18 มี.ค. 2021 เวลา 01:20 • ความคิดเห็น
กรุงเทพฯ เมืองป้ายโฆษณา
มันดี หรือไม่ดีอย่างไร?
ธุรกิจสื่อโฆษณากลางแจ้ง ซึ่งถ้าพูดตรง ๆ ก็คือป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ น่าจะเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก ซึ่งมีทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย
ที่ถูกกฎหมาย มีตัวเลขการเก็บภาษีป้ายเข้าทางการในปี 2559 มากถึงกว่า 8 แสนล้านบาท (855,988,547 บาท) **
ป้ายโฆษณาที่พูดถึง ก็เช่นป้ายที่ปักบนทางเท้า ป้ายที่ติดตามศาลารอรถเมล์ ตามเสาสะพานข้าม เสารางรถไฟฟ้า ตามป้อมตำรวจ หรือเป็นโครงยก/ยึดกับตัวอาคาร ป้ายตามตัวรถไฟฟ้า ตามสถานี ตามทุก ๆ ทีที่จะติดได้ ไม่รวมป้ายซ่อนรูปต่าง ๆ อีกมากมายเช่น ตามป้ายจราจร ตามจุดกดน้ำดื่ม ตามร่มแม่ค้า ตามหลังคาเต้นท์ โอยอีกมากมายเยอะแยะ เขียนหมดก็เกินหน้า A4
ผมไม่รวมป้ายของร้านรวงต่าง ๆ เช่นป้ายร้านทองแถวเยาราชนะครับ เพราะนั่นคือย่านค้าขายที่เป็นป้านร้านของเขาเอง และเป็นเอกลักษณ์ของย่าน
ป้ายโฆษณามีทั้งผิดกฎหมาย และถูกกฎหมาย ต้องจัดการกับป้ายผิดกฎหมาย นี่คือคำของทางการ
ถูกก็คือเสียภาษีในรับอนุญาตจากราชการ ผิดก็คือแอบติด
แต่ต่อให้ถูกกฎหมายก็ตาม คำถามคือ ป้ายโฆษณาในที่สาธารณะที่เกลื่อนบ้านเกลื่อนบ้านเมืองนี้ มันดีอย่างไรต่อประชาชน และต่อเมืองของเรา?
ความเห็นส่วนตัวของผม แน่นอนครับว่าการโฆษณาก็มีประโยชน์ เพราะเป็นการบอกข้อมูล ให้ตัวเลือกให้กับผู้บริโภค แต่อีกมุมหนึ่งป้ายโฆษณากลางแจ้ง ไม่เหมือนโฆษณาในสื่ออื่น ๆ เช่นตามวิทยุ ทีวี สื่อออนไลน์ ที่ถ้าเราไม่อยากดู เราก็เปลี่ยนช่องหรือกดข้ามได้
แต่ป้ายตามที่สาธารณะ ถ้าไม่อยากเห็นต้องทำอย่างไร...ต้องหลับตาเหรอครับ?
เราอยู่ในเมืองที่มีความแออัดอยู่แล้ว เราต้องการเห็นท้องฟ้า ต้องการเห็นความงามของสถาปัตยกรรม หลายครั้งเราต้องการความสงบ ข้อมูลต่าง ๆ บนป้ายโฆษณาที่เกลื่อนกลาดไปหมด เป็นการเพิ่มความเครียดให้กับคนเมืองโดยไม่รู้ตัวได้หรือไม่? เป็นการทำให้เมืองเสียทัศนียภาพหรือไม่ เป็นขยะทางสายตาหรือไม่?
ถามคนที่ชอบถ่ายภาพจะรู้ดี ว่าทุกวันนี้เราถ่ายภาพถนนหนทางในกรุงเทพฯ โดยไม่ติดป้ายโฆษณายากมาก ๆ เพราะหันกล้องไปทางไหนก็มีแต่ป้าย
นี่ไม่นับไอ้ที่ป้ายใหญ่ๆ พังลงมาเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินในหน้าฝนอีกต่าง ๆ
คำถามของผมก็คือ ทำไมเราถึงอนุญาตให้มีการติดตั้งป้ายโดยถูกกฎหมายมากมายถึงขนาดนั้น
อย่าบอกนะครับ ว่าป้ายผิดกฎหมายมีมากกว่าเพราะก็ต้องจัดการไป แต่ไอ้ถูกกฎหมายนั้น ตัวเลขภาษีป้ายข้างต้นก็เห็นๆ อยู่หรือเปล่า
ผมไม่เคยคิดว่าคนทำธุรกิจป้ายเลย จะแปลกใจก็แต่ว่า ราชการ หน่วยงานต่าง ๆ ต่างหาก ที่ไม่ได้มองประชาชนเป็นพลเมือง แต่มองว่าเป็นแค่ผู้บริโภคอย่างนั้นหรือ? ถึงอนุญาตให้มีการติดตั้งป้ายมากมายขนาดที่เป็นอยู่
เมื่อเกือบสิบปีก่อน มีนักธุรกิจป้ายโฆษณาให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร “สื่อโฆษณากลางแจ้ง” หรือที่เรียกว่า Out of Home Media ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองหลวงของสื่อโฆษณากลางแจ้งแห่งอาเซียน
ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ - กรุงเทพฯ รถติด
ยิ่งรถติด ป้ายโฆษณายิ่งชอบ โดยเฉพาะสี่แยกใหญ่ เพราะจะได้มีเวลาดูโฆษณากันนาน ๆ
เขาอาจไม่ผิด เขามีสิทธิคิด แต่ทางการปล่อยให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันครับ?
**ลิงค์บทความกรุงเทพฯ เมืองแห่งป้ายโฆษณา
โฆษณา