16 มี.ค. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
ถอดรหัส แนวคิดบริหาร ของ คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน เจ้าของ MK Restaurants
“การที่เราจะรู้เรื่องรอบตัวให้มาก ต้องหมั่นหาความรู้​
โดยความรู้ที่เข้ามานั้น ต้องไม่เป็นชิ้นเล็ก ๆ
เพราะ ถึงจะมีประโยชน์ ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ยังขาดการเชื่อมโยง
เหมือนการดูหนัง ที่ดูเป็นตอน ๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่เหมือนการดูตั้งแต่ต้นจนจบ”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของเคล็ดลับ การเป็นผู้บริหารที่ดีในมุมมองของ ​คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ที่ต่อให้จะพ้นวัยเกษียณมาแล้ว แต่ยังคงก้าวทันโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
เพราะเขามีมุมมองว่า แค่หยุดอยู่กับที่ในวันนี้ ก็เหมือนกำลังถอยหลังไปแล้ว 1 ก้าว
 
คุณฤทธิ์ ได้แชร์หลักการบริหารที่น่าเรียนรู้ และนำไปปรับใช้อีกมากมาย
ส่วนจะน่าสนใจขนาดไหน THE BRIEFCASE สรุปมาให้
 
1. ต้องเป็นผู้บริหารที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แม้คุณฤทธิ์ จะออกตัวว่า ท่ามกลางเทรนด์ที่เกิดขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ ไม่มีใครรู้หรอกว่า
อะไรคือเทรนด์ที่มาแค่ชั่วคราว หรือ จะอยู่ยาวแบบถาวร
สิ่งที่สำคัญกว่า คือ เราต้องรู้ให้เท่าทันว่า มีเทรนด์ไหนที่เกิดขึ้น
แล้วจึงพิจารณาต่อว่า เทรนด์ไหนที่ควรเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ หรือ ควรลงไปศึกษา ทดลอง​ และต่อยอด
หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ และประเมินเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น คือ การลงทุนในความรู้
ซึ่งความรู้ในที่นี้ ต้องไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สมัยใหม่ ที่มักเป็นความรู้ชิ้นเล็ก ๆ มาเป็นคลิปสั้น ๆ
เพราะแม้จะมีประโยชน์ ทำให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ยังขาดการเชื่อมโยงให้เห็นเป็นภาพใหญ่
เมื่อถามว่า แล้วจะปะติดปะต่อความรู้ที่มาเป็นจิกซอว์ ให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
คุณฤทธิ์ ตอบว่า นอกจากต้องอ่านหนังสือให้มาก ยังต้อง “ฟังและดูให้เยอะ”
“ผมเป็นคนชอบศึกษาอะไรแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้น ตรงกลาง ไปจนถึงตอนจบ
เหมือนการดูหนัง ถ้าดูเป็นตอน ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง ​ไม่เข้าใจ ต้องดูให้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ส่วนใหญ่ผมหาความรู้จากการอ่านหนังสือ เช่น ถ้าผมอยากเข้าใจธุรกิจรองเท้าวิ่ง
ผมคงไม่เข้าใจ ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเรื่อง Shoe Dog ที่เขียนโดย Phil Knight ผู้ก่อตั้ง Nike​
ซึ่งเขาเล่าถึงตั้งแต่​ จุดเริ่มต้นจากการเป็นสตาร์ตอัป จนกลายเป็นบริษัทใหญ่
หรือ บางครั้ง ความรู้อาจจะมาจากการดูหนังดี ๆ สักเรื่อง หรือคุยกับคนอื่น​ที่เก่ง ๆ ให้เยอะ"
ซึ่งข้อดีของการที่เราเข้าใจทุกอย่างแบบเป็น Ecosystem คือ จะทำให้เราสามารถคิดต่อยอด
หรือเชื่อมต่อกับความรู้เป็นชิ้น ๆ ที่เรามีได้​
2. ผู้บริหารที่ดี ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ
หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของอาณาจักร เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป
จะพบว่าธุรกิจ เริ่มต้นจากแบรนด์สุกี้ MK เพียงแบรนด์เดียว
จนกระทั่งต่อมา เมื่อ MK มองว่าตัวเองมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
ทั้งศูนย์กระจายสินค้า ระบบการบริหารจัดการ หรือแม้แต่ สถาบันฝึกอบรม
จึงตัดสินใจร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่น นำแบรนด์ Yayoi เข้ามาเปิด
ก่อนจะตามมาด้วย Miyazaki Teppanyaki ในปีต่อมา เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายในพอร์ตโฟลิโอ
ซึ่งในเวลานี้ยังมีอีกหลายแบรนด์ อาทิ ธุรกิจร้านข้าวกล่อง Bizzy Box, ร้านกาแฟและเบเกอรี Le Petit, ธุรกิจขนมหวานภายใต้แบรนด์ MK Harvest
ที่น่าสนใจคือ MK ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อนได้ร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ลุยธุรกิจโลจิสติกส์ M-SENKO ทำให้ MK มี Capacity เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
และในปี 2562 MK ยังตัดสินใจร่วมทุนกับแหลมเจริญ ซีฟู้ด ร้านซีฟูดชื่อดัง
คุณฤทธิ์ เล่าถึงเบื้องหลังดีลที่สร้างความฮือฮาในวงการอาหารเป็นอย่างมากในครั้งนี้ว่า
ตอนที่จับมือกับ แหลมเจริญ ซีฟู้ด ตอนนั้นเขาก็มีแค่ 20 กว่าสาขา
เราถามว่า สนใจขยายเป็น​ 50 สาขาไหม ถ้าสนใจก็มาร่วมมือกัน
เพราะด้วยประสบการณ์ที่เราขยายมาเป็น 1,000 สาขา การจะทำ 50 สาขานั้น เป็นเรื่องง่าย
"ตอนที่เราเจรจา เราไม่ได้คุยเรื่องราคาเลย แต่คุยว่าเราจะเข้าไปช่วยอย่างไร
ดีลนี้เลยเป็นเหมือน Friendly Partner ที่ไม่ใช่การซื้อกิจการ แต่เป็นการร่วมกิจการ
โดยทางแหลมเจริญ ซีฟู้ด ถือหุ้นอยู่ 35% ส่วนทาง MK ถือ 65%"
แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ มาเจอวิกฤติโควิด 19
ทำให้หลายคนอาจมองว่า เส้นทางไปสู่เป้าหมายของดีลนี้ อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด
ซึ่งคุณฤทธิ์เอง ก็ยอมรับว่าที่ผ่านมา จังหวะอาจจะไม่ดีเท่าไร
แต่แหลมเจริญ ซีฟู้ด ก็ยังถือเป็นดีลที่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น
โดยในช่วงวิกฤติแบบนี้ MK ยังคงทำงานกับทางแหลมเจริญ ซีฟู้ด อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการปรับปรุงเรื่องคุณภาพ
ซึ่งถ้าสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายเมื่อไร MK ก็มั่นใจพร้อมขยายธุรกิจของแหลมเจริญ ซีฟู้ด ต่อแน่นอน
ที่สำคัญไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่จะไปต่างประเทศด้วย
โดยที่เล็งไว้ คือ จีน,​​ ซาอุดีอาระเบีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
ส่วน MK ที่ผ่านมา มีการบุกตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว​ อย่างที่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ซึ่งคุณฤทธิ์มองว่า ธุรกิจหม้อไฟยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก​
เพียงแต่ถ้า MK จะโกอินเตอร์ อาจจะต้องปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูมีความเป็นสากลมากขึ้น
ทั้งในส่วนของรสชาติ ที่ตอนนี้ยังเน้นถูกปากคนไทย รวมถึงรูปแบบการกิน
เพราะ ฝั่งยุโรปและอเมริกา เขาไม่ได้กินสุกี้แบบหม้อเดียวเหมือนเรา แต่ต่างคนต่างกินคนละหม้อ​
ตอนนี้เราจึงอยู่ระหว่างศึกษา​ โดยเฉพาะหม้อไฟจากจีน ที่ตอนนี้เริ่มขยายไปในระดับโลกมากขึ้น​
3. มองคู่แข่ง เป็นผู้ที่ช่วยสร้างความตื่นตัวให้วงการ
​หลายคนอาจจะท้อและเหนื่อย กับโลกธุรกิจทุกวันนี้เพราะการแข่งขันสูงเหลือเกิน
นอกจากธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ยังต้องระวังคนที่อาจจะข้ามธุรกิจมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
แต่สำหรับคุณฤทธิ์ กลับมองว่า “การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี”
ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่แปลก ไม่เหมือนกับรถยนต์ หรือบ้าน
ที่ถ้าตกลงปลงใจซื้อกับแบรนด์ไหนแล้ว อาจจะเปลี่ยนไปซื้อแบรนด์อื่น​ได้ยาก
เพราะคนเราไม่ได้เปลี่ยนบ้าน หรือรถกันบ่อยเหมือนเปลี่ยนร้านอาหาร ที่ไม่มีใครกินอาหารร้านเดียวได้ทุกวัน ถ้ากลางวันกินร้านนี้ เย็นก็อาจจะอยากกินอีกร้านหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ร้านอาหารจึงเป็นธุรกิจที่ต้องการความหลากหลายสูงมาก
การที่มีคู่แข่งหรือผู้เล่นในตลาดนี้เยอะ จึงเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ ทำให้ภาพรวมของธุรกิจอาหารดีขึ้น
เหมือนกับเวลาไปตลาดโต้รุ่ง
ถ้ามีแค่ร้านลูกชิ้นเนื้อวัวแค่ร้านเดียวบางคนอาจจะไม่อยากไป เพราะมีอาหารที่ไม่หลากหลาย
แต่หลายคนจะอยากไป หากไปที่เดียวแล้วมีหลายอย่างให้เลือก
4. ใช้ความใหญ่ ให้เป็นประโยชน์
ต่อให้ใครจะมองว่า ความใหญ่ของธุรกิจอาจเป็นจุดอ่อนในแง่ความคล่องตัว และการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ของผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริง อาจไม่เป็นเช่นนั้น
อย่าง MK เราก็ไม่ได้นิ่งเฉย และมีนวัตกรรมเข้ามาในร้านตลอด
เช่น อุปกรณ์ อาหาร วัตถุดิบ ซึ่งเราไปทางออร์แกนิกมากขึ้น
ขณะที่พลังของเชนร้านขนาดใหญ่ คือ มีความพร้อมในทุกด้าน เวลามีไอเดียใหม่ ๆ เข้ามา ทดลองแล้วเวิร์ก ก็สามารถสเกลทุกอย่างได้เร็ว
ในทางกลับกัน จากประสบการณ์ของคุณฤทธิ์
การจะนำไอเดียใหม่ ๆ มาพัฒนาเป็นเชนใหม่ ๆ ขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะอาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะเข้าใจการบริหารธุรกิจที่เป็นเชน เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกัน
การบริหารจัดการ การลงทุนใน Infrastructure ต่าง ๆ
"ทุกวันนี้ ผมไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ เพราะแบบนั้นคือต้องมีสาขาไปทั่วโลก
ผมยังมองว่าเราเป็นเชนขนาดกลาง ไม่ใช่ขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ขนาดเล็ก"
และแน่นอนว่า MK ไม่เคยปิดกั้นตัวเอง ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ
เพียงแต่ถ้าร่วมมือกัน เราไม่ได้เน้นแค่เรื่องการขยาย​สาขา แต่ต้องพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานของเราด้วย​
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่คอยจังหวะ ผมเชื่อว่าโควิด 19 จะทำให้โอกาสของการร่วมมือสูงขึ้น
เพราะวิกฤติครั้งนี้ ทำให้เจ้าของธุรกิจบางรายมีปัญหา ขาดกระแสเงินสด
ซึ่ง MK พร้อมเข้าไปช่วย​ เพราะเรามีกระแสเงินสดอยู่เยอะ เราทำธุรกิจโดยไม่กู้เงิน มีระบบการบริหารจัดการ Infrastructure ที่พร้อม ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม​”
ที่สำคัญ MK วันนี้ ไม่ได้จำกัดตัวเองเป็นแค่ร้านอาหาร
แต่เราพร้อมจะทำอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ไม่ต้องเป็นธุรกิจอาหาร 100% ก็ได้
เพียงแต่ความชำนาญของเราคือ อยู่ในวงการค้าปลีก เพราะเราทำมานาน​
ทั้งหมดนี้ คือ แนวคิดอันเฉียบคม ในการบริหารของคุณฤทธิ์ แม่ทัพใหญ่แห่งอาณาจักร MK
จนไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมในปีโควิด 19 ที่ผ่านมา หลายธุรกิจอาจจะเจ็บหนัก
1
แต่ MK ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน
แต่ยังสามารถประคองธุรกิจให้ยังสามารถรักษากำไรอยู่ได้
ที่สำคัญ ทาง MK ยังใช้ช่วงเวลาวิกฤตินี้อย่างคุ้มค่า
ด้วยการเตรียมความพร้อม
เพื่อรอวันกลับมาก้าวกระโดดอีกครั้ง ในวันที่สถานการณ์ทุกอย่าง กลับมาเป็นปกติ..
References :
บทสัมภาษณ์ คุณ ฤทธิ์ ธีระโกเมน โดยเพจลงทุนแมน
2
โฆษณา