพิวเตอร์จะต้องประมวลผลชุดคำสั่งที่ซับซ้อนทีละมากๆในคราวเดียวได้ แต่มือถือนั้นจะเน้นประมวลชุดคำสั่งง่ายๆทีละคำสั่ง ซึ่งดูคร่าวๆแล้วก็จะเห็นว่าการประมวลผลของคอมพิวเตอร์นั้นจะซับซ้อนมากกว่ามือถือ
ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆก็เหมือนกับการที่เราเป็นหัวหน้า แล้วมอบงาน 10 อย่างให้กับลูกน้อง 2 คน
คนที่หนึ่งชื่อคอมพิวเตอร์ รับงาน 10 อย่างนี้ไปปุ้บ ก็จัดการทำทุกอย่างพร้อมกันให้เสร็จในคราวเดียว
กับอีกคนชื่อมือถือ รับงาน 10 อย่างนี้ไปแล้วจัดการทำให้เสร็จทีละอย่าง 1-10
แต่ถึงแม้มือถือจะทำงานทีละอย่าง มันก็สามารถทำเสร็จทั้งหมดได้รวดเร็วไม่แพ้คอมพิวเตอร์เลย
จะเห็นว่ามือถือเนี่ยมีระบบการรับคำสั่งแล้วเอาไปประมวลผลที่เหมาะกับตัวมันมากๆ คือทำทีละอย่าง
ซึ่งข้อดีก็คือมันสามารถทำได้ไวและใช้พลังงานในการประมวลผลน้อย ถ้าเราสั่งงานไปแค่ทีละ 1–2 อย่างแบบที่เราใช้งานมือถือกันปกติทุกวันเนี่ย ยังไงระบบประมวลผลของมือถือก็ทำงานได้เสร็จไวกว่าระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์แน่นอน
หลังจากเข้าใจการทำงานของมันคร่าวๆแล้วก็มารู้จักชื่อจริงๆของทั้งคู่กันครับ
โดยตัวประมวลผลของมือถือใช้ระบบ RISC มีชื่อเรียกว่า “ARM”
ส่วนตัวประมวลผลของคอมพิวเตอร์ใช้ระบบ CISC มีชื่อเรียกว่า “x86”
ซึ่งประวัติของ ARM คร่าวๆเนี่ยก็เริ่มจากสมัยก่อนบริษัท Acorn Computers เห็นว่าระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์มันมีความซับซ้อนและใช้พลังงานมาก จึงได้คิดค้นระบบประมวลผลที่ง่ายกว่าและใช้พลังงานน้อยกว่าขึ้นมา
และตั้งชื่อให้กับสถาปัตยกรรมในชิปประมวลผลนี้ว่า Acorn Risc Machine (ARM)
โดยเริ่มแรกจุดประสงค์ของบริษัท Acorn ก็คือจะนำมาใช้งานในคอมพิวเตอร์นั่นแหละ แต่หลังจากนั้น Apple ได้เล็งเห็นว่าระบบนี้มันเหมาะกับการใช้งานใน Smart Phone ที่ Apple กำลังต้องการสร้างอยู่ จึงนำชิปสถาปัตยกรรม ARM นี้มาใช้กับ iPhone ของเค้า
และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จน ARM กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ชิปประมวลผลของ Smart Phone แทบทุกเครื่องในโลกต้องใช้มาถึงทุกวันนี้
จริงๆแล้วก่อนที่ Apple จะมาได้ดีลระบบ ARM กับ Acorn Computers เนี่ย เค้าได้ติดต่อไปหา intel ซึ่งเป็นเจ้าตลาดของการทำระบบประมวลผลในตอนนั้นอยู่ เพื่อที่จะให้ intel มาร่วมงานกันออกแบบชิปประมวลที่ใช้สำหรับ iPhone โดยเฉพาะ
แต่ intel ได้ปฏิเสธไปเพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม iPhone ไม่น่าจะประสบความสำเร็จจนสร้างรายได้ให้กับ intel ได้มากพอ
หลังจากโดน intel ปฏิเสธไม่ร่วมงานด้วย Apple ก็ถึงได้ไปใช้ระบบ ARM ของ Acorn Computers แทน และเราก็น่าจะพอเดาเรื่องราวต่อจากนั้นได้ ว่าทุกวันนี้ intel คงรู้สึกเสียดายและเสียใจกับการตัดสินใจไม่ร่วมงานกับ Apple ในวันนั้นมากแค่ไหน
และถ้าทุกท่านสงสัยว่าเมื่อเทียบกันเเล้วชิปประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM ที่เค้าย้ำนักย้ำหนาว่าใช้พลังงานน้อยกว่าเนี่ย มันใช้พลังงานน้อยกว่า x86 ขนาดไหน?
 
ผมจะลองเปรียบเทียบชิป core i9 ของ intel ซึ่งใช้ระบบ x86 กับชิป A14 ของ Apple Iphone 12 ซึ่งใช้ระบบ ARM ให้ดูครับ
โดย core i9 นั้นใช้พลังงานสูงถึง 125 watts ซึ่งเป็นระดับการใช้พลังงานที่จำเป็นต้องเสียบสายไฟ ก็คือเหมาะกับพวกคอมพิวเตอร์นั่นแหละ หรือถ้าใช้แบตเตอรี่แบบ Laptop ก็จะอยู่ได้ไม่นานมาก
ส่วน A14 นั้นใช้พลังงานแค่ 5 watts เท่านั้น! ซึ่งพลังงานจากแบตเตอรี่เล็กๆในมือถือก็เพียงพอ แถมล่าสุดยังประมวลผลได้ไวกว่า core i9 ไปอีก! คือเร็วกว่าแถมประหยัดพลังงานกว่าด้วย
ที่เรื่องการใช้พลังงานเยอะน้อยมันเข้ามามีผลมากๆกับวงการชิปนี่ก็เป็นเพราะ ถ้าพูดถึงแค่เรื่องความเร็วอย่างเดียว ชิปที่ประมวลผลได้เร็วนั้นมันก็อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับการใช้งานของทุกคนครับ เนื่องจากการใช้งานทั่วไปของคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้จำเป็นต้องใช้ชิปที่เร็วขนาดนั้น
แต่ถ้าชิปนั้นๆมันสามารถทำงานได้เสถียรและใช้พลังงานได้น้อยกว่า แบบนี้ทุกคนจะได้ประโยชน์จากการใช้มันแน่นอน ดังนั้นชิปประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM มันถึงตอบโจทย์ Smart Phone ทั้งโลกอยู่ในตอนนี้
แล้วถ้า ARM มันดีกว่า x86 ขนาดนั้น ทำไมไม่เอา ARM ไปใส่ในคอมพิวเตอร์ไปเลยหละ?
ก็ต้องบอกว่ามีคนเคยพยายามทำแล้วครับ แต่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ เนื่องจาก Programs ในคอมพิวเตอร์ทั้งหลายมันถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับ x86 เท่านั้น ก็คือมันเป็นโปรแกรมที่จะส่งคำสั่งซับซ้อนๆทีละมากๆให้ x86 เอาไปประมวลผลทีเดียว ซึ่ง ARM ที่ถูกออกแบบมาให้รับคำสั่งทีละอย่างๆ มารับคำสั่งที่ซับซ้อนเป็นชุดแบบนี้มันก็รับไม่ไหวครับ เกิดปัญหามากมายจนต้องพับโปรเจคไป
แต่ๆๆอย่าเพิ่งหมดหวังกันไปครับ เพราะล่าสุด Apple สามารถทำได้สำเร็จแล้ว โดยการนำชิปประมวลผลสถาปัตยกรรม ARM เนี่ย ไปใช้ใน MacBook Pro และ MacBook Air รุ่นล่าสุดของเค้า ซึ่งชื่อของชิปตัวนี้ก็คือ “Apple M1”
โดยหลังจากที่ Apple เปิดตัว ชิปตัวนี้ก็เป็นที่ฮือฮาทันที เพราะว่ารีวิวจากผู้ที่ได้ลองใช้งานจริงนั้นออกมาดีมากๆ ทำให้หลายๆคนบอกว่าการมาถึงของมันอาจจะ Disrupt x86 และเปลี่ยนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทั้งหมดไปได้เลย
โดยคนที่พึ่งพา x86 แล้วน่าจะโดนผลกระทบมากที่สุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นบริษัท intel ที่เคยปฏิเสธ Apple ไปนั่นเองครับ
1
และล่าสุดกว่านั้นไปอีกที่เป็นข่าวดังมากๆเลยก็คือบริษัท Nvidia เจ้าตลาด GPU หรือผู้ผลิตการ์ดจอรายใหญ่ของโลก แจ้งว่าได้ทำการปิดดีลเข้าซื้อ ARM ไปเรียบร้อยแล้วครับที่ $40 billion หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีหลายบริษัทใหญ่ๆทั้ง Microsoft, Google และ Qualcomm ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับดีลนี้มากๆ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการผูกขาด
แต่คนที่น่าจะโดนผลกระทบในเรื่องนี้มากที่สุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหนอีกแล้ว เป็น intel เจ้าเดิมนั่นแหละครับ🤣
เนื่องจาก intel กับ Nvidia เนี่ย เรียกได้ว่าที่ผ่านมาเค้าทำงานและออกแบบร่วมกันมาตลอด โดย intel ทำระบบประมวลผล ส่วน Nvidia ก็ทำการ์ดจอและส่วนใหญ่การ์ดจอของ Nvidia จะใช้งานร่วมกับระบบประมวลผลของ intel ได้ดี
แต่หลังจากที่ Nvidia ซื้อ ARM ไปแล้ว มันจะกลายเป็น Nvidia จะมีระบบประมวลผลเป็นของตัวเอง และจากพาร์ทเนอร์ก็จะกลายมาเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ intel ทันทีนั่นเอง
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็แสดงออกไปที่ราคาหุ้นของ Nvidia กับ intel ครับ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ Nvidia นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า ส่วนราคาหุ้นของ intel นั้น 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 เท่า เท่านั้นครับ
โดยการปรับตัวขึ้นมากว่า 20 เท่าของหุ้น Nvidia นั้นส่วนหนึ่งมาจากกระแสของ Cyptocurrency ด้วยครับ เนื่องจากการ์ดจอเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการขุดเหรียญ ส่งผลให้การ์ดจอของ Nvidia นั้นขายดิบขายดี คนแย่งกันซื้อจนขาดตลาดไปช่วงหนึ่งเลยครับ
สรุป
ระบบประมวลผลแบบสถาปัตยกรรม ARM คือเทรนด์ใหญ่ของโลกในยุคนี้จริงๆครับ เราจะเห็นว่ามีทั้งฝ่ายที่จะได้ประโยชน์จากการมาของมัน และฝ่ายที่จะเสียประโยชน์หรืออาจจะถึงขั้นถูก Disrupt ไป เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์หุ้นนั้นจะดูแค่งบการเงินซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนเรื่องราวในอดีตของบริษัทอย่างเดียวไม่ได้ครับ ต้องอย่าลืมมองไปข้างหน้าด้วยว่าบริษัทจะเติบโตต่อไปยังไง มีความเสี่ยงจากตรงไหนบ้าง โดยเฉพาะในเคสของ intel กับ Apple นี่เราจะเห็นเลยว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็เป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆครับ😊
1
ปล. ท่านไหนต้องการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อสามารถดูที่คลิปนี้ได้เลยค้าบ (https://youtu.be/OuF9weSkS68)
Facebook Page :
โฆษณา