16 มี.ค. 2021 เวลา 07:13 • อาหาร
ย้อนดูราคาอาหารและวัตถุดิบย้อนหลัง 10 ปี
หนึ่งในเรื่องราวที่คน gen x รุ่นใหญ่หลาย ๆ คนชอบเล่ากันติดปากคือ การเคยกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาทเมื่อ 30 ปีก่อน หรือถัดมาหน่อยก็เป็นข้าวแกงจานละ 20 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งหาแทบไม่ได้แล้วในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าถ้าหากเจอข้าวแกงราคา 20 บาทนี่ถือว่าเป็นของหายาก ต้องตั้งคำถามกันเลยว่าขายราคานี้ จะอยู่รอดได้อย่างไร
แน่นอนว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ค่าวัตถุดิบต่าง ๆ ทั้งเนื้อ ไข่ ผักก็ต้องเพิ่มมากขึ้นตาม จึงส่งผลให้ราคาอาหารตามสั่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่เราควักเงินจ่ายค่าข้าวกระเพราไข่ดาว หรือข้าวคะน้าหมูกรอบจานละ 50 แล้วก็อดไม่ได้ต้องนึกถึงวันที่เงิน 50 บาทซื้อข้าวได้ถึงสองจาน จนเกิดความสงสัยว่าราคาอาหารขึ้นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
วันนี้ Sertis จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนเวลา ส่องดาต้าดูกันว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วทั้งอาหารตามสั่งและวัตถุดิบในการทำอาหารอาทิ น้ำมัน ไข่ไก่ เนื้อหมู และผักนั้นราคาเพิ่มขึ้นมามากเท่าไหร่ และการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบและราคาอาหารนั้นสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร ไปหาคำตอบกันเลย
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
10 ปีผ่านมา ราคาอาหารตามสั่งปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรามาเริ่มต้นที่ราคาอาหารตามสั่ง อาหารยอดฮิตที่ช่วยชีวิตคนทำงานในวันเร่งรีบ ข้อมูลที่เรารวบรวมมานี้จะเป็นราคาอาหารตามสั่งย่านสีลมที่สำรวจโดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย และจะเริ่มต้นเปรียบเทียบด้วยข้อมูลของปี 2555 เป็นต้นไป มาดูกันว่า 10 ปีผ่านมา อาหารตามสั่งของคนไทยเราราคาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
เริ่มแรกในปี 2555 นั้น ราคาอาหารตามสั่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.6 บาท โดยมีราคาต่ำสุดและสูงสุดอยู่ที่ 25-40 บาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนในปี 2558 มีการปรับขึ้นอย่างมากกลายเป็น 40 บาท และค่อย ๆ ขยับขึ้นจนแตะ 50.2 บาท ในปี 2562 และข้อมูลล่าสุดในปี 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 55 บาท และราคาสูงสุดต่ำสุดอยู่ที่ 35-70 บาท แม้ราคาอาหารตามสั่งนั้นมีรูปแบบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1-3 บาทแต่ก็เรียกได้ว่ามาไกลมากพอสมควร
ไปต่อกันที่ราคาวัตถุดิบกันเลย จะได้รู้กันว่าเพราะอะไรราคาอาหารถึงมาไกลขนาดนี้
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ไข่ไก่และหมูราคาผันผวน
มาต่อกันที่ราคาวัตถุดิบกัน โดยวัตถุดิบที่เราจะมาส่องราคากันในวันนี้ได้แก่ เนื้อหมู ไข่ไก่สด ผักคะน้า พริกขี้หนู น้ำมันปาล์ม และข้าวสาร ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดนี้ประกอบอาหารได้หลายเมนูเลยทีเดียว
มาเริ่มต้นกันที่ราคาไข่ไก่กันก่อน โดยเราจะใช้เป็นราคาไข่ไก่ 10 ฟอง เริ่มต้นในปี 2555 ราคาไข่ไก่ 10 ฟองโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25.6 บาท ต่อมาในปี 2556 เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 30.6 บาท แต่ในปี 2558 ลดลงอย่างหนักเหลือ 26.9 บาท และในปี 2559 กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 29.5 บาท ก่อนจะลดลงอีกครั้ง และค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 27.5 บาท โดยรวมแล้วราคาไข่ไก่นั้นมีการผันผวนค่อนข้างมาก มีการเพิ่มขึ้นและลดลงตลอด จากราคา 25.6 ในปี 2555 มาจนถึงราคา 27.5 ในปัจจุบันก็ยังถือว่าพอไหว
วัตถุดิบต่อไปที่เราจะมาดูกันคือ ราคาเนื้อหมู วัตถุดิบที่แทบจะขาดไม่ได้ในร้านอาหารตามสั่ง ในปี 2555 นั้น ราคาเนื้อหมูเฉลี่ยอยู่ที่ 56.67 บาทต่อกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลา 2 ปีจนแตะ 75.08 บาทในปี 2557 จากนั้นก็ลดลงมาอยู่ที่ 66.96 บาทในปี 2558 ปรับขึ้นเล็กน้อยในปีถัดมา แต่ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือแค่ 55.68 ในปี 2561 แล้วจึงกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างหนักจนถึง 75.66 บาทในปัจจุบัน
ผันผวนไม่น้อยเหมือนกันสำหรับราคาเนื้อหมู จากราคาเริ่มต้นที่ 56.67 บาทในปี 2555 จนเพิ่มมาเป็น 75.66 บาทในปัจจุบันนั้นก็ถือว่ามาไกลพอสมควรเลย และหากคิดจริง ๆ ราคาเนื้อหมูก็วิ่งแตะ 75 บาทมาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2557 จึงถือว่าเป็นวัตถุดิบที่มีการปรับราคาค่อนข้างสูง
ที่มา: กรมการค้าภายใน
คะน้าพริกขี้หนู ราคาขึ้นสุดลงสุด
มาต่อกันที่เรื่องผัก ๆ กันบ้าง ผักที่เราจะมาย้อนดูราคากันในวันนี้ได้แก่ ผักคะน้า และพริกขี้หนู วัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ในหลาย ๆ เมนูนั่นเอง
 
เริ่มต้นที่ผักคะน้ากันก่อนเลย ในปี 2555 ผักคะน้ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 31.35 บาท และลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือ 22.8 บาทในปี 2562 แม้จะปรับราคาขึ้นมาเป็น 27.65 ในปี 2563 แต่ในปี้นี้ก็ลดลงไปอยู่ที่ 20.19 บาทอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่ราคาตกมากที่สุดในทั้งวัตถุดิบที่เราคัดเลือกมา เห็นแบบนี้คะน้าหมูกรอบน่าจะแพงที่หมูกรอบเป็นหลักแล้วแหละ
 
มาต่อกันที่พริกขี้หนู ในปี 2555 พริกขี้หนูมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ขีดละ 4.48 บาท มีการลดลงและเพิ่มขึ้นสลับกันเล็กน้อย และปรับพุ่งสูงขึ้นในปี 2558 เป็น 6.07 บาท แล้วจึงค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมาอยู่ที่ 4.79 บาทในปี 2561 จากนั้นจึงปรับตัวขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวกลายเป็น 11.92 บาทในปี 2564 ถือว่าเป็นอีกวัตถุดิบที่มีการปรับราคาที่พุงสูงขึ้นมากกว่าใครเพื่อน
ที่มา: กรมการค้าภายใน
ปาล์มและข้าวปรับราคาขึ้นพอตัว
มาเข้าสู่หมวดของน้ำมันกันต่อ เราได้เลือกเป็นราคาของน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกครัวเรือน ราคาต่อขวดของน้ำมันปาล์มในปี 2555 นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 41.48 บาท ปรับขึ้นลงสลับกันจนอยู่ที่ 40.61 บาทในปี 2559 จากนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 31.29 บาทในปี 2562 และปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เพิ่มมาเป็น 46.17 บาทในปัจจุบัน
 
สำหรับน้ำมันปาล์มนั้นมีราคาปรับขึ้นและลงผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับราคาปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก จาก 41.48 มาเป็น 46.17 บาท แต่ในระหว่างนั้นก็มีช่วงที่ราคาลดลงอย่างหนักเช่นเดียวกัน
วัตถุดิบสุดท้ายที่เราจะเปรียบเทียบกันในวันนี้คือราคาข้าวสาร โดยจะใช้เป็นราคาต่อ 1 กิโลกรัม 10 ปีที่แล้วในปี 2555 นั้น ราคาข้าวสารโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 กิโลกรัม 37.65 บาท ในปีถัดมามีการเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 40.33 บาท และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำจนแตะที่ 43 บาทในปัจจุบัน จาก 37.65 บาทมาเป็น 43 บาทในปัจจุบัน ก็ถือว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจนัก และสมเหตุสมผลตามอัตราเงินเฟ้อ
ราคาวัตถุดิบ VS ราคาอาหาร
หากนำสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีของราคาวัตถุดิบมาเปรียบเทียบกันราคาอาหารแล้ว จะพบว่าราคาวัตถุดิบแต่ละชนิดนั้นมีการปรับสูงขึ้นและต่ำลงสลับกันไป ในขณะที่ราคาอาหารจะมีการปรับตัวสูงขึ้นด้วยอัตราที่ใกล้เคียงกันในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของราคาวัตถุดิบมีทั้งวัตถุดิบที่ราคาตกลงอย่างหนัก อย่างผักคะน้า ลดลงรวมแล้วกว่า 35.6 เปอร์เซ็นต์ และวัตถุดิบที่ราคาพุ่งสูงกว่าเท่าตัวเช่น พริกขี้หนู ซึ่งเพิ่มขึ้นโดยรวมกว่า 166.1 เปอร์เซ็นต์ ราคาวัตถุดิบแต่ละอย่างต่อให้จะปรับราคาขึ้นมากหรือน้อย หรือจะมีการลดราคาลงบ้าง โดยรวมก็ยังถือว่ามีปรับราคาสูงขึ้นในท้ายที่สุดอยู่ดี เพราะฉะนั้นการทำอาหารแต่ละชนิดที่มีวัตถุดิบแตกต่างกัน อาจมีบางชนิดที่ปรับราคาขึ้นสูงทำให้แม้วัตถุดิบอีกชนิดจะมีกำลังราคาตก แต่เมื่อถัวเฉลี่ยกันแล้วก็ทำให้ราคาอาหารต้องปรับขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
หากเรียงลำดับกันจะพบว่าวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงที่สุดคือพริกขี้หนู ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมามีการปรับราคาขึ้นมากถึง 166.1 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือตัวราคาอาหารตามสั่งเองมีการปรับราคาสูงถึง 74.1 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเป็นราคาเนื้อหมู มีการปรับราคาขึ้น 33.5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวสารมีการปรับราคาขึ้น 14.2 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันปาล์มมีการปรับราคาขึ้น 11.3 เปอร์เซ็นต์ และไข่ไก่สดมีการปรับราคาขึ้น 7.4 เปอร์เซ็นต์ และลำดับสุดท้ายคือผักคะน้า ซึ่งมีการปรับลดราคาลงไปอย่างหนักกว่า 35.6 เปอร์เซ็นต์
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำอัตราการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบโดยรวมมาเปรียบเทียบกับอัตราการปรับขึ้นของราคาอาหาร พบว่าในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ราคาอาหารตามสั่งย่านสีลมนั้นมีการปรับราคาขึ้นกว่า 74.1 เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 8.23 เปอร์เซ็นต่อปี ในขณะที่ราคาวัตถุดิบนั้นมีการปรับราคาขึ้นเพียง 13.8 เปอร์เซ็นต์ หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 1.53 เปอร์เซ็นต่อปี
สรุปได้ว่าถึงแม้ทั้งราคาอาหารและราคาวัตถุดิบจะมีการปรับตัวขึ้นทั้งคู่ แต่ก็เป็นการปรับขึ้นที่ไม่สอดคล้องกัน ราคาอาหารมีอัตราการปรับขึ้นสูงเร็วกว่ามาก ในขณะที่ราคาวัตถุดิบปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การที่ราคาอาหารมีสัดส่วนการปรับขึ้นสูงอาจมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ราคาวัตถุดิบที่เลือกมาคำนวณเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น อาจมีราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ปรับขึ้นจนกระทบกับราคาอาหาร หรือปัจจัยเรื่องราคาค่าเช่าที่ ซึ่งทำให้อาหารบางพื้นที่ต้องปรับราคาขึ้นสูง เป็นต้น
บทความโดย: ทีม Sertis
โฆษณา