22 มี.ค. 2021 เวลา 10:00 • สุขภาพ
"นิ่วทอนซิล" สาเหตุกลิ่นปากเหม็นที่หลายคนไม่เคยรู้
กลิ่นปากอาจไม่ใช่เรื่องของเหงือกและฟันเท่านั้น ลองมาทำความรู้จักกับ “นิ่วทอนซิล” จากร่องเล็ก ๆ ในช่องปากที่คุณอาจไม่เคยนึกถึง
กลิ่นปากถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง หลายคนอาจคิดว่าต้นเหตุของปัญหากลิ่นปากเกี่ยวข้องกับสุขภาพเหงือกและฟันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงต้นเหตุของกลิ่นปากอาจมาจากร่องทอนซิลที่อยู่ภายในช่องปากของเราที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก นั่นคือ Tonsil stones หรือ “นิ่วทอนซิล”
ลองมาทำความรู้จักกับ “นิ่วทอนซิล” ให้มากขึ้นโดย นพ.พัลลภ ศิริบุญคุ้ม แพทย์ประจำแผนกโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์วิทยา ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เพื่อเรียนรู้ถึงสาเหตุ อาการต่าง ๆ รวมถึงการรักษา เพื่อขจัดปัญหากลิ่นปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักกับ “นิ่วทอนซิล”
ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะในกลุ่มต่อมน้ำเหลืองในบริเวณช่องคอ เนื่องจากทอนซิล
เป็นอวัยวะที่มีร่องเยอะ เมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติดในซอกทอนซิลจะเกิดการหมักหมมเป็นเม็ดสีขาวเหลืองฝังอยู่ในร่องทอนซิลกลายเป็น นิ่วทอนซิล (Tonsil stones)
ภาพนิ่วทอนซิลในลำคอ
นิ่วทอนซิลสามารถพบได้ทุกวัย แต่พบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน คนที่มีปัญหานิ่วทอนซิลจะมีกลิ่นปาก ซึ่งส่งผลกระทบเรื่องความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้
อาการ
อาการของนิ่วทอนซิลพบได้หลายรูปแบบ บางคนอาจมีอาการไอแล้วเม็ดสีขาวเหลืองหลุดออกมา บางคนเกิดกลิ่นปาก กลิ่นไม่พึงประสงค์ ทำให้มีอาการระคายคอ ไอแบบไม่ทราบสาเหตุได้
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยนิ่วทอนซิลได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย ซึ่งจะพบลักษณะเม็ดสีขาวเหลืองปักอยู่ในร่องทอนซิล บางกรณีอาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้
การรักษานิ่วทอนซิล
1. แบบไม่ผ่าตัด
- กลั้วคอบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาบ้วนปาก, น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่า
- นวดบริเวณมุมขากรรไกรล่าง ซึ่งตรงกับบริเวณทอนซิลที่อยู่ด้านใน
หากนิ่วทอนซิลอยู่ตื้นมากก็มีโอกาสหลุดออกมาเองได้
- ใช้กรด TCA หรือเลเซอร์จี้บริเวณรอบร่องทอนซิลเพื่อเปิดร่องทอนซิลให้กว้างขึ้น แต่วิธีนี้อาจทำให้กลับมาเป็นซ้ำได้
การรักษานิ่วทอนซิลด้วยการนวดบริเวณขากรรไกรล่าง
2. แบบผ่าตัด
หากอาการเจ็บคอแบบเป็น ๆ หาย ๆ แล้วรู้สึกว่าส่งผลกับชีวิตประจำวันมาก วิธีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ การผ่าตัดต่อมทอนซิลออก โดยหลังจากผ่าตัดจะใช้เวลารักษาตัวประมาณ 1 สัปดาห์
โดยการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกนั้นจะไม่ส่งผลกระทบให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง เพราะยังมีกลุ่มต่อมน้ำเหลืองในช่องคอทำหน้าที่ช่วยดักจับเชื้อโรคอยู่
การแคะหรือเขี่ยนิ่วทอนซิลเอง อาจก่อให้อุปกรณ์หลุดเข้าไปในช่องคอหรือทำให้เกิดบาดแผลได้
ข้อข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้ไม้หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แคะเอานิ่วทอนซิลออกด้วยตัวเอง เพราะอาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น อุปกรณ์หลุดเข้าไปในช่องคอก่อให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหอย เกิดเลือดออกบริเวณเพดานอ่อนและรอบ ๆ บริเวณที่แคะได้ หากพบว่ามีก้อนฝังอยู่ในร่องทอนซิล แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการรักษาจะปลอดภัยที่สุด
ข้อมูลโดย
นพ.พัลลภ ศิริบุญคุ้ม
แพทย์ประจำแผนกโสต ศอ นาสิก ลาริงซ์
ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ติดตามความรู้เรื่องสุขภาพกับ Mahidol Channel
1
ชมคลิปเพิ่มเติม
โฆษณา