16 มี.ค. 2021 เวลา 11:13 • ประวัติศาสตร์
• การเมือง 101 | ทุนนิยมคืออะไร?
ทุนนิยม (Capitalism) เป็นระบบทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีต้นแบบมาจากระบบเศรษฐกิจในทวีปยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ก่อนที่จะกลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา
ทุนนิยมเกิดขึ้นจากผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) และการต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชยนิยม (Mercantilism) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐ
1
โดยลักษณะทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สามารถสรุปย่อได้แบบคร่าว ๆ เป็น 5 ข้อด้วยกันซึ่งได้แก่
(1) เป็นระบบเศรษฐกิจไม่ใช่การเมือง
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ ทุนนิยมคือรูปแบบของระบบเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่รูปแบบหรือระบบทางการเมืองแต่ประการใด
หลายคนยังมีความเข้าใจว่า ทุนนิยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ตรงที่เมื่อมนุษย์มีอิสระเสรีในทางเศรษฐกิจ ก็เท่ากับว่ามีเสรีภาพและมีความเป็นประชาธิปไตย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในบางประเทศบนโลกที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น จีน รวมไปถึงสิงคโปร์ เป็นต้น
(2) กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล
การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของทุนนิยม
ซึ่งกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลก็หมายถึง การที่มนุษย์สามารถที่จะครอบครองและเป็นเจ้าของทรัพยากรหรือทรัพย์สินในจำนวนที่มากเท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่การครอบครองนั้นถูกต้องตามกฎหมาย
(3) แข่งขันการค้าอย่างเสรี
ทุนนิยมสนับสนุนให้มีการค้าและแข่งขันกันอย่างเสรี เพราะทุนนิยมเชื่อว่าการแข่งขันในการค้า จะทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ มีแต่ของที่มีคุณภาพ ของที่ไม่มีคุณภาพก็จะถูกกำจัดทิ้งออกไป
4
(4) เอกชนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจ
ทุนนิยมมีแนวคิดว่าระบบเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ควรถูกรัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือเข้าแทรกแซง เพราะรัฐบาลไม่สามารถเข้าใจได้ว่าประชาชนต้องการอะไรมากที่สุด
3
ดังนั้นผู้ที่สมควรที่จะเข้ามาบริหารระบบเศรษฐกิจก็ควรจะเป็นประชาชนด้วยกัน ซึ่งก็คือบรรดาพวกนายทุนและเอกชนต่าง ๆ
1
ด้วยเหตุนี้ในระบบทุนนิยม เอกชนและกลุ่มนายทุนจึงต้องการอำนาจในการบริหารทางเศรษฐกิจทั้งหมด
3
(5) ถูกมองว่าเป็นระบบที่ไม่ดี
แม้ว่าระบบทุนนิยมจะทำให้เกิดการค้าที่เสรีและสร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลให้กับประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุนนิยมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาภายในสังคมเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงาน อาชญากรรม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัญหาการถูกกดขี่ของบรรดาชนชั้นแรงงาน
นักรัฐศาสตร์บางส่วนได้เคยกล่าวว่าทุนนิยมคือ "ระบบเศรษฐกิจที่คนกลุ่มหนึ่งร่ำรวย จากการกดขี่คนอีกกลุ่มหนึ่ง"
ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักจะเห็นการใช้คำว่า ระบบการค้าเสรี (Free Enterprise) รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) เพื่อใช้เรียกแทนคำว่าทุนนิยม ที่ถูกมองว่าเป็นคำที่ไม่ดีไป
ทุนนิยมจึงก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีแนวคิดต่อต้านขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยม (Socialism) รวมไปถึงคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นต้น
*** Reference
- หนังสือรัฐศาสตร์ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
#HistofunDeluxe
โฆษณา