Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ME (Medical Engineer) วิศวกรซ่อมมนุษย์
•
ติดตาม
26 มี.ค. 2021 เวลา 03:32 • สุขภาพ
ทำความรู้จัก วิศวกรชีวการแพทย์ งานหลังบ้านของวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ👨⚕️👨🔧
แน่นอนว่าอาชีพวิศวกรเป็นอาชีพที่ทุกคนรู้จัก และหน้าที่ของวิศวกรคือ การศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหา และควบคุมการผลิต ซึ่งจะมีความเฉพาะทางตามสายงานที่ตัวเองรับผิดชอบ🛠👷♂️
วิศวกรชีวการแพทย์ (Biomedical Engineer) ประกอบด้วย keyword หลัก 3 คำ คือ วิศวกร ซึ่งได้กล่าวไปข้างต้น ชีวะ และการแพทย์
ซึ่งที่มาของวิชาชีพนี้เกิดมาจากมาจากการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม ชีววิทยา และการแพทย์เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาทางด้านการรักษาผู้ป่วยหรือการดูแลสุขภาพชีวิตของมนุษย์
การแก้ปัญหาที่ว่ามานี้อาจหมายถึงการสร้างเครื่องทางการแพทย์เพื่อช่วยในการสนับสนุนการรักษา วินิจฉัยโรคต่าง ๆ หรือการซ่อมบำรุงให้เครื่องพร้อมสำหรับการใช้งาน
การวางแผนในการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่อันตรายจากการรักษา
ปัจจุบันไม่ใช่แค่เครื่องมือแพทย์เท่านั้นที่วิศวกรชีวการแพทย์เข้าไปมีบทบาท อุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่น
smart watch ที่สามารถวัดข้อมูลทางสุขภาพ แอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นจากการใช้องค์ความรู้ทางวิศวกรรมชีวการแพทย์
นอกเหนือจากเครื่องมือต่าง ๆ แล้วการรักษาโรคบางโรคได้มีการนำองค์ความรู้ทางวิศวกรรมไปช่วยในการรักษา ซึ่งปัจจุบันจะมีแพทย์สมัยใหม่ที่ศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เพิ่มมากขึ้น
Cr.Anna Shavets
อย่างไรก็ตามงานของวิศวกรชีวการแพทย์ในประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้มีความหลากหลายเท่าในต่างประเทศ
ในประเทศไทยงานทางด้านนี้จะเน้นไปที่การดูแลซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์เป็นส่วนใหญ่มากว่าการสร้างและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ขึ้นมาเองในลักษณะของงานประเภท R&D (Research and Development)
อาจเป็นเพราะประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศในรูปแบบของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributors) มากกว่าการผลิตเครื่องมือแพทย์ขึ้นมาเอง
เพราะฉะนั้นวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนศาสตร์ทางวิศวกรรมชีวการแพทย์จะมุ่งไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์และการซ่อมบำรุงดูแลรักษาเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก เพราะถือเป็นงานที่มีความต้องสูง
โดยงานในลักษณะนี้จะถูกเรียกว่าวิศวกรบริการ (Service Engineer) เป็นงานที่ต้องดูแลซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ให้อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งานเพื่อให้หมอและพยาบาลสามารถในเครื่องมือไปใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ (Sales Representative) หรือวิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) เป็นอีกหนึ่งอาชีพยอดนิยมของวิศวกรในสายงานนี้ซึ่งทำหน้าที่เสนอขายเครื่องมือแพทย์แก่โรงพยาบาล โดยผู้ที่ทำงานทางด้านนี้ต้องมีพื้นฐานความรู้ในเครื่องมือแพทย์ที่ต้องทำการเสนอขายและทักษะการสื่อสารที่ดี
ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ (Product Specialist) ทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ใช้ อย่างหมอและพยาบาล ซึ่งจะเป็นในแง่ของการแนะนำการใช้งาน ผู้ที่ทำงานทางด้านนี้อาจต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรักษาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือชนิดนั้น ๆ ด้วย
3 งานที่กล่าวไปนี้ถือเป็นสายงานหลักของวิศวกรชีวการแพทย์ในประเทศไทยซึ่งใช้องค์ความรู้พื้นฐานทางด้านเครื่องมือแพทย์โดยทั่วไปที่ใช้ในโรงพยาบาล
อย่างที่ได้กล่าวไปว่างานในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นในสายของการซ่อมบำรุงรักษาและการให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์เป็นหลักแต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าคนที่ศึกษาทางด้านนี้มาจะประกอบอาชีพในสายการสร้างเครื่องมือหรือพัฒนาเครื่องมือแพทย์ไม่ได้
นักวิจัยทางการแพทย์ คือสายงาน R&D ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพ ในไทยงานสายนี้จะค่อนข้างจำกัด
สายงานนี้จะต้องมีองค์ความรู้ที่มากกว่าปริญญาตรีซึ่งคนที่จะประกอบอาชีพทางด้านนี้มักจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งในหลักสูตรเดิมหรือหลักสูตรอื่นพึ่งเพิ่มความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เช่น
การศึกษากลศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตสำหรับสร้างเครื่องมือช่วยเหลือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (Biomechanic)
การศึกษาเซนเซอร์ตรวจจับสารทางชีวภาพ สำหรับการสร้างเครื่องมือวัดต่าง ๆ (Biosensor)
หรือแม้แต่การศึกษาข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกต้องตามสรีรศาสตร์เพื่อนช่วยลดอาการเจ็บต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในชีวิตประจำวัน (Ergonomic) เป็นต้น
แม้สายงานของวิศวกรชีวการแพทย์ในประเทศไมยจะมุ่งเน้นไปในทางเครื่องมือแพทย์ แต่ความเป็นจริงวิศวกรชีวการแพทย์ยังมีบทบาทอื่นด้วย เช่น
วิศวกรโรงพยาบาล ที่ทำหน้าที่ออกแบบสถานที่ต่าง ๆ ในโรงพยาบาลให้มีความปลอดภัย เพราะโรงพยาบาลนับเป็นสถานที่ที่มีควาทเสี่ยงสูง ซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมี เชื้อโรคจากคนไข้ และก๊าซต่าง ๆ
วิศวกรเนื้อเยื่อ ทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะสำหรับซ่อมแซมและทดแทนอวัยวะที่บาทเจ็บซึ่งจะทำงานร่วมกับหมอเนื่องจากต้องออกแบบและพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการรักษา
วัสดุทางการแพทย์ และระบบนำส่งยา พัฒนาวัสดุเทียมเช่นแขนเทียม ขาเทียม หรือวัสดุที่ฝังเข้าไปในร่างกาย และพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการบรรจุยา
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทที่วิศวกรชีวการแพทย์ดูแลซึ่งจะต้องใช้ทักษะความรู้เฉพาะด้าน
Cr.Edward Jenner
หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณรู้จักวิศวกรชีวการแพทย์เพิ่มขึ้นและหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่ประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังจะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งอาจเป็นทางเลือกในการตัดสินใจสำหรับคนที่สนใจอาชีพนี้และยังมองภาพไม่ออกถึงลักษณะการทำงานว่าเป็นไปในทิศทางไหน ไว้ผมขะมาเจาะลึกถึงข้อมูลในแต่ละสายงานอีกครั้งในบทความถัดไป ๆ รวมทั้งอัปเดตข่าวสารเทคโนโลยีทางแพทย์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ฝากติดตามกันด้วยนะครับ 😁😁😁
ขอบคุณภาพจาก ThisIsEngineering, Anna Shavets และ Edward Jenner จาก Pexels
ข้อมูลอ้างอิงและข้อมูลเพิ่มเติม :
หนังสือพื้นฐานวิศวกรรมชีวการแพทย์ (สมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทยไทย)
navigate.aimbe.org
Navigate the Circuit
1 บันทึก
4
6
1
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย