15 มี.ค. 2021 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม
ORIGINAL: ประเทศไทยร่วมอนุสัญญาแรมซาร์ ขึ้นทะเบียน Ramsar Sites 15 แห่ง
มาจะกล่าวบทไปถึง Ramsar Sites 15 แห่งของประเทศไทย ไฉไลและทรงคุณค่าระหว่างประเทศ Rate นี้แม่ให้คะแนนเต็ม 10 สำคัญแค่ไหนตามมาค่ะ!
เจ้า Ramsar Sites หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่ “หายาก” มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนกน้ำ และปลา ตามอนุสัญญาแรมซาร์ โดยประเทศที่มี Ramsar Sites มากที่สุดในโลก คือ สหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) ที่มีทั้งสิ้น 169 แห่ง ส่วนในประเทศไทยเราถือว่าเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มี Ramsar Sites มากที่สุด
เห็นอย่างนี้แล้ว มันมีที่ไหนบ้าง? มามะ มาชม 15 อันดับ Ramsar sites ของไทยกัน! แต่อย่านะคะ อย่าลืมว่าแต่ละที่ Sensitive มากกกกก และรอให้เราช่วยกันดูแลอยู่นะคะ …
#อันดับที่1 พรุควนขี้เสียน จ. พัทลุง
(ลำดับที่ 948 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 13 กันยายน พ.ศ. 2541)
‘พรุควนขี้เสียน’ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเป็นป่าพรุที่มีน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งทำรังวางไข่ของนกกาบบัว ที่พบได้ที่นี่เพียงที่เดียว
#อันดับที่2 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ. บึงกาฬ
(ลำดับที่ 1098 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544)
‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง’ บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ เป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพในฤดูหนาวไม่น้อยกว่า 33 ชนิด และพบนกที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธ์ุในประเทศไทย คือ เป็ดดำหัวดำ
#อันดับที่3 ดอนหอยหลอด จ. สมุทรสงคราม
(ลำดับที่ 1099 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544)
'ดอนหอยหลอด' พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่หายาก หาดเลนเป็นที่อาศัยของหอยหลอดมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
#อันดับที่4 ปากแม่น้ำกระบี่ จ. กระบี่
(ลำดับที่ 1100 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544)
‘ปากแม่น้ำกระบี่’ พื้นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ขึ้นหนาแน่นมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์นกที่ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกรวมทั้งถิ่นอาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของประเทศไทย
#อันดับที่5 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ. เชียงราย
(ลำดับที่ 1101 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544)
‘เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย’ บึงน้ำจืดขนาดเล็กแหล่งอาศัยนกอพยพอย่างน้อย 121 ชนิดและนกชนิดพันธุ์หายากซึ่งอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก
#อันดับที่6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง)
(ลำดับที่ 1102 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544)
‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จประเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง)’ เป็นป่าพรุดั้งเดิมผืนใหญ่ที่สุดของไทยที่คงเหลืออยู่ พบพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นอย่างน้อย 50 ชนิดและสัตว์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกตะกรุม นกเปล้าใหญ่ เป็นต้น
#อันดับที่7 อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง จ. ตรัง
(ลำดับที่ 1182 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 14 สิงหาคม 2545)
‘อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง’ เป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์ที่หายากและอยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม เช่น นกซ่อมทะเลอกแดง นกฟินฟุต และพะยูน เป็นที่พักของนกอพยพจากแอฟริกา คือ นกหัวโตกินปู ซึ่งใน 1 ปีอาจพบได้เพียงไม่กี่ครั้ง
#อันดับที่8 อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากน้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จ. ระนอง
(ลำดับที่ 1183 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545)
‘อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากน้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์’ มีระบบนิเวศหลากหลายเป็นพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่พบต้นโกงกางขนาดใหญ่มีอายุมากกว่า 300 ปี และได้รับประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประเภทป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
#อันดับที่9 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ. สุราษฎร์ธานี
(ลำดับที่ 1184 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545)
‘อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง’ มีเกาะขนาดเล็กใหญ่ประมาณ 42 เกาะเป็นแหล่งพักพิงของปลาในวัยเจริญพันธุ์และวัยอ่อนของปลาเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาทู ปลารัง ปลาเก๋า เป็นต้น และเป็นแหล่งปะการังที่งดงามที่สุดของไทย
#อันดับที่10 อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ. พังงา
(ลำดับที่ 1185 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545)
‘อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา’ เป็นอ่าวตื่นล้อมรอบด้วยป่าชายเลนและเป็นที่อาศัยของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวนและนกนานาชนิดเป็นแหล่งพันธุกรรมพืชและสถานอนุบาลสัตว์น้ำ
#อันดับที่11 อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์
(ลำดับที่ 2238 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 14 มกราคม พ.ศ. 2551)
‘อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด’ ตั้งอยู่เชิงเขาของเทือกเขาสามร้อยยอดเป็นแหล่งพักพิงและสร้างรังวางไข่ของนกอพยพและเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือปลาที่ใหญ่ที่สุดในไทยซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
#อันดับที่12 กุดทิง จ. บึงกาฬ
(ลำดับที่ 1926 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552)
‘กุดทิง’ มีลักษณะเป็นกุด มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พบพันธุ์ปลาเฉพาะถิ่นและเป็นแหล่งพักพิงของนกอพยพที่มีสถานภาพถูกคุกคามระดับโลก คือ เป็ดดำหัวดำ
#อันดับที่13 เกาะกระ จ. นครศรีธรรมราช
(ลำดับที่ 2152 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556)
‘เกาะกระ’ เป็นเกาะขนาดเล็กบริเวณอ่าวไทยเป็นแหล่งปะการังหายาก และแหล่งวางไข่ที่สำคัญของเต่าตนุและเต่ามะเฟือง
#อันดับที่14 หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง จ. พังงา
(ลำดับที่ 2153 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 12 สิงหาคม 2556)
‘หมู่เกาะระ-เกาะพระทอง’ มีความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นถิ่นอาศัยของเต่าทะเล และนกตะกรุมซึ่งเป็นชนิดพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์
#อันดับที่15 แม่น้ำสงครามตอนล่าง จ. นครพนม
(ลำดับที่ 2420 ของทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ขึ้นทะเบียน 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมีปากบุ่งป่าทามผืนใหญ่ที่สำคัญยังคงเหลืออยู่ในภาคอีสานพบสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งคือปลาบึกปลาตองลายปลายี่สก
แหล่งที่มา :
Writer: รัฐรวี อุสาวัฒนสิน
Graphic Designer: Tae
โฆษณา