24 มี.ค. 2021 เวลา 03:50 • ไลฟ์สไตล์
วิธีแก้อาการหมดไฟ ก่อนที่ปัญหา จะใหญ่กว่าเดิม
ใครที่กำลังอยู่ในวัยทำงาน รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
หรือรู้สึกเบื่อไปเสียทุกอย่างกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะทำให้เรามีอาการเครียดหรือปวดหัวร่วมด้วย
อาการเหล่านี้กำลังบอกเราว่า เรากำลังตกอยู่ในอาการ “Burnout Syndrome”
หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน
คุณ Herbert Freudenberger นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื้อสายเยอรมัน
เป็นคนนิยามถึงภาวะดังกล่าว ไว้ในหนังสือ Burn-out: The High Cost of High Achievement
โดยเขาได้ให้ความหมายของคำว่า Burnout ไว้ว่า
เป็นอาการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่สะสมมาจากการทำงาน
ซึ่งจะส่งผลให้เราสูญเสียแรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจในการทำงานไป
อาการ Burnout มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่เราได้ทำงานที่เราไม่ชอบหรือไม่ถนัด
หรืออาจเกิดจากภาวะที่เราต้องรับภาระงานเอาไว้มากเกินไปจนทำไม่ไหว
ตัวอย่างเช่น
ถ้าเราเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียวและพูดไม่เก่ง แต่เราดันมีอาชีพเป็นนักขาย
ซึ่งเราก็จะเจอกับเนื้องานที่ทำให้เราไม่มีความสุข และแน่นอนว่าจะส่งผลต่อความเครียด
และนำไปสู่อาการ Burnout ในท้ายที่สุด..
ในบางกรณีที่เราได้รับมอบหมายงานที่หนักจนเกินไป จนส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัวของเรา
ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์รอบตัวเรา, ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่เราทำลงไป
หรือแม้แต่การที่เรามีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า
และก็น่าจะยังมีอีกหลาย ๆ สาเหตุ ที่เมื่อสั่งสมไปนาน ๆ แล้ว อาจก่อให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้
1
สาเหตุเหล่านี้ จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เหมาะกับที่นี่ และทำให้เรารู้สึกเหนื่อยไปหมดทุกอย่าง
แล้ววันจันทร์ก็อาจจะเป็นวันที่ เราเกลียดมากที่สุด..
ถ้าเราสะสมปัญหาเหล่านี้ไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
และนี่คือสิ่งที่เราควรรีบทำ ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย จนแก้ไม่ทัน
1. ทำงานที่เราชอบหรือมีความถนัด
การทำงานในสิ่งที่เราชอบหรือมีความถนัด จะทำให้เราไม่ต้องเจอกับภาวะหมดไฟในที่ทำงาน
เพราะต่อให้เรารู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่เราทำ แต่ถ้าสิ่งนั้นคือตัวตนของเรา เราก็จะมีความสุขในการทำงาน
1
ถ้าเราเป็นพนักงานขาย และรู้ตัวเองในทีหลังว่า เราเป็นคนชอบงานออกแบบ
และสามารถทำงานสายออกแบบได้ดี อาจจะลองหาทางย้ายสายงานไปสายออกแบบ
แม้ว่าอาจจะมีการเสียเวลาไปบ้าง หรือฐานเงินเดือนน้อยลง
แต่สิ่งที่เราจะได้ประโยชน์จากการย้ายสายงานก็คือ เราจะมีความสุขในทุก ๆ วันที่ได้ทำงาน
และจะทำให้เรารู้สึกเกลียดวันจันทร์น้อยลง
2. ขอความช่วยเหลือ
เป็นปกติที่เราอาจจะเจองานหนักจนกระทบกับชีวิตส่วนตัวของเรา และทำให้เรารู้สึกเหนื่อยเกินไป
อาจเป็นเพราะเรารับทุกสิ่งทุกอย่างไว้คนเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้เราอาจจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน, ลูกน้อง หรือหัวหน้างานของเรา
บางทีการขอความช่วยเหลืออาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด บางทีอาจจะไม่ใช่การขอช่วยแบ่งเบาภาระงาน
แต่เป็นการขอคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน แค่นี้ก็ถือว่าได้รับการช่วยเหลือแล้ว
3. แบ่งแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัว
นอกเหนือจากชีวิตการทำงานแล้ว สิ่งที่เราควรให้ความสนใจคือ ชีวิตส่วนตัวของเราเอง
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไปไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่เราทำเพื่อตัวเราเอง
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่เราชอบ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการ
หรือทำงานเหาเงิน เพื่อให้มาตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตของเรา
1
ดังนั้นเราจึงควรจะแบ่งแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวให้จัดเจน
และการทำกิจกรรมที่ทำให้เราได้ผ่อนคลาย เป็นหนึ่งในเวลาส่วนตัวที่ควรจะโฟกัส
อาจจะเป็นการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อทำให้สมองและร่างกายของเราได้พักฟื้นจากการใช้งานอย่างหนัก
หรือจะเป็นการทำงานอดิเรกที่ทำให้เราผ่อนคลาย
เช่น ถ้าเราเป็นคนชอบเล่นเกม ก็หาเวลาเล่นเกมในเวลาว่าง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการให้รางวัลตัวเองทางอ้อมอีกด้วย
การสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
จะช่วยทำให้เราไม่เจอปัญหาภาวะหมดไฟในที่ทำงาน
ในเมื่อเรามีแค่ชีวิตเดียว การที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ไม่ว่าจะเป็นตัวงานที่เราต้องรับผิดชอบ หรือจะเป็นงานอดิเรกที่เราทำแล้วดีต่อใจเรา
นอกเหนือจากการทำในสิ่งที่เรารักแล้ว เรายังต้องพยายามรักษาความสมดุลในเนื้องานให้ไม่หนักเกินไป และพยายามสร้างสัมพันธ์อันดีในที่ทำงาน
ซึ่งสิ่งดี ๆ เหล่านี้ จะกลายเป็นความสุข ที่ช่วยเติมไฟในตัวเรา อีกครั้งหนึ่ง..
โฆษณา