19 มี.ค. 2021 เวลา 08:07 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
มองเรื่องชนชั้นผ่านภาพยนตร์ My Fair Lady โดยใช้แนวคิดของ ปิแอร์ บูร์ดิเออ (Pierre Bourdieu)
เขียนโดย ธารณี อ่อนสา
เรื่องย่อ ภาพยนตร์เรื่อง My Fair Lady (1964) เปิดเรื่องมาโดยการให้ Eliza หญิงสาวขายดอกไม้ริมทางที่เข้ามาขายดอกไม้ให้กับบรรดาชนชั้นสูงที่กำลังรอรถกลับบ้านหลังงานเลี้ยงเลิก ทำให้พบกับ Prof.Higgins ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้าน Phonetics ที่แอบเก็บข้อมูลจดบันทึกเสียงต่าง ๆ ที่ผู้คนพูดคุยกันตามท้องถนน เขาสามารถบอกได้ว่าใครมาจากท้องถิ่นไหน หรือแม้กระทั่งระบุถึงถนน ถิ่นที่อยู่ของคนนั้นได้เลย
ในฉากนี้ Prof.Higgins ได้พบกับพันเอก Pickering ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตซึ่งตั้งใจเดินทางมาพบ Prof.Higgins พอดี ในฉากนี้ Prof.Higgins ยังโอ้อวดถึงความรู้ว่าเขาสามารถเปลี่ยนสาวขายดอกไม้ริมทางไปเป็นดัชเชส (duchess) ได้ภายในหกเดือน หรือให้ไปทำงานในร้านขายดอกไม้ได้หากสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้ถูกต้อง
หลังจาก Eliza ขายดอกไม้เสร็จสิ้น ก็นึกถึงคำพูดของ Prof.Higgins ที่ว่าสามารถทำให้ตนพูดภาษาอังกฤษที่ถูกต้องและสามารถเข้าทำงานในร้านขายดอกไม้ได้ จึงเดินทางมาพบเพื่อว่าจ้างให้ Prof.Higgins สอนตน จึงเป็นที่มาของการพนันระหว่าง Prof.Higgins กับพันเอก Pickering ว่าจะสามารถทำให้ Eliza เป็นสุภาพสตรีชนชั้นสูง และไปร่วมงานเลี้ยงในสถานทูตโดยไม่ถูกจับได้ว่าไม่ใช่สุภาพสตรีชนชั้นสูงที่แท้จริง ภายในหกเดือนได้หรือไม่?
Prof.Higgins สอนให้ Eliza เปลี่ยนจากการพูดด้วยสำเนียงอังกฤษแบบชาวบ้านท้องตลาด มาพูดด้วยสำเนียงผู้ดีอังกฤษ โดยการการฝึกการออกเสียงให้ถูกต้อง หลังจากแก้ปัญหาการออกเสียงได้แล้ว ซึ่งก่อนจะพา Eliza ไปออกงานจริง
Prof.Higgins เลือกพาเธอไปงานแข่งม้าของชนชั้นสูง ในงาน Eliza ระมัดระวังในการพูดจา เพื่อให้ผู้คนไม่เห็นความต่างของสำเนียง แต่ปัญหาของเธออยู่ที่การเผลอเล่าเรื่องป้าที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และใช้คำศัพท์ที่ชนชั้นสูงไม่เข้า และการเผลอตัวเชียร์ม้าแข่งด้วยภาษาตลาด อย่างไรก็ตาม ความแปลกไม่เหมือนใครของเธอทำให้หนุ่มผู้ดีอังกฤษอย่าง Freddy ตกหลุมรักเธอและมาคอยเฝ้าเมียงมองอยู่หน้าบ้าน
ในวันงานจริงที่เป็นงานเลี้ยงเต้นรำของสถานทูตที่เต็มไปด้วยแขกชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ Eliza ดูเฉิดฉายและสวยสง่ากว่าใครในงาน เธอสามารถเข้าสังคมได้ดี และได้เป็นคู่เต้นรำเปิดเวทีของเจ้าชายแห่ง
ทรานซิลวาเนีย ในงานมีลูกศิษย์ของ Prof.Higgins ที่เชี่ยวชาญด้านภาษาและถูกมอบหมายให้สืบว่า Eliza คือใคร ท้ายสุดเขาสรุปว่า Eliza ไม่ใช่ Native English เพราะเธอพูดภาษาอังกฤษดีเกินไป เลยสรุปว่าเธอต้องได้รับการศึกษาภาษาอังกฤษจากครูที่สอนมาอย่างดี และด้วยบุคลิกภาพที่ดีจึงทำให้คิดว่าเธอเป็นเจ้าหญิงจากฮังการี
หลังจบงานในวันนั้นทั้ง Prof.Higgins และพันเอก Pickering ต่างก็ยินดีในความสำเร็จของการทดลองนี้ แต่สำหรับ Eliza เธอต้องเผชิญกับความรู้สึกอีกอย่าง เมื่อเสร็จสิ้นกิจนี้แล้ว เธอคือใคร เธอจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นหญิงเร่ขายดอกไม้ริมทางก็ไม่ได้ จะเป็นชนชั้นสูงก็ไม่ใช่ แล้วเส้นทางอนาคตของเธอจะเป็นอย่างไร แต่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกเธอ
จากเรื่องย่อข้างต้น ทำให้เห็นเส้นทางการเข้าสู่สังคมชนชั้นสูงของ Eliza ซึ่งสามารถอธิบายผ่านแนวคิดของ ปิแอร์ บูร์ดิเออ (Pierre Bourdieu) ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่สนใจและศึกษาโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในระดับลึกของกลุ่มสังคมย่อยที่ประกอบรวมกันเป็นสังคมโดยรวม และสนใจกลไกลที่ผลิตซ้ำหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว (Bourdieu et Wacquant, 1992:16-17, อ้างถึงใน สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.240) เขามองว่ากลไกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมอย่างเป็นระบบ แต่ชนชั้นก็ยังคงต่อสู้เพื่อจะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมมนุษย์ บูร์ดิเออได้เสนอแนวคิดที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) 2.การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม (cultural reproduction) 3.ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) และ 4.habitus
ผู้เขียนจะนำแนวคิดของบูร์ดิเออมาอธิบายเส้นทางการต่อสู้ของ Eliza จากหญิงสาวขายดอกไม้ริมทางสู่สุภาพสตรีชนชั้นสูง จะต้องต่อสู้และก้าวข้ามกับเรื่องอะไร อธิบายได้ดังต่อไปนี้
1.ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ (symbolic violence) คือการสร้างภาพลวงตาที่กำหนดให้เกิดขึ้น ผ่านความยินยอมและกลายสภาพเป็นการถูกครอบงำ และผู้ครอบงำใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการครอบงำ ซึ่งบูร์ดิเออกล่าวไว้ว่า “ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เป็นความรุนแรงที่บีบคั้นให้ยอมจำนน แต่ก็ไม่ถูกมองว่าเป็นการยอมจำนน หากเป็น ‘ความคาดหวังของสังคมหรือส่วนรวม’ หรือความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังกันในสังคม” สังคมใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์เป็นตัวครอบงำคน ผ่านระบบการศึกษาโดยชนชั้นครอบงำ (Bourdieu, 1977:190-195, 1998:103, อ้างถึงใน สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.240-241)
จากความหมายข้างต้นทำให้เราสามารถมองเห็นถึงความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นกับ Eliza ผ่านสำเนียงการออกเสียงภาษาอังกฤษ ถึงแม้จะอยู่ในประเทศอังกฤษเดียวกัน แต่สำเนียงภาษาอังกฤษก็มีความแตกต่าง สำเนียงที่ได้รับการยอมรับคือสำเนียงภาษาอังกฤษตามมาตรฐาน และคนที่จะพูดได้ต้องจบการศึกษาภาคบังคับอย่างที่ Prof.Higgins ได้พูดหลังจากฟังสำเนียงของ Eliza ครั้งแรก ตรงจุดนี้เป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ และถึงแม้จะเปิดให้มีการสอบคัดเลือก ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกมากกว่าก็คือคนที่มาจากครอบครัวชนชั้นสูง และอย่างในกรณี Eliza ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ที่อาจเรียกว่า สลัม ในสมัยนั้น การศึกษาต่อภาคบังคับจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นและไม่ได้นึกมาก่อนว่าตนเองจะต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับ เพราะมีสิ่งที่จำเป็นมากกว่านั้น คือการมีชีวิตให้รอดในแต่ละวัน การพูดเพื่อค้าขายให้ได้ก็เพียงพอแล้ว แต่เมื่อ Eliza อยากเข้าไปเป็นพนักงานขายดอกไม้ในร้าน และร้านไม่รับเพราะว่า Eliza พูดไม่เป็น ซึ่งพูดไม่เป็นในที่นี้เป็นการพูดที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างที่สังคมยอมรับ จากการพูดไม่เป็นทำให้ Eliza ตัดสินใจที่จะลงทุนให้กับการพูดที่ถูกต้อง จึงจะมาเรียนการพูดกับ Prof.Higgins จุดนี้แสดงให้เห็นว่า Eliza ต้องการก้าวข้ามสำเนียงเดิมและพร้อมที่จะเรียนรู้สำเนียงใหม่ และยอมใช้เงินที่หามาด้วยความยากลำบากมาลงทุนกับการเรียน ถึงแม้สุดท้ายจะไม่ได้เสียเงินเลยก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่า การที่จะเข้าถึงการศึกษาที่ดีในมุมของชนชั้นล่างจำเป็นต้องใช้เงิน และเงินเป็นสิ่งที่หาได้ยากลำบากมากสำหรับชนชั้นล่าง แต่ก็ต้องตัดสินใจลงทุนเพื่อที่จะเลื่อนสถานะทางสังคมให้ได้
ทำนองเดียวกับสังคมไทยในปัจจุบันในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ส่งผลให้เกิดสถาบันสอนพิเศษจำนวนมาก และรวมถึงเกิดหลักสูตรห้องเรียนพิเศษในสถานศึกษาทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการของคนที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จากการสังเกตของผู้เขียนกลุ่มคนที่จะได้เรียนพิเศษกับสถานบันหรือหลักสูตรพิเศษ ต้องเป็นกลุ่มคนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ดี หรือครอบครัวที่พร้อมจะลงทุนเรื่องการศึกษาให้กับลูก/หลานของตน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อ และเราต่างก็มองเป็นเรื่องปกติ ปกติในที่นี้คือการยอมรับว่าการเรียนพิเศษเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น หรือเกิดหลักสูตรพิเศษต่างๆ ในโรงเรียนของรัฐที่ต้องจ่ายค่าการศึกษามากกว่าปกติเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ทั้งกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่พิเศษและกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษานั้น ซึ่งการที่เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราได้รับการเลี้ยงดูและการปลูกฝังว่า กลุ่มคนที่มีเงินจะมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า และเรื่องนั้นเราก็ยอมรับ แต่ต้องไม่ใช่กับระบบการศึกษาที่เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ สมทบเบื้องต้นเสมอภาคกัน เพราะการศึกษาต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งหลักสูตรและวิธีการสอน และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเพื่อบำรุงการศึกษา ไม่ใช่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้จึงจะได้รับการศึกษาที่พิเศษหรือมากกว่า เพราะจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียน ดังคำกล่าวของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีห้องเรียนพิเศษที่ว่า เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเหลื่อมล้ำ ยอมเป็นคนอยู่ข้างล่าง ตระหนักในสิทธิพิเศษของคนอยู่ข้างบน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการมีโปรแกรมพิเศษเหล่านี้อยู่ในโรงเรียน ณ วันที่มันดำเนินการอยู่ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในโรงเรียนแล้ว แต่ระยะยาว ลองนึกถึงเด็กกลุ่มนี้ที่เติบโตขึ้นในสังคม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็กลายเป็นชนชั้นกลางระดับบนสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องถูกล็อคเอาไว้เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง สังคมที่เป็นแบบนี้ ไม่เคยพาไปสู่ความยั่งยืน เป็นสังคมที่ไม่สามารถพาให้เศรษฐกิจมวลรวมโตได้ (วันดี สันติวุฒิเมธี. (24 ตุลาคม 2560). ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียนกับอรรถพล อนันตวรสกุล) ดังนั้นแล้วการศึกษาต้องเป็นการอุดช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพิ่มความไม่เท่าเทียมให้ถ่างกว้างมากขึ้น
2.การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม (cultural reproduction) บูร์ดิเออเสนอว่าการผลิตซ้ำเป็นยุทธศาสตร์ (strategy) ปัจเจกจะรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสร้างยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์นั้น หรือการที่ปัจเจกเกิดการตระหนักรู้หรือเป็นผลที่เกิดจากการรับรู้ในเรื่องกฎกติกา ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่ปัจเจกสร้างนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎ (rule) หรือทางเลือก (choice) แต่เป็นความรู้สึกเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากระบบของการแสดงที่เรียกว่า ฮาบิตุส การอบรมสั่งสอนในครอบครัวและโรงเรียนเป็นตัวการที่มีอำนาจให้ปัจเจกเกิดการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม (สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.241)
การดำเนินชีวิตของ Eliza เป็นการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมเพื่อให้สอดคล้องและอยู่รอดในสังคมที่ตนดำรงอยู่ ทั้งตอนที่เป็นหญิงสาวขายดอกไม้ริมทางหรือการเป็นสุภาพสตรีชนชั้นสูงที่ผ่านการฝึกฝนทั้งสำเนียงการพูด กิริยาท่าทาง การแต่งกาย และมารยาทในการเข้าสังคม ก็ล้วนเป็นการฝึกฝนให้สอดรับกับบริบทที่ดำเนินอยู่ ซึ่งการเป็นสุภาพสตรีชนชั้นสูงดูเหมือนจะได้รับการยอมรับและการปฏิบัติที่มากกว่าหญิงสาวขายดอกไม้ริมทาง จุดนี้แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตัวต่อผู้อื่น ยังต้องแบ่งแยกตามชนชั้นที่คนนั้นอยู่ กิริยาท่าทาง และการแต่งกายของผู้นั้นที่เราจะปฏิบัติด้วย มีประโยคหนึ่งของ Eliza ที่ผู้เขียนประทับใจ คือ ความแตกต่างระหว่างกุลสตรีกับแม่ค้าขายดอกไม้ริมทาง ไม่ใช่ความประพฤติของเธอแต่อยู่ที่การปฏิบัติต่อเธอ “the difference between a lady and a flower girl is not how she behaves, but how she’s treated” ทำให้สังเกตเห็นว่าการปฏิบัติของเราขึ้นอยู่กับบุคคลที่เข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ทั้งที่ควรปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพและให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน อย่างที่พันเอก Pickering ปฏิบัติต่อ Eliza อย่างสุภาพและให้เกียรติ ซึ่ง Eliza เรียนรู้มารยาทและความเป็นผู้ดีจากพันเอก Pickering เพราะเขาสุภาพต่อเธอเสมอมานับแต่วันแรกที่พบกันในฐานะหญิงสาวขายดอกไม้ริมทางจนกระทั่งเธอกลายเป็นสุภาพสตรีชนชั้นสูง ซึ่งทำให้ Eliza เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นอย่างมีมารยาทและให้เกียรติไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในสถานะใด เห็นได้จากฉากที่ Eliza เลือกที่จะกลับมาหา Prof.Higgins ถึงแม้เขาจะบอกว่าเขาจะไม่แปลงเปลี่ยนตนเองแต่อย่างใด แต่การอยู่ร่วมกันเราต่างมีอิทธิพลต่อกัน และรับเอาวัฒนธรรมหลายๆของเขามาอยู่ภายในตัวเรา
เมื่อนำแนวคิดเรื่องการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมมามองในสังคมไทย จะพบว่าเราเป็นผลผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในสังคม ซึ่งแบ่งแยกลงไปตามกลุ่มต่างๆที่เราสังกัดอยู่ และสิ่งที่สร้างและผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในโลกของทุนนิยมได้ชัดเจน คือ สื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนจะเผยแพร่และนำเสนอวัฒนธรรมข่าวสาร เช่น
ในรูปแบบของข้อมูลข่าว ความบันเทิง ละครทีวี ภาพยนตร์ ฯลฯ มารักษาสภาพสังคมที่มีการแบ่งแยกและครอบงำทางชนชั้นให้ดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน คือ จะสอดแทรกความคิดต่างๆ ให้แทรกซึมอยู่ในส่วนต่างๆ ของเนื้อหาที่ต้องการสื่อ อันมีผลทำให้โครงสร้างอำนาจต่างๆ และค่านิยมดังกล่าวของสังคมดูเป็นธรรมชาติ สามารถยอมรับได้โดยปริยาย ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และข้อความที่ปรากฏในสื่อนั้นเป็นการให้คำนิยามของสังคม ชีวิต กลุ่ม เหตุการณ์ แม้ตัวตัวสื่อมวลชนอาจจะไม่ได้เป็นผู้กระทำโดยตรง แต่ในทางกลไกของสังคม สื่อมวลชนมักจะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจทางสังคมเข้ามาใช้พื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากชนชั้นครอบงำและกลุ่มทุนนิยม การที่จะเราเท่าทันสื่อมวชน เราจำเป็นที่จะต้องถอดความหมายแฝงของสิ่งต่างๆ ที่สื่อมวลชนนำเสนอออกมา เพื่อให้เห็นถึงความต้องการและค่านิยมของสิ่งเหล่านั้นที่จะมากระทำกับเราที่เป็นผู้ใช้
ในที่นี้ผู้เขียนขอยกแนวคิดของโรล็องต์ บาร์ตส์ ในเรื่อง มายาคติ (Mythologies) มาใช้เป็นแนวทางในการถอดความหมายแฝงที่ซ่อนอยู่ในสิ่งของ แนวคิด และวิธีการดำรงชีวิตที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งมายาคติ คือ การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนจนดูเป็นธรรมชาติ เป็นการกระบวนการลวงให้หลงแบบหนึ่ง มิใช่โดยการโกหกหลอกลวง แต่เราคุ้นเคยกับความหมายนั้นจนไม่ทันสังเกตว่ามันถูกสร้างขึ้น (นพพร ประชากุล, 2549:4, อ้างถึงใน สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.220) ตรงประโยคที่ว่า แต่เราคุ้นเคยกับความหมายนั้นจนไม่ทันสังเกตว่ามันถูกสร้างขึ้น เป็นวิธีการนำเสนอที่สื่อมวลชนได้กระทำกับผู้คนในสังคม
เราจะเห็นการทำงานของมายาคติได้เราต้องเข้าใจตรรกะภายใน (internal logic) คือ ตรรกะของการสื่อความหมายโดยใช้ สัญญะ (sign) ซึ่งมายาคติเป็นการกระบวนการสื่อความหมายที่อาศัยการเข้าไปยึดครอง (appropriation) วัตถุ โดยพิจารณาประโยชน์ใช้สอยของวัตถุควบคู่ไปกับคุณลักษณะของวัตถุซึ่งเป็น ‘ความหมายเบื้องต้น’ แล้วสวมใส่ความหมายทางวัฒนธรรมทับลงไปบนวัตถุนั้นๆ เช่น เสื้อ > ความหมายเบื้องต้นคือสวมใส่ปกปิดร่างกาย เมื่อมายาคติเข้าไปยึดครองวัตถุโดยใส่ความหมายทางวัฒนธรรมเข้าไปในเสื้อ > จะได้เป็นเสื้อสวยและแพงใส่แล้วต้องดูดี เกิดเป็นรูปสัญญะ > เสื้อแบรนด์เนม มีความหมายทางวัฒนธรรมที่ว่า ใส่แล้วดูดี ดูเป็นคนรวย ซึ่งความหมายทางวัฒนธรรมหรือความหมายแฝงนี้ผูกโยงกับค่านิยมทางสังคม และเป็นความหมายที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นครอบงำและกลุ่มนายทุน (สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.220-221)
ดังนั้นการวิเคราะห์มายาคติด้วยสัญวิทยาตามวิธีการของบาร์ตส์ เพื่อให้เราเข้าใจกระบวนการสื่อความหมายที่ทำให้เกิด ‘ความเชื่ออันพรางตา’ (สุภางค์ จันทวานิช, 2557, น.226) ที่แฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัวเราและในตัวเราเอง ช่วยให้เราสามารถเท่าทันวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในสังคมทุนนิยมที่มักนำอ้างแนวคิดต่างๆ เช่น การครอบครองสิ่งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์สุข หรือการดำเนินชีวิตแบบนี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรไปให้ถึง เป็นต้น ทำให้สังคมเต็มไปด้วยมายาคติ และสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่กลบเกลื่อนและมอมเมา โดยลัทธิบริโภคนิยมที่แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านั้นทำให้แลดูเป็นธรรมชาติ ดูน่าพึงปรารถนา ทำให้เราตกเป็นเหยื่ออย่างเต็มใจ เกิดการส่งต่อและผลิตซ้ำวนเวียนไปภายใต้โลกของทุนนิยม
3.ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ในความคิดของบูร์ดิเออ ทุน เป็นมรดกที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง สามารถเปลี่ยนรูปได้ มีลักษณะทั้งสัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ รวมทั้งเป็นปัจจัยในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม (position) หรือชนชั้น สำหรับทุนทางวัฒนธรรม มี 3 รูปแบบ คือ (สุภางค์ จันวานิช
และรุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, 2549, น.256-257)
1.ทุนที่รวมอยู่ในฮาบิตุส อยู่ในรูปของการแสดงออกของร่างกายและจิตใจ ที่คงทนถาวร มักปรากฏในรูปของวัฒนธรรม และต้องใช้ระยะเวลาในการรวมกันเป็นรูปเป็นร่าง
ทุนที่เป็นฮาบิตุสนี้ เป็นการส่งผ่านทางพันธุกรรมในครอบครัวและเป็นมรดกที่คนมักไม่ได้นึกถึง เช่น ความสวย ผิวพรรณ สีผม ดวงตา ฯลฯ ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของทุนทางวัฒนธรรมอื่นๆ การส่งผ่านฮาบิตุสอาศัยเวลา และสามารถเชื่อมโยงไปยังทุนทางเศรษฐกิจได้ ฮาบิตุสอาจลดลงหรือหายไปได้ด้วย
2. ทุนที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรม ทุนวัฒนธรรมรูปแบบนี้มีคุณสมบัติมากมาย แต่สามารถนิยามได้เพียงแค่เป็นคุณสมบัติที่มีความสัมพันธ์กับทุนทางวัฒนธรรมในแบบที่ประกอบกัน ทุนรูปแบบนี้ถูกทําให้เป็นวัตถุในรูปของสื่อหรือสิ่งของ เช่น รูปภาพ งานเขียน หนังสือ พจนานุกรม อนุสาวรีย์ เครื่องมือ เครื่องจักร ฯลฯ ความเป็นทุนทางวัฒนธรรมดังกล่าวสามารถส่งผ่านความเป็นวัตถุได้ เช่น ด้วยการสะสมภาพวาด โดยการสะสมทุนสามารถถูกส่งผ่านได้เหมือนกับทุนทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่จะสามารถส่งผ่านได้ คือ ความเป็นเจ้าของภาพ ซึ่งคือ ความเป็นเจ้าของในวิถีการบริโภคภาพเขียน
3. ทุนที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน อยู่ในรูปของการทําให้เป็นวัตถุหรือรูปธรรมที่ถูกจัดแยก เพราะอ้างอิงถึงคุณสมบัติเริ่มต้นของทุนทางวัฒนธรรมและจะถูกเข้าใจว่า คือ การรับประกัน โดยแสดงออกในรูปของประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และใบปริญญาบัตร เป็นต้น
จากรูปแบบทุนวัฒนธรรมทั้ง 3 รูปแบบ เมื่อนำมาอธิบายเส้นทางการต่อสู้เพื่อเข้าสู่สังคมชนชั้นสูงของ Eliza จะพบว่า ทุนที่เป็นฮาบิตุสเป็นทุนที่ Eliza ได้รับการถ่ายทอดและมีติดตัวมาจากครอบครัวที่เห็นชัดเจน คือ รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ และกิริยาท่าทางของกลุ่มที่สังกัดอยู่ เมื่อนำมารวมกับการพูดสำเนียงที่ถูกต้อง กิริยามารยาท และการแต่งกายที่ได้รับการฝึกฝนและขัดเกลาจาก Prof.Higgins และพันเอก Pickering จึงกลายรวมเป็นฮาบิตุสใหม่ของ Eliza ซึ่ง habitus (ฮาบิตุส) คือ ระบบของการแสดงออกของนิสัยที่มีความคงทน และสามารถเปลี่ยนรูปได้ ที่บูรณาการเข้ากับประสบการณ์ในอดีต ทำหน้าที่ในทุกๆ ช่วงจังหวะเวลาของชีวิต เหมือนชุดข้อมูลที่มีการเชื่อมต่อกันระหว่างการรับรู้ การเห็นคุณค่า และการกระทำเป็นระบบที่ทำให้งานต่างๆ ที่มีความหลากหลายอย่างไม่รู้จบลุล่วงไปได้ ฮาบิตุสของปัจเจกจึงมีแนวโน้มที่จะแสดงออกมาซึ่งคุณลักษณะเด่นๆ ของกลุ่ม (Bourdieu, 1977:82-83, อ้างถึงใน สุภางค์ จันวานิช และรุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, 2549, น.254) ซึ่งฮาบิตุสของแต่ละปัจเจกก็จะมีความแตกต่างกันไป เหมือนกับการที่ไม่มีของสองสิ่งที่เหมือนกันอย่างแท้จริง โดยปัจเจกและฮาบิตุสของปัจเจกจะมีความแตกต่างและหลากหลายไปตามรากฐานของแต่ละกลุ่มที่สะสมมา
จากความหมายของฮาบิตุส พบว่า habitus ของ Eliza มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และความต้องการของตนเองที่จะเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มีสำเนียงแบบชาวบ้าน จึงมาฝึกฝนการพูดสำเนียงให้ถูกต้อง ในช่วงแรกๆของการฝึก Eliza มีอาการเบื่อและโวยวาย เพราะคิดว่าตัวเองออกเสียงถูกแล้ว โดยในภาพยนตร์จะเห็นการฝึกเพื่อแก้ปัญหาการออกเสียงโดยใช้อุปกรณ์ที่ให้ลมพ่นออกมา
ไปทำให้เปลวไฟสว่างขึ้น และฝึกออกเสียง “In Hertford, Hereford, and Hampshire, hurricanes hardly ever happen” เพื่อแก้ปัญหาเสียง /h/ และการฝึกออกเสียงประโยค “The rain in Spain stays mainly in the plain.” (Wirote Aroonmanakun.medium.com/@wirotearoonmanakun/ดูหนังกับกภาษาศาสตร์-my-fair-lady-1964) หลังจากฝึกฝนอย่างยาวนานในค่ำคืนหนึ่ง Eliza ก็สามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง และออกเสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ จุดนี้แสดงให้เห็นการพยายามที่จะเอาชนะ habitus เก่า และสร้าง habitus ใหม่ และในอนาคตจะเป็นปัจจัยในการกำหนดสถานะทางสังคมใหม่ได้
เหตุการณ์ที่สามารถแสดงถึง Habitus ใหม่ได้อย่างแนบเนียนคือในงานแข่งม้าและงานเลี้ยงทูต ถึงแม้ว่างานแข่งม้าชั้นสูง Eliza จะเผลอเล่าเรื่องป้าที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และใช้คำศัพท์ที่ชนชั้นสูงไม่เข้าใจและการเผลอตัวเชียร์ม้าแข่งด้วยภาษาตลาด แต่ผู้คนรอบข้างก็ไม่สนใจมากมายนัก สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เราจะมี Habitus ใหม่ที่ได้รับการถ่ายทอดและฝึกฝน แต่ Habitus อันเก่าที่เราสะสมมาอย่างยาวนานยังคงอยู่ ถ้าเราเผลอหรืออยู่กับกลุ่มสังคมเดิมๆ มันก็จะแสดงออกมา แต่ถ้าเราควบคุม Habitus ได้ เราก็จะแสดงออกได้อย่างธรรมชาติ ไม่มีใครมาจับสังเกตเห็นได้ ดังเช่นงานเลี้ยงทูตที่ Eliza ได้เข้าร่วมงาน ซึ่งสามารถแสดงตัวตนว่าเป็นชนชั้นสูงได้อย่างกลมกลืน แนบเนียน และได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
ส่วนทุนที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรม และทุนที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน Eliza ยังไม่มีทุนนั้น แต่ถ้าสังเกตตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ที่ Eliza ตัดสินใจกลับมาหา Prof.Higgins ผู้เขียนขอคาดการณ์ว่าทุนที่ยังไม่มีของ Eliza จะต้องได้รับการส่งเสริมและสะสมให้มีมากขึ้น เพราะ Prof.Higgins ย่อมต้องส่งเสริม Eliza ซึ่งสอดคล้องกับข้อความที่ Prof.Higgins พูดคุยกับพันเอก Pickering ถึงสิ่งที่กำลังทำกับ Eliza ที่ว่า คิดว่าหลายเดือนผมทำอะไร อะไรจะสำคัญไปกว่าการนำคนๆหนึ่ง มาเปลี่ยนแปลงให้เธอเป็นคนใหม่ มันทำให้ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และระหว่างจิตวิญญาณ เธอสำคัญอย่างยิ่ง ผู้เขียนคิดว่า Eliza โชคดีที่ได้รับโอกาสจาก Prof.Higgins
และพันเอก Pickering และรวมกับความตั้งใจและความพยายามของ Eliza ด้วย จึงทำให้เกิดผลอย่างที่ต้องการทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่าย Prof.Higgins และพันเอก Pickering ก็สามารถทำให้ชนชั้นสูงคนอื่นๆ เชื่อว่า Eliza เป็นชนชั้นสูงเหมือนกับพวกเขา ฝ่าย Eliza ก็สามารถพูดและออกสำเนียงได้อย่างถูกต้องตามที่ร้านขายดอกไม้ต้องการ รวมถึงมีกิริยามารยาทที่โดดเด่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ และ Eliza ก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการประกอบอาชีพในอนาคต รวมถึงการเลือกคนที่จะแต่งงานได้ด้วย
เมื่อนำแนวคิดเรื่องทุนวัฒนธรรมมามองในสังคมไทย จะพบว่าผู้คนในสังคมต่างมีทุนที่เป็นฮาบิตุสกันอยู่แล้ว เป็นทุนที่ได้รับการถ่ายทอดจากครอบครัวและกลุ่มสังกัด และมีการเปลี่ยนแปลงในทุกขณะของชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมและผู้คนที่เราปฏิสัมพันธ์ และรวมถึงเป็นปัจจัยในการเลื่อนชั้นทางสังคม เช่น หลังจากเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เราเข้าสู่โลกของการทำงาน เราจำเป็นที่ต้องปรับตัวและเรียนรู้วัฒนธรรมองค์การ เพื่อให้การทำงานราบรื่นและมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
ส่วนทุนที่เป็นรูปธรรม เป็นทุนที่แสดงถึงการสะสมวัตถุ และเป็นทุนที่เมื่อสะสมไปนานๆจะแปรเปลี่ยนเป็นทุนทางเศรษฐกิจ และแสดงถึงวิถีชีวิตและรสนิยมในการสะสมของสิ่งนั้น เช่น การสะสมภาพวาด เป็นเหมือนงานอดิเรกหรือรสนิยมในการบริโภค แต่พอเวลาผ่านไปภาพวาดที่สะสมจะสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนการเป็นเจ้าของภาพคนแล้วคนเล่า ซึ่งทุนนี้ไม่ทุกคนที่จะสะสมหรือเพิ่มพูน
สุดท้ายทุนที่ถูกทำให้เป็นสถาบัน เป็นทุนที่คนในสังคมต่างต้องสะสมและเพิ่มพูน เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นทุนทางเศรษฐกิจหรือการยอมรับจากสังคม ทุนนี้เป็นลักษณะของการรับประกัน โดยแสดงอยู่ในรูปของประกาศนียบัตร หนังสือรับรอง และใบปริญญาบัตร เป็นต้น เช่น ใบปริญญาบัตร สามารถเปลี่ยนรูปเป็นทุนทางเศรษฐกิจ คือ เงินเดือน หรือหนังสือรับรองทางวิชาชีพต่างๆ สามารถเปลี่ยนรูปเป็นการทำงานในสาขาเฉพาะทางและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นทุนทางวัฒนธรรมจึงเป็นทุนที่ทุกคนต่างสะสมและเพิ่มพูน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และเพื่อเลื่อนสถานะทางสังคมจากชนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชนชั้น ซึ่งรูปแบบทุนที่ถูกทำให้เป็นสถาบันคือทุนที่มีพลังและส่งเสริมให้เกิดการเลื่อนสถานะทางสังคมได้มากที่สุด
สรุป แนวคิดของปิแอร์ บูร์ดิเออ เป็นแนวคิดที่มุ่งทำความเข้าใจและแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างและปัจจัยภายในสังคมที่เราดำเนินชีวิต เพื่อให้เราเข้าใจถึงความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่มีชนชั้นครอบงำผ่านระบบการศึกษา การผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมทั้งจากสังคมและตัวเราที่เลือกเอง รวมถึงทุนทางวัฒนธรรมและฮาบิตุสที่แสดงถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมในการกำหนดฐานะทางสังคม ทั้งโดยผ่านการสืบทอดและการสร้างเองขึ้นมาใหม่ และไม่ใช่แค่สังคมที่มีผลต่อเรา แต่เราผู้อยู่ในสังคมก็มีผลต่อทิศทางของสังคมได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งการอยู่ในสังคมทุนนิยมการรู้เท่าทันและมองเห็นความหมายแฝงที่อยู่ในสิ่งต่างๆ รวมถึงตัวเราจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu: 1930 – 2002) เป็นนักสังคมวิทยาชาวฝรั้งเศษ บูร์ดิเยอร์ได้มีแนวคิดทางสังคมวิทยาที่สำคัญ เช่นในเรื่อง ฮาบิตุส (habitus) , ทุนที่สะสมในตัวของบุคคล และอื่นๆ บูร์ดิเยอมีความคิด คือ สังคมไม่มีความเท่าเทียม (จากเพจเฟสบุ๊ค สังคม สมัยใหม่ )
เอกสารอ้างอิง
หนังสือ
สุภางค์ จันทวานิช. 2557. ทฤษฎีสังคมวิทยา พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุภางค์ จันทวานิช และรุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข. 2549. “แนวคิดทางสังคมวิทยาของปิแอร์ บูร์ดิเออ”
ใน รวมบทความทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปี 2549 เนื่องในอากาสเกษียณอายุราชการของ
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์. กรุงเทพฯ:คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์
วันดี สันติวุฒิเมธี. (2560). ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียนกับอรรถพล อนันตวรสกุล. สืบค้น 29 ธันวาคม 2563, จาก https://www.the101.world/athapol-interview/
MY FAIR LADY (1964): บุษบาริมทาง. สืบค้น 29 ธันวาคม 2563, จาก https://www7.nungsub.com/my-fair-lady-1964
Wirote Aroonmanakun. (2563). ดูหนังกับนักภาษาสตร์:My Fair Lady (1964). สืบค้น 2 มกราคม 2564, จาก medium.com/@wirotearoonmanakun/ดูหนังกับนักภาษาศาสตร์-my-fair-lady-1964
โฆษณา