21 มี.ค. 2021 เวลา 03:43 • ท่องเที่ยว
ลงจอดบนดินvsในน้ำ แบบไหนโอกาสรอดมากกว่า?
การเดินทางโดยเครื่องบินถือเป็นการเดินทางที่มีความปลอดภัยสูงมากครับๆ การที่เครื่องบินจะเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุ ถ้าวัดกันตามสถิติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 0.000086% เท่านั้น (ข้อมูลจาก องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO นะครับ)
1
แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหมม
แต่ถ้าหากโชคชะตานั้นเล่นตลก (ก็ไม่ตลกหรอกครับที่จริง)
เที่ยวบินที่คุณโดยสารนั้นมีความจำเป็นที่ต้องลงจอดฉุกเฉิน โดยที่ไม่มีสนามบินอยู่รอบๆข้างหรือมีถนนเส้นยาวตัดผ่านที่ดูแล้วเหมาะสมกับการลงจอดฉุกเฉิน
คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ ระหว่าง
ลงจอดบนพื้น (Force landing) กับ ลงจอดในน้ำ (Ditching)
แบบไหนจะมีโอกาสรอดมากกว่ากัน ?
ซึ่งหลังจากที่่ผมไปรวบรวมข้อมูลมาจากหลายๆแหล่ง ทั้งบทความ เว็บไซต์ต่างๆ และจากความเห็นของตัวนักบินเอง คำตอบก็คือ "บนพื้น" ครับ
สาเหตุของคำตอบนี้ไม่ใช่เพราะว่า การลงจอดบนพื้น หรือลงจอดในน้ำนั้นง่ายกว่าหรือยากกว่ากันนะครับ เพราะถ้าถึงจุดๆนั้นจริง โอกาสที่จะลงจอดสำเร็จนั้นแทบจะเท่ากันเลยครับ แต่ใจความสำคัญที่ทำให้โอกาสรอดชีวิตแตกต่างกันคือ
"หลังจากที่ลงจอดเรียบร้อยแล้ว" ต่างหาก
สมมติว่านักบินสามารถลงจอดได้ เครื่องบินไม่มีการแตกหักนะครับ สิ่งแรกที่ต้องทำคือรีบออกจากตัวเครื่องบิน และปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือใช่ไหมครับ
แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตในน้ำนั้นมีมากกว่า เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างครับ ยกตัวอย่างเช่น
Photo: https://www.theleader.com.au/
1.อุณหภูมิและสภาพแวดล้อม - อุณหภูมิของทะเลในมหาสมุทรส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 10°C (ในภูมิภาคที่เป็นเขตร้อนชื้นก็จะอุ่นขึ้นมาหน่อย แต่ก็ต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายมนุษย์อยู่ดี) ซึ่งอุณหภูมิขนาดนั้น ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อที่จะเล่นน้ำ หรือมีชุด dry suit อุณหภูมิร่างกายของเราก็จะลดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตจาก ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) อีกทั้งคลื่นลมในมหาสมุทรนั้นก็มีความแรงมากจนทำให้เราว่ายน้ำไม่ไหวอย่างแน่นอน ต่อให้ไม่จมน้ำ เราก็อาจจะหนาวตายได้
2.การบาดเจ็บ - แน่นอนเพราะว่าการลงจอดแบบนี้ไม่ใช่การลงจอดแบบปกติ มีโอกาสสูงมากที่เราจะบาดเจ็บจากการลงจอดฉุกเฉิน ซึ่งถ้าหากอาการบาดเจ็บมีความสาหัสมาก โอกาสการรอดชีวิตก็จะต่ำลงไปอีก
3.การมาถึงของความช่วยเหลือ - ท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องภาวนาให้เกิดขึ้นก็คือ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ซึ่งการลงจอดในน้ำนั้นทำให้การช่วยค้นหาและช่วยเหลือ เกิดขึ้นได้ยากขึ้น รวมถึงใช้เวลานานกว่าการช่วยเหลือบนบกแน่นอน ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้น ก็ต้องวิธีให้ไม่เสียชีวิตจากปัจจัยข้อ 1 กับ ข้อ 2 เสียก่อน
Photo: https://aviacion.edu.co/
ตัวอย่างที่พูดมาเมื่อกี้นั้น เป็นแค่ตัวอย่างคร่าวๆเท่านั้นนะครับ และปัจจัยจริงๆที่จะส่งผลให้การลงจอดได้อย่างปลอดภัยนั้น มีอยู่เยอะแยะมากมาย ไม่ใช่แค่พิจรณาว่าเป็นพื้นดินหรือพื้นน้ำ และถ้าถามกันตรงๆการลงจอดในน้ำนั้นก็ลดความเสี่ยงอื่นๆได้หลายอย่าง อย่างเช่นโอกาสที่เครื่องบินจะติดไฟหลังจากลงจอด นอกจากนั้นเครื่องบินของสายการบินจะมีแพยาง(raft) ที่มาพร้อบกับเครื่องมือให้สัญญานทางวิทยุ และอุปกรณ์ยังชีพด้วยครับ
ซึ่งในประวัติศาสตร์การบินก็มีเหตุการณ์ลงจอดฉุกเฉินในน้ำสำเร็จ และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย นั่นก็คือ เหตุการณ์ Miracle of hudson
แต่อย่ากังวลไปนะครับ เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่บรรทัดแรกๆแล้วว่า การเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เกิดขึ้นได้ยากถึงยากมากกกก (ก ไก่ล้านตัว) เพราะในทางการบินนั้นความปลอดภัยคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุดครับ และถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น สิ่งที่ต้องทำก็คือปฏิบัติตามคำแนะนำของลูกเรือ และตั้งสติไว้ให้มั่นครับ
อย่าลืมกดติดตามเพจ บินเลี่ยน เพจแบ่งปันความรู้ด้านการบินแบบย่อยง่ายนะครับ
โฆษณา