30 มี.ค. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
Netflix และ นโยบายลาได้ไม่จำกัด
เมื่ออิสระต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ
9
เมื่อหลายปีก่อน Netflix ได้เริ่มนโยบายที่สั่นสะเทือนโลกการทำงานจนบริษัทอื่นๆ เลียนแบบตาม นโยบายที่ว่าคือ ‘ลางานได้ไม่จำกัด’ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนให้พนักงานเป็นฝ่ายกำหนดเองว่าจะเลือกทำงานกี่วันและพักผ่อนกี่วัน จากเดิมที่บริษัทจะกำหนดมาให้เลยว่าลาพักได้กี่วัน
2
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
2
ใครที่ชอบความยืดหยุ่นและอิสระก็จะสนับสนุนนโยบาย
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มองว่านโยบายนี้กลับทำให้คนยิ่งไม่กล้าหยุด เพราะกลัวดูไม่ดี
แล้วใครเป็นฝ่ายถูก?
7
ใน “No Rules Rules” หนังสือเล่มใหม่ของ รีด แฮสติงส์ CEO แห่ง Netflix ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของนโยบายลาได้ไม่จำกัดนี้และได้อธิบายไว้ว่า ทำไมช่วงแรกทำแล้วไม่สำเร็จ รวมทั้งแก้ปัญหาอย่างไรจนใช้นโยบายนี้มานานเกือบ 20 ปี
6
#จุดเริ่มต้น
2
ก่อนจะเปลี่ยนนโยบาย Netflix เองก็เคยใช้วิธีกำหนดจำนวนวันหยุดเหมือนบริษัทอื่น จนกระทั่งในปี 2003 มีพนักงานคนหนึ่งถามรีดว่า
3
“ในเมื่อเราไม่ได้นับจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันหรือต่อสัปดาห์ แล้วทำไมเราถึงต้องนับจำนวนวันหยุด”
8
เพราะเวลาประเมินพนักงานที่ Netflix คำถามที่ใช้ในการประเมินคือ ‘ผลงานที่ผ่านมามีอะไรบ้าง?’ ไม่ใช่ ‘ทำงานทั้งหมดกี่ชั่วโมง?’
6
คำถามนั้นทำให้รีดฉุกคิดขึ้นมาว่า ถ้าชั่วโมงการทำงานไม่สำคัญ ชั่วโมงการพักผ่อนก็ไม่ควรสำคัญเหมือนกัน ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะลาหยุดกี่วัน ตราบเท่าที่ผลงานน่าพอใจก็น่าจะโอเคแล้วไม่ใช่หรือ?
8
นอกจากนี้ รีดยังนึกขึ้นได้ด้วยว่านวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัทมักจะเกิดขึ้นหลังจากพนักงานเพิ่งกลับมาจากการลาพักผ่อน เพราะการได้เว้นช่วงจากการทำงานจะทำให้เรากลับมามองปัญหาเดิมด้วยมุมมองใหม่และมีวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์กว่าเดิม
6
#ข้อกังวล
2
แต่ถึงอย่างนั้น รีดเองก็ยังกังวลว่าการใช้นโยบายดังกล่าวจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดีหรือเปล่า
ข้อแรกที่เขากังวลคือ หากทุกคนลางานในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บริษัทก็จะดำเนินงานได้ช้ากว่าปกติ เพราะต้องคอยรอให้ทุกคนกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา
2
ข้อที่สองเป็นกรณีตรงข้ามกัน คือพนักงานไม่กล้าลาเพราะคนในทีมไม่มีใครลา
ซึ่งสุดท้ายความกังวลของเขาก็เกิดขึ้นจริง
ตัวอย่างเช่น หลังจาก Netflix ใช้นโยบายลาได้ไม่จำกัดมา 1 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือแผนกบัญชีปิดงบสาย เพราะมีคนในทีมเลี่ยงช่วงเวลาที่งานหนักที่สุดของปีด้วยการลาพักร้อนไปสองอาทิตย์ แน่นอนว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นก็สร้างความวุ่นวายให้กับบริษัทไปไม่น้อย
6
แล้วก็จะมีอีกตัวอย่างคนละขั้ว ดอนน่าเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่ขยันทำงาน เธอเลิกงานช้าและเข้างานเร็วทุกวัน จนถึงจุดหนึ่ง รู้ตัวอีกทีเธอก็ไม่เคยลาพักร้อนเลยสักวันมาตลอด 4 ปี หากถามว่าปัญหาอยู่ตรงไหน คำตอบก็คือทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมทีมของเธอทุกคนเป็นพวกบ้างานกันหมด เธอเลยไม่กล้าลางานเพราะกลัวว่าจะเป็นการกินแรงคนในทีม
11
#จัดการกับปัญหาที่เกิด
1
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาและรับฟังฟีดแบคจากพนักงาน รีดจึงได้สรุปวิธีการแก้ปัญหาออกมาเป็น 2 ข้อ
1. หัวหน้าต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ต่อให้หัวหน้า ‘บอก’ คนในทีมว่าลางานได้เต็มที่เลย แต่ตัวคนพูดดันไม่เคยทำซะเอง ก็คงไม่มีคนในทีมคนไหนกล้าเป็นคนเริ่มลางานก่อน ฉะนั้นถ้าอยากให้นโยบายนี้ได้ผลตามที่คาดหวัง หัวหน้าก็ต้องเป็นฝ่ายเริ่มลาพักให้ดูเป็นตัวอย่าง ตัวรีดเองก็แสดงตัวอย่างด้วยการลาพักถึง 6 อาทิตย์ต่อปี
6
2. ไม่กำหนดจำนวนวันแต่ต้องกำหนดเงื่อนไข
การไม่กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนจะทำให้เกิดเหตุการณ์แบบกรณีฝ่ายบัญชี เพราะช่วงเวลาที่ ‘เหมาะสม’ สำหรับแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกัน หรือบางคนก็อาจใช้ช่องว่างของนโยบายมาลักไก่ในการไม่ทำงานและจงใจหยุดในวันที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น
2
.การสื่อสารว่าเงื่อนไขในการหยุดคืออะไรบ้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น จะสามารถลาหยุดในช่วงเวลาเดียวกันได้ไม่เกินกี่คน หากจะหยุดยาวต้องมีการแจ้งล่วงหน้า และมีช่วงเวลาไหนบ้างที่ทุกคนจำเป็นต้องอยู่กันพร้อมหน้า
4
#การให้อิสระหมายถึงความเชื่อใจ
2
หากแก้ปัญหาได้ถูกจุด นโยบายลาได้ไม่จำกัดจะทำให้คนในบริษัทพึงพอใจกับการทำงานมากขึ้นและช่วยดึงดูดคนนอกที่มีความสามารถมาสมัครงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบทำงานแบบ Flexible มากกว่า
2
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การที่องค์กรมอบอิสระให้แก่พนักงานขนาดนี้หมายความว่าองค์กร ‘เชื่อใจ’ พนักงานว่าจะทำงานได้สำเร็จตามที่รับมอบหมาย
1
ซึ่งความเชื่อใจนี้เองก็จะส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองควรมีความรับผิดชอบให้สมกับที่องค์กรไว้ใจ
3
สิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายลาได้ไม่มีวันหยุดก็คือ วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงเพราะสร้างขึ้นบนความเชื่อใจของทุกฝ่าย
5
#careerfact
………………
Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว
4
พูดคุยเรื่องการงาน ถกประเด็นต่างๆ แบ่งปันความรู้
เข้าร่วมกลุ่ม อู้งานมาคุย by Career Fact
อ้างอิง
โฆษณา