17 เม.ย. 2021 เวลา 07:06 • ท่องเที่ยว
เด็กบ้านนอกออกเที่ยว : มาชู-ปิกชู ภูเขาสายรุ้ง คุสโก เปรู 3
เช้าวันรุ่งขึ้น หกโมงตรง พวกเราทุกคนลงมาพร้อมกันที่ ล็อบบี้ ด้านล่างโรงแรมตามเวลาที่นัดกันไว้ พร้อมกับของใช้ส่วนตัวเล็กน้อย เพื่อความคล่องตัวในการเดินทาง
เสื้อกันฝน ทุกคนต้องเตรียม ตามที่'แม็ค' ได้เช็คพยากรณ์อากาศ ซึ่งอากาศตอนเช้าที่นี่หนาวมาก บางครั้งอาจมีฝน เราเลยต้องพร้อมไว้ก่อน
พวกเราเดินเป็นกลุ่มไปยัง' ท่ารถบัส' ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่เราพักกัน รอรับนักท่องเที่ยวขึ้นไปยังบนเขาที่ตั้งของ 'มาชู-ปิกชู ' เราคิดว่ามาเช้ากันแล้ว แต่ภาพที่เราเห็น มีคนมาก่อนเรายืนต่อแถวรอขึ้นรถ กันยาวมาก
ท่ารถบัสที่มี นักท่องเที่ยว ยืนเข้าแถวตากฝนรอคิว
ฝนเจ้ากรรม เริ่มตกลงมา จากเบาๆลงเม็ดเปาะแปะ กลายเป็นหนักขึ้นแบบไม่ขาดสาย และหนักขึ้นเรื่อยๆ เสื้อกันฝนที่เตรียมมาได้ทำงานของมัน แถวที่ต่ออยู่ ก็ยังคงเดิม แถมยังยาวขึ้นอีก ไม่มีขยับ จนเกือบเจ็ดโมง พวกเราถึงได้ขึ้นรถ ในสภาพที่แต่ละคนเปียกฝนกัน
รถบัสขับขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ไม่เร็วมาก เพราะทางที่แคบ แค่รถสวนกันได้ ทั้งชัน และลื่น คนขับเลยต้องระวังเป็นพิเศษ
รถขับเลียบไหล่เขาตามเส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 40 นาที ก็มาถึงลานจอดด้านบน พวกเราลงจากรถเดินตามนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่ต่อแถวกันไป โดยที่ฝนเจ้ากรรม ยังทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่องเลย แม้แต่นิดเดียว
ภาพที่เห็นด้านหน้าทางเข้า ก็จะเป็น กลุ่มคนที่ยืนต่อแถว สวมเสื้อกันฝนหลากสี อย่างกะขบวนการมนุษย์ไฟฟ้า แดง น้ำเงิน เหลือง เขียว สดใส แถวยาว ยืนรอคิวตรวจบัตร ด้านหน้าทางเข้า
ประตูทางเข้า มาชู-ปิกชู
สิบห้านาที ที่ยืนรอกลางสายฝน ผมเตือนทุกคนให้เข้าห้องน้ำก่อนเข้าพื้นที่ เพราะป้ายบอกข้างบนไม่มีห้องน้ำนะ หลังจากนั้นก็ทยอยเดินตามกันไปด้านใน ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวคนอื่นๆที่เดินแถวเรียงหนึ่ง เข้าสู่พื้นที่ที่เรียกว่า ' มาชู-ปิกชู '
สองข้างทางที่แคบ มีต้นไม้สลับกับทุ่งหญ้าประปราย มีกลุ่มนักท่องเที่ยวทยอยเดินขึ้นไปเพื่อไปชมความงามของสถานที่ ก็มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเดินสวนกับพวกเราลงมา
ป้ายที่บอกทางและประวัติความเป็นมาของ สถานที่
ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า พวกเขามาตั้งแต่กี่โมง ถึงเที่ยวชมกันเสร็จเร็วขนาดนี้ เพราะนี่พึ่งจะแปดโมงกว่าๆเอง
หลังจากเดินตามทางที่ขึ้นที่สูงไปไม่นาน(2430 ม.จากระดับน้ำทะเล) ก็มาถึงลานด้านบน ที่ค่อนข้างกว้าง มีนักท่องเที่ยวหลายคนที่ยังใส่เสื้อกันฝน เดินหาจุดถ่ายรูป ' มหาชน ' ที่เคยเห็นตาม โปสการ์ด หรือนิตยสารท่องเที่ยว หรือสื่อต่างๆ
บริเวณลานกว้างด้านบน มาชู-ปิกชู
แต่...ฟ้า ฝนไม่เป็นใจ ผมเดินไปตามจุดที่ทำการบ้านมาแล้วว่า ถ่ายรูปมุมนี้สวยแน่ๆ ภาพที่เห็นแม้ฝนจะเบาลงแต่ยังมิวายมีหมอกลงมาปกคลุม บริเวณต่างๆจนทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ ได้ไม่ชัดเท่าไร
จุดถ่ายรูป มหาชน แต่มีหมอกปกคลุม
ผมได้แต่อธิษฐานในใจต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอยู่ที่นี่ ว่า'ผมอยากเห็นภาพสวยๆ ของ 'มาชู-ปิกชู ' ผมอุตส่าห์เดินทางข้ามโลกมา ไม่ได้อยากมาดูหมอก เหมือนเทพแห่ง อินคาจะรับรู้ในคำอธิษฐานของผม( หรือคนอื่นๆด้วย)ฝนเริ่มหยุด ฟ้าเริ่มเปิด หมอกเริ่มจาง ทุกสิ่งอย่างเริ่มอยู่ในความปกติ
ภาพที่เห็นจากสายตา คือ.....ซากปรักหักพัง ของกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ กินพื้นที่กว้างตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลาง เขาสูงที่อยู่รายล้อม
ฝนหยุดฟ้าเริ่มเปิด
"โหหหห... สวยมากกก ขึ้นมาสร้างได้ไงวะเนี่ย " ผมลืมตัวร้องออกมาเบาๆกลัวคนอื่นได้ยิน
สวยจริงๆครับ กับสิ่งที่ผมเห็นตรงหน้า ความอลังการงานสร้างของ'มาชู-ปิกชู ' มันไม่ได้อยู่ที่ความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง ที่ตั้งเรียงราย เป็นร้อยๆ หลัง แต่มันอยู่ตรงที่ชาว อินคา ขึ้นมาสร้างอยู่บนเขาที่สูงขนาดนี้ได้ยังไง หินหลายๆก้อน ขนาดใหญ่ๆ ขนมายังไง ถูกขนมาวางซ้อนทับกัน เป็นบ้านเรือน เป็นหมู่บ้าน หลายร้อยครอบครัว
พื้นที่ก่อสร้างบ้านเมือง ถูกเลือกให้อยู่ในตำแหน่งที่ราบระหว่างเขาสองลูก ปรับพื้นที่ให้ลดหลั่นเป็นขั้นบันได ตามความชันของหุบเขา แต่ละขั้นนี่สูงเกือบสามเมตร มีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบ วางระบบชลประทาน ที่กักเก็บน้ำจากธรรมชาติ ที่ระบายน้ำป้องกันน้ำขัง แยกส่วนของบ้านผู้ปกครอง ของชาวบ้าน สถานที่บูชาเทพเจ้า แท่นบูชายัญ ส่วนเกษตรกรรม และส่วนอื่นๆอีก
เทคนิคการก่อสร้าง ที่มีการนำหินมาสกัด แล้ววางเรียงซ้อนกันให้สูง เป็นตัวอาคารบ้านเรือน มีอายุนับพ้นปี นี่คือความอลังการงานสร้างของ ชนเผ่า' อินคา' ที่ถูกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ยลผลงาน
จุดชมวิวและบ้านของชาวอินคา
พวกเราเดินเก็บภาพ ให้ได้เยอะที่สุด ตามจุดต่างๆเพราะไม่รู้ว่าฝนจะตกอีกหรือเปล่า หลังจากเก็บภาพจุดถ่ายของ 'มหาชน 'ได้หนำใจแล้ว ก็เดินวนถ่ายรูปเก็บรายละเอียด ตามทางเดิน ที่ให้เดินเป็น' วันเวย์ ' จนเกือบทางออกที่ค่อยๆไต่ลงเขา ก็เริ่มเห็นนักท่องเที่ยว กลุ่มใหม่เดินสวนทางขึ้นมาอีกหลายกลุ่ม
ก่อนทางออกมีลานกว้างที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ มีฝูง ลามะ อัลปาก้า ที่เป็นสัตว์เลี่ยงพื้นเมือง ยืนเป็นกลุ่ม ให้นักท่องเที่ยวได้ชักภาพคู่กับพวกมัน เพราะดูพวกมันไม่ค่อยตื่นคน อาจเพราะคุ้น ชิน กับคนที่มาเที่ยวแล้วก็เป็นได้
เราใช้เวลาในการเดินชมโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลกแห่งนี้ (ยูเนสโก 2526)สี่ชั่วโมงกว่าๆ เป็นสี่ชั่วโมงที่คุ้มค่ากับการเดินทางข้ามโลกมาจริงๆ
ลานเลี้ยงสัตว์ ก่อนทางออก
ทางออกที่อยู่ติดกับทางเข้า มีจุดที่ให้นักท่องเที่ยวได้ประทับตรา 'สัญลักษณ์' ของ ' มาชู-ปิกชู 'ลงบนของพาสปอร์ต เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต เคยมาเยือน ที่นี่แล้ว
รอยประทับตราลงบน พาสปอร์ต เล่มที่หมดอายุแล้ว
หลังจากนั้นพวกเราเดินทางลงจากข้างบนลงมาเก็บสัมภาระที่โรงแรม เช็คเอ้าท แล้วมารอรถไฟที่สถานี แล้วแวะร้านอาหารที่อยู่ติดริมทางรถไฟ
'Maoacho Craft beer and Peruvian Cuisine'เป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และทางรถไฟ อาหารหลายอย่างถูกสั่งมาเต็มโต๊ะเพราะรวมมื้อเช้ากับเที่ยงเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเมนู สเต็กเนื้อ อัลปาก้า ที่ทางร้านแนะนำให้ลองให้ได้ ไม่งั้นจะหาว่ามาไม่ถึง' เปรู '(ว่าไปนั่น)
ผมเปิดก่อนคนแรก จากนั้นคนอื่นก็ตามมา เราลงความเห็นว่า เนื้ออร่อยมาก นุ่ม ไม่เหนียว ไม่มีกลิ่นสาป แต่มีบางคนในกลุ่มไม่กล้าลอง (แอบบอก สงสารมัน อันนี้ก็ไม่แปลกนะครับ แล้วแต่คน แล้วแต่มุมมอง )
รถไฟขบวน 'Vistadome'ของ ' Peru Rail ' ซึ่งเป็นขบวนที่ตกแต่งด้วยกระจกใสเพื่อให้ผู้โดยสารเห็นวิวได้ 180 องศา ทั้งด้านข้าง ด้านบน แถมยังมีการแสดง การเดินแบบผ้าพื้นเมืองของชาวอินคา ของพนักงานบนรถไฟ ให้ได้ชมด้วย ขบวนรถเริ่มออกจากสถานีบ่ายสอง จาก'Aguas Calientes' ถึงเมือง ' Ollantaytambo ' ใช้เวลาไป เกือบสองชั่วโมง
บนรถไฟขากลับ ที่มองเห็นวิวได้กว้าง เพราะหลังคาเป็นกระจก
รถตู้มารอรับพร้อมบึ่งกลับ'คุสโก' ทันทีโดยพวกเราหลายคนหลับหลังจากอ่อนเพลียก้บการเดินทาง จนมาถึงที่พักเป็นเวลาเย็น เราแยกย้ายหาซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ ไว้กันหิวตอนกลางคืนแล้วแยกย้ายกันเข้าห้อง เพราะพรุ่งนี้ยังต้องเดินทางแต่เช้า
*จบตอนก่อนนะครับ เดี๋ยวตามอ่านต่อกันตอนหน้า กับภูเขาสายรุ้ง
** มาชู-ปิกชู ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง บนที่ราบสูง แอนดีส เหนือแม่น้ำ อุรุบัมบา ลึกเข้าไปในป่าแอมะซอน เป็นหนึ่งสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมอินคา เป็นอารยธรรมใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ในช่วงศตวรรษที่ 13 ครอบคลุมอาณาเขตหลายประเทศ เมืองนี้สาปสูญไป 3 ศตวรรษ ถูกค้นพบโดย นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ' Hiram Bingham ' ในปี ค.ศ.1911 ทำให้เมืองนี้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบัน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่บรรดานักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝัน อยากที่จะไปเยือนให้ได้สักครั้ง และยังถูกยกให้เป็นเป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่อีกด้วย
#เด็กบ้านนอกออกเที่ยว
ชอบกดไลค์ ถูกใจกดแชร์ ได้นะครับ
ขอบคุณที่ติดตามกันมานะครับ
โฆษณา