24 มี.ค. 2021 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
เส้นทางผู้ก่อตั้ง “เจ้าสัว” แบรนด์ข้าวตัง รายได้ 800 ล้าน
เรามักจะได้ยินเรื่องราวความสำเร็จของชาวจีน
ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาอยู่เมืองไทย
และสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง
วันนี้ เรามาทำความรู้จักอีกหนึ่งความสำเร็จของชาวจีนที่อพยพมาอาศัยอยู่ในเมืองไทย
และสามารถสร้างแบรนด์ข้าวตัง ที่มีรายได้ มากกว่า 800 ล้านบาท ต่อปี
แบรนด์ที่ว่านั้นก็คือ ข้าวตัง “เจ้าสัว”
1
ข้าวตัง “เจ้าสัว” มีที่มาที่น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของแบรนด์เจ้าสัว เกิดขึ้นจากคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีชื่อว่า คุณเพิ่ม แซ่เตีย (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น คุณเพิ่ม โมรินทร์)
คุณเพิ่ม เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าในเมืองไทย
โดยเขาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำเงินและทรัพย์สินที่มีติดตัว
มาร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านขายของชำที่ย่านคลองเตย
ในช่วง 4-5 ปีแรก กิจการของคุณเพิ่มดูเหมือนจะไปได้ดี
แต่หลังจากนั้น เริ่มมีร้านขายของชำจำนวนมากมายเกิดขึ้น
ทำให้การแข่งขันของธุรกิจร้านขายของชำในพื้นที่นั้นสูงขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ หุ้นส่วนของคุณเพิ่ม เริ่มทยอยถอนหุ้นคืน
จนสุดท้ายเหลือเพียงแค่คุณเพิ่ม ที่ต้องแบกรับภาระเพียงคนเดียว
และเมื่อเงินทุนที่มีเริ่มร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ เขาจึงต้องตัดสินใจไปขอยืมจากญาติและเพื่อนฝูง เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
แต่ความพยายามรักษาธุรกิจเอาไว้ในครั้งนั้นกลับไม่ประสบความสำเร็จ
กิจการขายของชำยังทรุดต่อเนื่อง จนในที่สุด เขาก็ต้องปิดกิจการลงจากหนี้สินที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ต่อมา คุณเพิ่มตัดสินใจเดินทางมาหาญาติที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจ
และก็พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาในสมัยนั้น นิยมเลี้ยงหมูกันเป็นจำนวนมาก
เขาจึงตัดสินใจชวนเพื่อนที่กรุงเทพฯ มาลองร่วมกันทำธุรกิจขายหมูหย็อง
1
แต่เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ในการขายหมูหย็อง
การทำธุรกิจในครั้งนี้ของเขาก็ขาดทุนอีกเช่นเคย
คุณเพิ่มต้องเปลี่ยนมาขายน้ำหวานในตลาดเทศบาล จังหวัดนครราชสีมา
แต่ก็ยังขายได้ไม่ดี จนสุดท้ายก็ต้องเลิกทำธุรกิจนี้ไปอีกครั้ง
ถึงแม้จะล้มเหลวมาหลายต่อหลายครั้ง
แต่จุดเด่นอย่างหนึ่งในตัวคุณเพิ่มที่เราสังเกตได้
คือการไม่กลัวที่จะผิดพลาดหรือล้มเหลว
2
เขาตัดสินใจ ยืมเงินญาติและคนรู้จักอีกครั้ง เพื่อมาเป็นทุนในการทำหมูแผ่น หมูหย็อง และกุนเชียง เพื่อไปขายในตลาดเทศบาลอีกเช่นเคย
แม้ช่วงแรกกิจการของคุณเพิ่มจะยังขายไม่ดี ลูกค้ายังไม่รู้จัก
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยรสชาติของหมูแผ่น หมูหย็อง และกุนเชียงที่อร่อยถูกปากคนจำนวนมาก
ทำให้ลูกค้าหลายรายเริ่มติดใจในรสชาติและตัวสินค้า
กิจการของคุณเพิ่มเริ่มมีรายได้ดีขึ้น จนมีเงินมากพอจะนำไปใช้หนี้ที่เคยไปยืมมาได้
และเริ่มขยายกิจการด้วยการสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อใช้เป็นร้านขายของฝาก
พร้อมทั้งสร้างโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้มากขึ้น
Cr. WeKorat
ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงปี 2541 ที่ประเทศไทยนั้นเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง
กิจการของครอบครัวคุณเพิ่ม กลับเติบโตขึ้นสวนกระแส
เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงเดินทางมาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา
แล้วได้แวะซื้อข้าวตังหมูหย็องจากร้านเจ้าสัว เพื่อไปเป็นของฝาก
1
ปรากฏว่านักธุรกิจคนนี้ ประทับใจในรสชาติและความอร่อยของข้าวตังเจ้าสัว
จนต้องติดต่อกลับมาหาคุณเพิ่ม เพื่อขอนำสินค้าไปวางขายที่ฮ่องกง
และแน่นอนว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าที่ฮ่องกง
ที่สำคัญนี่ยังเป็นครั้งแรกที่สินค้าของบริษัทมีโอกาสได้ไปวางขายที่ต่างประเทศอีกด้วย
ปัจจุบัน สินค้าของแบรนด์เจ้าสัวนั้นมีหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นหมูแผ่น หมูแท่ง กุนเชียง หมูหย็อง น้ำพริก
และที่ลืมไม่ได้คือ “ข้าวตัง” ของขึ้นชื่อของแบรนด์เจ้าสัว
จนวันนี้ สินค้าของแบรนด์นี้ กลายมาเป็นหนึ่งในของฝากเมืองโคราช
ที่คนมาที่นี่มักจะซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนอื่นด้วยเสมอ
Cr. เจ้าสัว
และในปัจจุบัน สินค้าจากแบรนด์เจ้าสัว ก็มีวางขายในช่องทางโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ
ผลประกอบการของ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เจ้าของสินค้าแบรนด์เจ้าสัว
ปี 2560 รายได้ 418 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 564 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 853 ล้านบาท กำไร 100 ล้านบาท
จะเห็นว่ารายได้ของบริษัทนั้นโตขึ้นมากกว่า 100% ใน 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่กำไรของบริษัทนั้นก็โตขึ้นมากถึง 11 เท่า ในช่วงเดียวกัน
ซึ่งถ้าเราลองสมมติว่า บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ด้วยค่า P/E ที่พอ ๆ กับ บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน ที่อยู่ที่ประมาณ 14 เท่า
ด้วยกำไรของ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ที่ 100 ล้านบาท
จะทำให้แบรนด์เจ้าสัวนั้น มีมูลค่าบริษัทกว่า 1,400 ล้านบาท
1
เรื่องราวของคุณเพิ่ม ผู้ก่อตั้งแบรนด์เจ้าสัว บอกอะไรหลายอย่างแก่เรา
ไม่ว่าจะเป็นความช่างคิดและช่างสังเกตของคุณเพิ่มที่เห็นว่า
เมื่อจังหวัดนครราชสีมามีการเลี้ยงหมูกันเยอะ
เขาก็น่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการแปรรูปเนื้อหมู เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้
2
Cr. เจ้าสัว
และที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ความไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิต
แม้ว่า คุณเพิ่มจะเจอกับความล้มเหลวหลายครั้ง
จนอาจทำให้ตัวเขารู้สึกท้อแท้หรือหมดหวังไปบ้าง
แต่ด้วยความพยายามและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้น
และเมื่อรอถึงเวลาที่เหมาะสม ที่ตลาดสุกงอม สินค้าพร้อมที่จะเป็นที่รู้จัก
สุดท้ายผลของมันก็คือ การที่เขาสามารถสร้างแบรนด์เจ้าสัว ที่มีรายได้กว่า 800 ล้านบาท ในวันนี้..
โฆษณา