Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
10 AM story
•
ติดตาม
22 มี.ค. 2021 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์
บางครั้งน้อยก็ดีกว่ามาก
ผมมีเรื่องอยากเล่าให้ฟังสั้นๆ สองเรื่องครับ
.
เรื่องแรกเป็นเรื่องปัญหาของบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง..
ในปีค.ศ. 1966 บริษัททำขนมแห่งหนึ่งต้องการแตกไลน์การผลิตสินค้าใหม่ โดยนำสินค้าเดิมของตนเองที่เป็นขนมปังกรอบมีลักษณะเรียวยาวมาเคลือบด้วยช็อคโกแลตทั้งแท่ง ซึ่งเมื่อทำออกมาขายแล้วพบว่า สินค้าใหม่นี้ขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าร้อน
เมื่อลองไปสำรวจความเห็นจากลูกค้าก็พบว่า ลูกค้าชอบรสชาติของขนมปังและช็อคโกแลตมาก แต่ไม่ชอบที่ช็อคโกแลตละลายติดมือเวลาทาน ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทจึงคิดที่จะใช้กระดาษสีเงินมาห่อตรงปลายเพื่อไม่ให้มือเลอะเทอะเวลากิน แต่ก็ติดปัญหาด้านการผลิตและต้นทุนที่สูงขึ้นมาก สุดท้ายจึงได้เปลี่ยนวิธีแก้ปัญหามาเป็นการเคลือบช็อกโกแลตโดยเว้นส่วนปลายแท่งไว้นิดหน่อยเพื่อให้เป็นเหมือนกับ “ที่จับ” แทน
วิธีนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และทำให้ยอดขายของเจ้าขนมตัวนี้พุ่งกระฉูดโดยสามารถทำยอดขายได้ถึง 3 หมื่นล้านเยน ในการออกวางจำหน่ายช่วง 2 ปีแรก และทำกำไรมหาศาลให้บริษัท
.
ขนมชนิดนี้ออกวางจำหน่ายโดยใช้ชื่อว่า ช็อกโกเทก (Chocoteck) และได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่วัยรุ่นชาวญี่ปุ่น
ในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ป๊อกกี้ (Pocky) และบริษัทที่กล่าวถึงนี้มีชื่อว่า กูลิโกะ (Glico) นั่นเอง
.
.
เรื่องที่สองเป็นการบรรยายบนเวที TED ในหัวข้อ How to make choosing easier โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Sheena Lyengar
.
Sheena และเพื่อนของเธอชื่อ Mark Lepper ได้ทำการทดลองชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการวางแยม 6 รสชาติที่แตกต่างกันให้ลูกค้าได้ชิมในตลาดขายอาหารท้องถิ่น แล้วดูว่ายอดขายเป็นอย่างไร
ต่อมาเขาลองวางแยมเพิ่มเป็น 24 รสชาติ แล้วตรวจสอบอีกครั้งว่าการมีตัวเลือกที่มากขึ้นส่งผลต่อยอดขายอย่างไรบ้าง
.
ผลลัพธ์เป็นดังนี้ครับ
.
ผลที่ได้ค่อนข้างน่าสนใจ คือแม้จะมีจำนวนคนที่มองเห็นสินค้าใกล้เคียงกัน แต่จำนวนคนที่หยุดดูสินค้าจริงๆตอนที่วางขาย 24 รสชาติสูงกว่า ตอนที่วางขาย 6 รสชาติประมาณ 20%
ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือตอนวางแยม 24 รสชาติมีผู้สั่งซื้อเพียง 3 % เทียบจำนวนคนที่หยุดดูสินค้า
ในขณะที่ตอนวางแยมแค่ 6 รสชาติ มีจำนวนผู้สั่งซื้อสูงถึง 30%
.
ตัวเลือกที่น้อยกว่า ทำให้ยอดขายมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
.
ที่เล่ามาทั้ง 2 เรื่องผมแค่อยากจะบอกว่า บางครั้งการมีน้อยอาจจะดีกว่ามีมาก
พอลองมาคิดดูดีๆแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อชีวิตเราจริงๆก็มีไม่มาก
ลองดูในตู้เสื้อผ้าของคุณก็ได้ มีกี่ชุดที่คุณใส่ประจำ, แอปพลิเคชันในมือถือของคุณ มีกี่แอปที่ใช้บ่อยๆ
ผมเชื่อว่าคงมีไม่มาก และอาจไม่ถึงครึ่งของจำนวนทั้งหมดที่คุณมีหรอก จริงไหมครับ
นี่แสดงว่าจริงๆแล้ว คุณไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่คุณมีมากขนาดนั้น คุณก็สามารถใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างที่เป็นอยู่ได้
.
ในอีกแง่มุมหนึ่ง การมีของน้อยลงก็ทำให้เราเสียเงินน้อยลงด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น
ถ้าเรามีรถ 1 คัน เราก็เสียค่าดูแล, ประกัน, ซ่อม ฯลฯ แค่ 1 คัน
ถ้าเรามี 10 คัน เราก็ยิ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะเป็นทวีคูณ
.
เมื่อเราเสียเงินน้อยลง ความทุกข์ที่จะเกิดจากสิ่งของเหล่านี้ก็น้อยลง ความสุขก็เพิ่มขึ้น
การเลือกที่จะมีของแค่เท่าที่จำเป็นจริงๆ จะเปิดโอกาสให้คุณได้ใช้เวลาของคุณอย่างเต็มที่กับสิ่งที่คุณเห็นคุณค่าของมันและใช้เวลาน้อยลงกับสิ่งที่ไม่ได้นำความสุขและความพึงพอใจมาสู่คุณอย่างแท้จริง
.
ไม่แน่นะครับ นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม Steve Jobs และ Mark Zuckerberg ถึงเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าตัวเดิมๆอยู่แค่ไม่กี่ตัว ซ้ำๆกันเกือบทุกวัน..
.
“Identify the essential. Eliminate the rest.”
- Leo Babauta -
.
จุ้ย-ศรีแก้ว
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย