22 มี.ค. 2021 เวลา 11:33 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุน Active vs. Passive พร้อมตัวอย่างจริง!
กองทุนรวมเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ ภูมิภาคที่ไปลงทุน อีกทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่น การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มูลค่าตลาดหรืออายุสินทรัพย์ เป็นต้น และอีกหนึ่งในความหลากหลายที่ว่าซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างผลตอบแทน คือกลยุทธ์ในการบริหารซึ่งมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ Active กับ Passive
2
แต่ละกลยุทธ์มีความแตกต่างเป็นอย่างไร? แล้วจะรู้หรือมีวิธีดูยังไงว่ากองทุนรวมไหนมีกลยุทธ์แบบใด? วันนี้เรามาศึกษาและลองจากตัวอย่างจริงกันครับ
1. กองทุนแบบ Active
กองทุนที่มุ่งหวังสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Benchmark) ซึ่งก็คือผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นหรือกลุ่มอุตสาหกรรม ถ้าเป็นกองทุนหุ้นไทยก็นิยมใช้ดัชนี SET TRI เป็นดัชนีชี้วัด ส่วนกองทุนต่างประเทศก็ขี้นอยู่กับว่าลงทุนในหุ้นของประเทศหรืออุตสาหกรรมอะไร
Source: www.bailliegifford.com/en/usa/professional-investor/funds/baillie-gifford-long-term-global-growth-fund/ As of 11/2/2021
เช่น กองทุนชื่อดังอย่าง Baillie Gifford Long Term Global Growth Fund มุ่งหวังสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่า MSCI AC World Index หรือกองทุน Allianz China A-Shares มุ่งหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี MSCI China A Onshore Total Return (Net) หรือก็คือลงทุนหุ้นให้ผลตอบแทนชนะตลาด โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้ตัดสินใจและบริหารเงินลงทุน
1
ผลตอบแทนจะชนะตลาดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้จัดการกองทุน ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น กองทุนก็ควรมีผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ไม่ใช่ว่ากองทุนแบบ Active จะต้องสร้างผลตอบแทนเป็นบวกเสมอไป เพราะเมื่อใดก็ตามที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง หุ้นก็จะปรับตัวลงด้วยเช่นกัน แต่การทำให้ผลตอบแทนของกองทุนปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดเป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงต้องเฟ้นหาหุ้นที่พื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตในอนาคต เพื่อให้กองทุนมีผลตอบแทนสูงกว่าตลาด
1
การมีผู้จัดการกองทุนซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจและบริหารการลงทุนทำให้กองทุนแบบ Active มักจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่ากองทุนแบบ Passive
1
2. กองทุนแบบ Passive
Source: Bloomberg.com
กองทุนที่มุ่งหวังสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ซึ่งก็คือผลตอบแทนรวมตลาดหุ้นหรืออาจจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนี่อง ข้อมูลเมื่อปี 2019 ชี้ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนในกองทุนอยู่ในกองทุนแบบ Passive
ส่วนในไทยมีกองทุน Passive มากมายไม่ว่าจะเป็นดัชนี SET50, S&P 500, Nasdaq, Nikkei 225 ฯลฯ กองทุนแบบ Passive จะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้ใกล้เคียงกับดัชนีตลาดหุ้นหรืออุตสาหกรรมที่เป็นดัชนีชี้วัด หรืออาจใช้วิธีอื่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัด
คำว่า Passive หรือพูดง่ายๆ ก็คือลอกตลาดหุ้น ดังนั้นผลตอบแทนของกองทุนไม่ควรแตกต่างจากดัชนีชี้วัดมาก และวัดค่าได้จากส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนกองทุนและดัชนีชี้วัด (Tracking Error) และจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของหุ้นในดัชนีชี้วัด ทำให้ไม่ต้องใช้ผู้จัดการกองทุนเพื่อการค้นหาหุ้นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด ดังนั้นกองทุนแบบ Passive จึงมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนแบบ Active
1
How to
นักลงทุนสามารถดูว่ากองทุนไหนมีกลยุทธ์การบริหารแบบใดได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (fund fact sheet) โดยระบุไว้ในหัวข้อ “คุณกำลังจะลงทุนอะไร”
Source: Tiscoasset
ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญกองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ (TSF-A) วันที่ 1 มกราคม 2564 ระบุว่าเป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์แบบ Active
Source: Tiscoasset
ดัชนีชี้วัดจะถูกระบุไว้ในส่วน “ผลการดำเนินงานในอดีต” ซึ่งกองทุน TSF-A ใช้ดัชนี SET TRI เป็นดัชนีชี้วัด
1
Source: Kasikornasset
ข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญกองทุนเปิดเค เซ็ท 50 (K-SET50) วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ระบุว่าเป็นกองทุนที่มีกลยุทธ์แบบ Passive
Source: Kasikornasset
ส่วนของผลการดำเนินงานก็จะระบุดัชนีชี้วัด ซึ่งก็คือดัชนี SET50 TRI และส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนกองทุนและดัชนีชี้วัด (Tracking Error)
Source: MFC
กองทุนรวมที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศก็สามารถดูกลยุทธ์การบริหารได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ไชน่ำ อิควิต (MCHINAGA) วันที่ 3 ธันวาคม 2563 ระบุว่ากองทุน MCHINAGA มุ่งหวังให้มีผลตอบแทนเคลื่อนไหว (Passive) ตามกองทุนหลัก
Source: MFC
เพราะกองทุน MCHINAGA เน้นลงทุนผ่านกองทุนหลัก ก็คือ กองทุน Allianz China A-Shares ซึ่งมีกลยุทธ์แบบ Active เพียงกองทุนเดียว ดังนั้นกองทุน MCHINAGA จึงกลายเป็นกองทุนแบบ Active ไปโดยปริยาย และมี MSCI China A Onshore Total Return (Net) เป็นดัชนีชี้วัด
เรียกได้ว่าครบถ้วนทั้งความแตกต่างและเป้าหมายของแต่ละกลยุทธ์ รวมไปถึงวิธีการนำไปใช้จริง ดังนั้นครั้งหน้าหากกำลังสนใจกองทุนหรือมีกองทุนอยู่ในพอร์ตแล้วก็ลองนำไปใช้กันนะครับ
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane
โฆษณา