15 มี.ค. 2021 เวลา 11:19 • ไลฟ์สไตล์
สวัสดีครับ วันนี้พ่อค้าแม่ค้าแถวบ้านผม ดูคึกคักกันพอสมควร เพราะพรุ่งนี้เป็นวันประกาศผลสมัครเศรษฐีใหม่ครั้งที่ 2 ของเดือนมีนาคม
พี่ๆคนไหนอยากเป็นเศรษฐี ลองหาซื้อใบสมัครเศรษฐีได้ครับ มีขายทั่วไป หากได้เป็นเศรษฐี เศรษฐีนีแล้วอย่าลืมกันนะจ๊ะ พ่อจ๋าแม่จ๋า😁😁😁
เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ ก่อนหน้านี้ผมได้นำแสตมป์ชุดต่างๆ มาลงให้พี่ๆ ได้ดูกัน ให้พอได้ย้อนไปคิดถึงวัยเด็ก
วันนี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับการสะสมแสตมป์กันครับ
ย้อนกลับไป การสะสมแสตมป์ เป็นงานอดิเรกที่นิยมกัน อาจเพราะในอดีตมีการส่งจดหมายกันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับแสตมป์ไทยนั้น มีความหลากหลายและความสวยงามทั้งยังมีคุณค่าในตัวเองด้วย
แต่ในปัจจุบัน จดหมายกระดาษ ถูกแทนที่ด้วยจดหมายอิเลคทรอนิกส์ ทำให้จดหมายเริ่มหมดไปจากสังคม หนำซ้ำการส่งจดหมายในปัจจุบัน ยังมีแสตมป์สำเร็จรูปที่ปริ้นท์จากเคาท์เตอร์แปะให้ด้วย 😭😭😭
แสตมป์สำเร็จรูป
การเก็บสะสมแสตมป์มีทั้งแบบใช้แล้ว และไม่ผ่านการใช้งาน
แสตมป์ที่ใช้แล้ว จะมีรอยประทับไปรษณีย์ (Postal Marking) ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
เสน่ห์ของแสตมป์ใช้แล้ว คือ รอยประทับนี่หละครับ ที่จะบอกเราถึงเรื่องราวการเดินทาง ยุคสมัยของแสตมป์นั้น ไว้มีโอกาสจะนำมาเสนอครับ
1
ส่วนแสตมป์ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน ไม่มีรอยประทับ สะอาดสวยงาม แสตมป์ประเภทนี้มีราคาสูงกว่าแบบใช้แล้ว แต่การเก็บรักษาจะยากกว่าแสตมป์ใช้แล้วครับ
1
แสตมป์เก่าๆ ที่มีสภาพดี จะเรียกว่า mint หรือสภาพนอก แบบนี้ขายต่อจะได้ราคาสูงครับ มาดูกันว่ามีลักษณะอย่างไรครับ
อับดับแรกฟันแสตมป์ครบ สวย ไม่หัก ขาดหรือแหว่ง
สภาพดวงแสตมป์ ไม่มีรอยพับ รอยถลอก ขาวสะอาด ด้านหน้าไม่ซีด ด้านหลังไม่เหลืองหรือมีสนิม
หากแสตมป์ยังไม่ได้ใช้ ต้องมีกาวด้านหลังครบ แต่ถ้าเป็นแสตมป์ใช้แล้ว ตราประทับต้องไม่เลอะ ตัวอักษรคมชัด สามารถอ่านข้อความได้ สุดท้ายถ้าเป็นแสตมป์ พ.ศ. เก่าๆ อนุโลมให้มีฮินจ์ได้ครับ
ทีนี้เรามาดูกันครับว่า อุปกรณ์สำคัญในการสะสมแสตมป์มีอะไรบ้าง
ปากคีบแสตมป์
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้หยิบหรือจับแสตมป์แทนมือ ถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นมาก เพื่อป้องกันเหงื่อหรือความชื้นของนิ้วมือไปทำปฏิกริยากับกาวที่อยู่ด้านหลังแสตมป์ ทำให้แสตมป์มีจุดเหลือง ๆ และเสื่อมค่าลงหลังจากเก็บแสตมป์ไปหลายปี
1
ปากคีบสำหรับคีบแสตมป์
ปากคีบแสตมป์นี้ ต้องเป็นแบบที่ผลิตมาโดยเฉพาะ กล่าวคือ ปลายต้องบางเพื่อสามารถจับแสตมป์ออกจากอัลบั้มได้สะดวก แต่ปลายต้องไม่คมจนทำให้แสตมป์เป็นรอยจากการหยิบจับ
อัลบั้มแสตมป์
สำหรับเก็บแผ่นเมาท์ ซึ่งมีดวงแสตมป์บรรจุอยู่ในแผ่นเมาท์อีกทีนึงครับ ไว้สำหรับรักษาสภาพของแสตมป์ แผ่นเมาท์มีตั้งแต่ 1 ช่อง ถึง 7 ช่อง ให้เลือกใช้ให้เหมาะกับรูปแบบแสตมป์ครับ
อัลบั้มแสตมป์
แผ่นเมาท์ มีตั้งแต่ 1 ช่อง ถึง 7 ช่องครับ (ในรูปไม่มี 3 ช่องครับ)
สามารถใช้แผ่นเมาท์เป็นที่เก็บแสตมป์อย่างถาวร เพราะด้านหลังเป็นแผ่นเซลลูลอยด์ทำให้กาวที่อยู่ด้านหลังไม่เกาะติดอัลบั้ม อัลบั้มแสตมป์สามารถป้องกันความชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสนิมแสตมป์ ได้เป็นอย่างดี
คู่มือแสตมป์
เป็นหนังสือที่บอกรายละเอียดของแสตมป์ตั้งแต่ชุดแรกจนถึงชุดเกือบปัจจุบัน มีทั้งที่ไปรษณีย์ไทยจัดทำและร้านเอกชนจัดทำซึ่งถ้าร้านเอกชนจัดทำจะบอกราคาท้องตลาดด้วย และจะมีห้วงเวลาออกเล่มใหม่อยู่ที่ 8 ปี
2
คู่มือสะสมแสตมป์ ด้านซ้ายเป็นเล่มเก่าที่เคยใช้ มีแสตมป์ตั้งแต่ พ.ศ.2426 ถึง พ.ศ.2543 เล่มขวา คือเล่มที่ใช้ปัจจุบัน มีตั้งแต่ พ.ศ.2426 ถึง พ.ศ.2557
แว่นขยาย
ใช้ในการส่องหารายละเอียดเล็กๆ บนดวงแสตมป์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น 😅😅
แว่นขยาย
มาตรวัดฟันแสตมป์
เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่จะช่วยบอกขนาดฟันของแสตมป์ ซึ่งแสตมป์แต่ละดวงจะมีขนาดฟันแสตมป์ไม่เท่ากันแล้วแต่โรงพิมพ์ที่จัดพิมพ์แสตมป์ชุดนั้น ๆ ทำให้นักสะสมทราบรายละเอียดการพิมพ์มากขึ้น
2
มาตรวัดฟันแสตมป์
เกร็ดความรู้ครับ
ฮินจ์ (Hinge)
เป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมแผ่นเล็ก ๆ พับครึ่ง และฉาบด้วยกาวบางๆ เป็นอุปกรณ์การสะสมแสตมป์ในสมัยก่อน ซึ่งค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยอัลบั้มแสตมป์แบบเสียบซึ่งถูกคิดค้นในเวลาต่อมา
ด้านหนึ่งของฮินจ์จะติดแน่นอยู่กับแสตมป์ และอีกด้านหนึ่งจะติดอยู่กับสมุดสะสม
รูปแผ่นฮินจ์
แสตมป์ใช้แล้วสามารถลอกเอาฮินจ์ออกโดยการแช่น้ำให้กาวละลายและลอกเอาฮินจ์ออกมา แต่สำหรับแสตมป์ที่ยังไม่ได้ใช้การแช่น้ำจะทำให้กาวแสตมป์ละลายออกมาด้วย จึงมักปล่อยฮินจ์ส่วนที่ติดด้านหลังแสตมป์ทิ้งไว้ แสตมป์ไม่ใช้ส่วนใหญ่รุ่นเก่า ๆ มักพบรอยฮินจ์นี้
สนิมแสตมป์
มักจะเกิดขึ้นกับแสตมป์ที่ยังไม่ใช้งาน เกิดจากการหยิบจับแสตมป์ด้วยมือเปล่า เหงื่อหรือนำ้มันจากนิ้วมือทำปฏิกิริยากับกาวแสตมป์ เกิดเป็นคราบเหมือนสนิมด้านหลังแสตมป์
รูปสนิมแสตมป์
กาวแสตมป์
เป็นสารที่เคลือบอยู่ด้านหลังดวงแสตมป์เพื่อความสะดวกในการติดบนจดหมาย สมัยแรก ๆ การฉาบกาวต้องทำด้วยมือโดยใช้แปรงหรือลูกกลิ้งจุ่มลงในกาวแล้วทาบนกระดาษ การฉาบกาวด้วยเครื่องพิมพ์ถูกคิดค้นโดยบริษัท เดอ ลา รู (De La Rue)
1
ฟันแสตมป์
รอยฉีกที่กิดจากการปรุรู รอบดวงแสตมป์เพื่อเพิ่มความสะดวกในการฉีก วิธีการวัดแบบมาตรฐานที่ใช้ในวงการแสตมป์ วัดจากจำนวนฟัน หรือ รู ในช่วงระยะ 2 เซนติเมตร ตัวอย่างเช่น ฟันขนาด 12 หมายถึงมีฟัน 12 ซี่ใน 2 เซนติเมตรทั้งแนวตั้งและแนวนอน แต่ถ้าขนาดฟันในแต่ละแนวไม่เท่ากัน จะระบุทั้งสองค่า เช่น ฟันขนาด 13×11 หมายถึงแนวนอนมี 13 ซี่ และแนวตั้ง 11 ซี่ในระยะดังกล่าว
ขนาดของฟันแสตมป์โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณระหว่าง 11 จนถึง 16 ถ้าฟันห่างเกินไปจะทำให้ฉีกแสตมป์ออกจากกันยาก แต่ถ้าถี่เกินไปจะทำให้แสตมป์แยกออกจากกันง่ายแม้ไม่จงใจจะฉีก
หวังว่าบทความนี้ จะให้ความรู้เรื่องการสะสมแสตมป์แก่พี่ๆ เพื่อนๆ บ้างนะครับ
ขอบคุณที่ติดตามครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา