15 มี.ค. 2021 เวลา 13:20 • การเมือง
“ต้องมีอีกกี่ศพ UN ถึงจะเข้ามาช่วยเหลือ?” เสียงจากประชาชนเมียนมาเรียกร้องหลักการ R2P
.
นับตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 เหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมายังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยทางกองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรมให้กับประเทศของตน จวบจนปัจจุบันมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 130 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากทางกองทัพฯ ไม่มีท่าทีจะอ่อนข้อลงแต่อย่างใด
.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนเมียนมาจำนวนมากต่างออกมาเรียกร้องให้องค์กรสหประชาชาติ (UN) ออกมาปกป้องพวกเขาจากการกระทำของกองทัพ โดยมีข้อความถึงยูเอ็นว่า “ต้องมีอีกกี่ศพ ยูเอ็นถึงจะเข้ามาช่วยเหลือ?” ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรระหว่างประเทศกล่าวว่า องค์กรสหประชาชาติควรรับฟังข้อเรียกร้องจากผู้ประท้วงในเมียนมาที่ร้องขอให้นำหลักความรับผิดชอบคุ้มครอง (R2P) มาใช้เพื่อคุ้มครองพวกเขา แต่ไม่รวมถึงการแทรกแซงทางการทหาร
.
“หลักความรับผิดชอบคุ้มครอง (R2P) คืออะไร?”
หลักความรับผิดชอบคุ้มครอง (Responsibility to Protect) คือ หลักการในการปกป้องประชาชนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยหลักการนี้ได้กลายมาเป็นหลักการสำคัญของสหประชาชาติ นับตั้งแต่มีการรับรองจากที่ประชุมสหประชาชาติในปี 2548
.
แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในรวันดา และในอดีตประเทศยูโกสลาเวียช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการแทรกแซงและอธิปไตยของรัฐได้พัฒนาแนวคิด R2P ตั้งแต่ปี 2544
.
ที่ผ่านมากองทัพนานาชาติภายใต้สหประชาชาติได้เข้าแทรกแซงด้วยกำลังทางการทหารในประเทศที่มีความขัดแย้งต่างๆ จนแนวคิด R2Pถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความจำเป็นในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งในซีเรียและลิเบีย
.
แต่ทั้งนี้แนวคิด R2P กลับประสบความสำเร็จในการยุติความรุนแรงระหว่างภายในเคนยา ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 5 กลุ่มในปี 2551 ไม่ให้ลุกลามเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยใช้วิธีการเจรจาทางการทูต แทนการใช้กำลังทางการทหาร ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้นานาชาติเห็นถึงความสำคัญของหลักการ R2P ที่เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งความรุนแรงภายในประเทศได้
“ผู้ประท้วงเมียนมาเรียกร้องให้ยูเอ็นเข้ามาช่วยเหลือ”
คริส ซิโดติ อดีตสมาชิกคณะค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเมียนมาของยูเอ็น กล่าวว่า “ควรใช้หลัก R2P เพื่อสนับสนุนการต่อต้านกองทัพในเมียนมา เช่น การห้ามค้าอาวุธทั่วโลก การลงโทษตามเป้าหมายและการตรวจสอบสิทธิ แต่ไม่ควรมีการแทรกแซงด้วยมาตรการทางทหาร ผมไม่อยากเห็นเมียนมาเป็นแบบอัฟกานิสถานและอิรัก”
.
“อย่างไรก็ตาม R2P จะสามารถยกระดับมาตรการอื่น ๆ ให้ตามมาได้ ดังนั้นการเรียกร้องจะยังคงมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพมาก แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นหมวกกันน็อคสีน้ำเงิน(กองกำลังของสหประชาชาติ) หมวกกันน็อคสีเขียว(กองกำลังจาก NATO) หรือหมวกจากทหารชาติอื่น ๆ บนถนนในย่างกุ้งเร็ว ๆ นี้” ซิโดติ กล่าวทิ้งท้าย
.
ทางด้านเจ้าหน้าที่องค์กรสหประชาชาติพร้อมกับประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ให้คำมั่นว่ากองทัพเมียนมาจะต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน แต่ก็ยังไม่มีผลสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยแนวร่วมของกลุ่มประชาสังคมในเมียนมาได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติส่งภารกิจแทรกแซง
.
อ้างอิง :
โฆษณา