19 มี.ค. 2021 เวลา 11:15 • ประวัติศาสตร์
“ดอกทอง” ดอกนี้ได้แต่ใดมา
***คำเตือน เนื้อหานี้มีคำหยาบคาย***
ภาพโดย Ольга Бережна จาก Pixabay
คำในภาษาไทยนั้นมีมากมายและใช้งานในหลากหลายระดับ รวมไปถึงคำวิวาท คำด่าทอ หรือคำหยาบ คำเหล่านี้อยู่คู่กับภาษาไทยมาช้านาน คำว่า “ดอกทอง” ยังไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่าคำ ๆ นี้ถูกนำมาใช้ในการด่าทอตั้งแต่เมื่อไหร่ ยุคสมัยใด
คำว่า “ดอกทอง” มีปรากฎในข้อกฎหมายพระไอยการ ในลักษณะวิวาท ในปี พ.ศ.1990 และยังปรากฎในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ.1992 ในกฎหมายมาตรา 36 ที่หากใช้คำว่า “อี่ดอกทอง” ในเชิงด่าทอว่าร้าย ถือว่ามีความผิดและสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมได้ในที่สุด
1
“ดอกทอง” มักใช้ด่าทอในความหมายในบริบทที่คล้ายคลึงกันมาตั้งในอดีต โดยเอาไว้ใช้ด่าผู้หญิงที่ คิดแย่งผัวชาวบ้าน สำส่อน ผู้หญิงไม่ดี เป็นต้น
หากถามว่า ดอกทอง เอามาใช้ด่าได้อย่างไร ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก หากแต่มีหลายทฤษฎีที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการยกคำนี้ขึ้นมาเป็นคำวิวาทได้
1.คำว่า “ดอก” อาจจะมาจาก “ดอกตำแย” พืชที่เมื่อสัมผัสแล้วจะเกิดอาการคันเป็นอย่างมาก อีกทั้งคนโบราณยังเปรียบดอกตำแยเสมือนกับผู้หญิงที่มีความมักมากในกาม สอดคล้องกับคำว่า “คัน” ที่นำกลับมาใช้ในปัจจุบัน มีความหมายในเชิงชู้สาว อย่างไรก็ตามดอกตำแยมีสีขาวไม่ใช่สีทอง
ที่มา: https://aegeanedibles.weebly.com/lamium-album.html
2.ดอกทอง มาจากคำว่า “หลกท่ง” ในภาษาจีนแต่จิ๋ว ( 烙彤 - Lào tóng ในภาษาจีนกลาง) ซึ่งแปลว่าเหล็กเผาไฟสีแดง ที่คนจีนใช้ด่าผู้หญิงในความหมายในทำนองเดียวกัน ทว่ายังมีข้อโต้แย้งในคำ ๆ นี้เช่นกัน ว่าคนจีนเองก็ยืมคำไทยไปใช้ทับศัพท์เหมือนกัน อีกทั้งจากความหมายของคำก็ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวพันธ์กับผู้หญิงหรือสีทองเลย
3.ต้นตอมาจากคำว่า “เหี้ย” เป็นคำด่าที่ใช้ด่าสิ่งไม่ดี หรือเป็นคำอุทานที่เราหลาย ๆ คนคงจะคุ้นหูกัน เนื่องจากตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง มีลักษณะนิสัยที่เก็บกินของเน่า ของเสีย เศษซากต่าง ๆ รวมไปถึงไก่ของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้มาเป็นอาหาร จึงทำให้สัตว์ที่น่าสงสารชนิดนี้ตกเป็นจำเลย และเป็นที่รังเกียจในสังคมไทยต่อมา ส่วนคำว่า “ดอก” สันนิษฐานว่ามาจากลวดลายบนตัวของตัวเหี้ยที่มีลักษณะเป็นวง ๆ ดอก ๆ คล้ายกับรูปดอกไม้สีเหลืองนั่นเอง แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ยังไม่สอดคล้องกับความหมายของคำว่าดอกทองมากนัก ไม่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงเลย อีกทั้งคำว่าเหี้ยเป็นคำด่าใหม่ที่เพิ่งถูกนำมาใช้ในสมัยรัชการที่ 5 เอง ซึ่งมาทีหลัง
ภาพโดย mlproject จาก Pixabay
4.ต้น “ว่านดอกทอง” (Curcuma spp.) เป็นพืชตระกูลเดียวกับขิง ลักษณะดอกมีสีขาว ด้านในดอกมีสีเหลือง ซึ่งในสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องว่านต่าง ๆ ว่ามีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ ว่านดอกทองมีสรรพคุณในด้านความเชื่อคือ มีฤทธิ์ทำให้คนลุ่มหลง เชื่อกันว่าว่านตัวนี้นำมาใช้กับผู้หญิง ทำให้ทำอะไรขาดสติ ทำให้ผู้หญิงมีความต้องการผู้ชายมาก ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ผู้ชายคนนั้นมาไว้ในครอบครอง ถึงขั้นต้องไปแย่งมาก็ตาม
ที่มา: https://herbs-in-manman.blogspot.com/2019/04/blog-post_10.html
ในปัจจุบัน “ดอกทอง” ดูเหมือนจะลดทอนความรุนแรงของความหมายลงไปบ้าง จะเห็นได้จากการที่เราใช้คำคำนี้กับเพื่อนสนิท ใช้เรียกทักทาย หรือแม้แต่ใช้คำนี้กับเพศชายก็ได้เช่นกัน ใช้หยอกล้อเล่นกันเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม “ดอกทอง” หากใช้ด่าทอในเชิงหมิ่นประมาทก็ยังมีความผิดทางกฎหมายในปัจจุบันอยู่ เฉกเช่นเคยกับในอดีต
วิวาท หรือคำหยาบต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นคำไม่ดีเสมอไป หากมองกลับกันเราจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการของภาษาไทย อีกทั้งคำด่าทอยังแสดงออกถึงสภาพสังคม ทัศนคติ และวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ทำให้เราได้เห็นมุมมองทางด้านความคิดต่อเรื่องราวต่าง ๆ สืบไป
หากชื่นชอบในผลงานของเรา อย่าลืมกดติดตาม กดไลค์ หรือคอมเม้นท์พูดคุยกันได้นะครับ
อ้างอิง
Written by Tan A-ROUND
โฆษณา