23 มี.ค. 2021 เวลา 12:41 • ข่าว
📌::ธุรกิจการบิน เรื่องความปลอดภัยที่ไม่ควรเสี่ยงด้วยความประหยัด::
เคยมีคนกล่าวว่า การเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ การเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากัปตันรายหนึ่งของบริษัทการบินไทยออกมาเปิดเผยประสบการณ์เฉียดตายเนื่องจากปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอในการลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินฮ่องกงในเส้นทางกรุงเทพ-กว่างโจว เนื่องจากสั่งน้ำมันในปริมาณ minimum fuel ตามนโยบายของบริษัท ด้วยความไว้วางใจในแผนการบินที่ทางบริษัทคำนวณมาให้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายน้ำมันที่ระบบคอมพิวเตอร์คำนวณมาให้ไม่เพียงพอต่อการลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินฮ่องกงเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่กล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางกับสายการบินดังกล่าว เนื่องจากนโยบายการประหยัดค่าใช้จ่าย แม้ว่าบริษัทการบินไทยออกมาย้ำว่า ความปลอดภัย คือหัวใจหลักในการบริการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานที่ทำให้เกิดข้อกังขาว่า บริษัทคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเที่ยวบินจริงหรือ ?
กัปตันรายหนึ่งของสายการบินแห่งชาติกล่าวว่า นโยบายการประหยัดน้ำมันในเที่ยวบินนี้เริ่มมีการปฏิบัติมาสักพักแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีเอกสารภายในของบริษัทการบินไทยมีประกาศคำสั่งถึงให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานสั่งน้ำมันในปริมาณขั้นต่ำ หรือ minimum fuel เพื่อเป็นลดค่าใช้จ่ายของฝ่ายปฏิบัติการบิน แต่ในคำสั่งดังกล่าวก็มีการกำกับว่าให้คำนึงถึงความปลอดภัย อย่างไรก็ตามก็มีการระบุทิ้งท้ายว่า หากนักบินรายใดสั่งน้ำมันเกิน (Extra Fuel) ที่นอกเหนือจากที่ทางหน่วยงานวางแผนการบินคำนวณให้นั้นต้องเขียนรายงานและชี้เหตุผลในการสั่งน้ำมันเกิน
หากประเมินตามหลักการทำงานโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใครหรือพนักงานคนใดอย่างจะทำรายงานชี้แจงในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง เพราะเมื่อเราลงมือชี้แจงเรื่องดังกล่าวเสมือนกับว่าเราได้ทำผิดกฎของบริษัท ทั้งๆ ที่อำนาจในการงานนั้นเป็นสิทธิขาดของเราในหน้าที่การทำงานเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และความรับผิดชอบต่อหน้าที่
📌::อำนาจในการสั่งน้ำมันเครื่องบินเป็นของใคร::
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุว่า นักบินผู้ควบคุมอากาศยาน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘กัปตัน’ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผนปฏิบัติการการบินในขั้นตอนสุดท้าย หากตามกฎนี้อำนาจในการสั่งน้ำมันและการประเมินน้ำมันเพื่อการวางแผนทาจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยชอบธรรมของกัปตันในเเต่ละเที่ยวบินนั้น
ขณะที่ระเบียบของกรมการบินพลเรือนระบุในข้อที่ 7 ว่า ก่อนทําการบินให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ
การบินทั้งหมด และในกรณีท่ีเป็นการบินออกจากพื้นท่ีใกล้เคียงของสนามบินและการบินด้วยไอเอฟอาร์ ให้ศึกษาข้อมูลท่ีมีเกี่ยวกับรายงานข่าวอากาศและพยากรณ์อากาศล่าสุด โดยให้คํานึงถึง ‘จํานวนเชื้อเพลิง ที่จําเป็นต้องใช้ และวางแผนในการปฏิบัติการบินสํารอง’ (alternate course of action) ในกรณีที่ไม่สามารถ ปฏิบัติการบินตามแผนที่วางไว้ด้วย
ดังนั้นแล้วแม้ว่าทางบริษัทที่ประกอบธุรกิจการบินจะมีหน่วยงานวางแผนการบินเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลในแต่ละเที่ยวบินให้กับนักบิน แต่อำนาจขั้นสุดท้ายในการวางแผนการบินนั้นเป็นดุลยพินิจและสิทธิขาดของกัปตันในเที่ยวบินนั้นๆตามกฎระเบียบทั้งของกรมการบินพลเรือนและของICAO
ตามที่รับรู้กันทั่วไปว่าบริษัทการบินไทยประสบปัญหาขาดทุนทางการดำเนินธุรกิจมาร่วมเกือบ 10ปี จนมีหนี้สินสะสมมากกว่า 400,000 ล้าน และกำลังเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 และหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูนั้นคือ การปลดพนักงานออก
เมื่อกลางเดือนก.พ.ฝ่ายการบินของบริษัทฯ ได้ออกกฎเกณฑ์เรื่องการคัดพนักงานสายปฏิบัติการบินออกด้วยการนำเกณฑ์การสั่งน้ำมันของนักบินมาเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงานในตลอดระยะเวลาของการปฏิบัติงานในฐานะนักบิน
ขณะที่สายการบินอื่นๆมีเกณฑ์ในการคัดนักบินออกด้วยการนำเกณฑ์เรื่องอายุและประสิทธิภาพของการทำงานในเรื่องอื่นๆมาเป็นเกณฑ์ชี้วัด โดยไม่มีการนำเรื่องของการสั่งน้ำมันมาเป็นเกณฑ์ เนื่องจากเกณฑ์การสั่งน้ำสันนั้นเป็นหนึ่งในอำนาจสิทธิขาดของนักบินที่จะต้องอำนวยความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบิน
เหตุการณ์เที่ยวบินกรุงเทพ-กว่างโจวของกัปตันหมอต้วง ไม่ได้เป็นเคสเดียวของการบินไทย รายงานของ Voice ระบุว่า มีเที่ยวบินอีกหลายเที่ยวบินของการบินไทยที่คาดว่าเกิดเหตุการณ์ที่มีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอและมีการสั่งน้ำมันแบบ Minimum Fuel จนเกิดการเปลี่ยนไปลงสนามบินสำรอง หรือ ลงจอดในสภาวะน้ำมันเกือบหมดถัง เช่น TG639/25Mar2015 , TG672 Mayday fuel , TG466/28OCT2019 แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจน
ในสายการบินอื่นๆ ก็เคยประสบเหตุกาณ์น้ำมันไม่เพียงพอในเที่ยวบินโดยเหตุการณ์ที่โด่งดังคือ เที่ยวบินที่ 143 ของสายการบิน Air canada ที่เกิดความผิดพลาดของระบบเติมน้ำมัน จนทำให้น้ำมันมีปริมาณไม่เพียงที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง นักบินต้องนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินในภาวะที่ไม่มีน้ำมันเหลืออยู่ หรือ เที่ยวบินLMI2933 ของสายการบินLaMia ในปี 2559 ที่น้ำมันหมดในขณะบิน ส่งผลให้เครื่องบินตกคร่าชีวิตลุกเรือและผู้โดยสารไป 71 ราย รอดชีวิตเพียงแค่ 6 ราย โดยการสอบสวนอุบัติเหตุดังกล่าวพบว่า เกิดจากการวางแผนการบินที่ผิดพลาด และเจ้าหน้าที่จราจรทางอากาศเคลียร์การลงจอดให้เครื่องบินลำอื่นที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินเช่นกัน
เหตุการณ์ของสายการบินแคนาดาเกิดจากความผิดพลาดของระบบเครื่องยนต์ ไม่ใช่เกิดจากแนวคิดหรือวิธีการประหยัดจนเสี่ยงต่อความปลอดภัย แต่สำหรับเที่ยวบินLMI2933 นั้นเกิดจากความผิดพลาดของการวางแผนการบินจนประสบอุบัติเหตุคร่าชีวิตผู้โดยสาร
แล้วเราหล่ะจะรู้ได้อย่างไรว่าสายการบิน หรือ นักบินนั้นได้วางแผนการบินโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารมาก่อนมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อกำไรสูงสุดในแต่ละเที่ยวบิน ?
โฆษณา