Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Machine Logic
•
ติดตาม
25 มี.ค. 2021 เวลา 05:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
EP8: จุดมุ่งหมายแรกคือเป้าเกษียณ (แจก excel ช่วยวางแผน)
การวางแผนเกษียณ
บทความนี้ยาวนิดนึง อยากให้ตั้งสมาธิอ่านให้ดี เพราะนี่อาจเป็นคือเข็มทิศชีวิตการเงินของคุณเลยครับ ใครเริ่มต้นก่อนก็ได้เปรียบกว่า อย่าให้ถึงเวลาอายุเยอะแล้วพูดว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้งี้”
หลังจากเต็มอิ่มกับการทำความเข้าใจสินทรัพย์ในการลงทุนกันมาแล้ว คำถามต่อมาก็คือ “แล้วไงต่อ” เราควรจะคิดอะไรต่อ ทางเลือกมันมีมากมายเต็มไปในหัวใช่มั้ยครับ เช่น จะลงหุ้นดีไหม หรือไปซื้อกองทุนดี แล้วจะมีตราสารหนี้เท่าไหร่ หรือไม่ต้องมีก็ได้ แล้วการลงทุนต่างประเทศมีอะไรน่าสนใจ แล้วจะลงกันเท่าไหร่ดี จะซื้อทองเก็บ หรือจะจัดสรรเงินลงใน bitcoin เท่าไหร่ดี เมื่อเราเริ่มรู้เยอะ ความงงก็จะตามมาครับ
คำถามเหล่านี้จะหมดไปเพียงแค่เราตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่า “จะลงทุนไปเพื่ออะไร” ถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน เราก็วัดผลไม่ได้ว่าเราควรจะไปลงทุนอะไร เพราะว่าคุณลักษณะสินทรัพย์ลงทุนแต่ละตัวนั้นมีความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนก็ไม่เท่ากันดังที่เคยเล่าไปใน Episode ก่อนๆ ก็จะทำให้เราลงทุนแบบเคว้งคว้าง ไม่สามารถจับจุดได้ว่าการลงทุนนั้นมีสิทธิภาพหรือไม่
เป้าหมายทางการเงินมีมากมาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่ว่าจะเป็น เก็บเงินดาวน์รถ เก็บเงินการศึกษาลูก เก็บเงินซื้อมอไซ เก็บเงินแต่งงาน เก็บเงินเตรียมมีลูก เก็บเงินเตรียมเปิดธุรกิจส่วนตัว หรือแม้กระทั่งเก็บเงินไว้ใช้ยามที่ไม่มีแรงทำงานแล้ว หรือการเกษียณนั่นเอง
ทำไมเป้าแรกควรเป็นเป้าเกษียณ? ความจำเป็นของคนเราทุกคนนั้นแตกต่างกันออกไป เช่นบางคนอาจจะมี passive income รายได้ประจำจากอสังหาให้เช่าของที่บ้านอยู่แล้ว แบบนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าเกษียณก็ได้นะครับ แต่ผมขอพูดถึงกลุ่มประชาชนทั่วๆไปอย่างเราๆที่มีอาชีพ active income ทำงานแลกเงิน ได้เงินมาก็เก็บ หยุดทำงานก็ไม่ได้เงิน ถ้าเราคิดว่าเราสามารถทำงานไปจนแก่ได้เราก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนเกษียณ แต่ถ้าเราเชื่อว่าสังขารมีวันร่วงโรย แผนแรกที่ควรมีก็คือแผนเกษียณ
วิธีการที่เราแชร์วันนี้คือการเก็บเงินและเลือกลงทุนในระยะยาวเพื่อให้มีเงินก้อนนึงตามที่เราต้องการ หลังจากนั้นเงินก้อนนี้ก็จะถูกเบิกมาใช้ในแต่ละเดือนจนกว่าจะหมด ตามจำนวนปีที่เราวางแผนไว้ ซึ่งอยากให้คิดว่ามันเป็น “แผนขั้นต่ำ” เป็นหลักประกันชิ้นแรกให้เรายามเกษียณ ส่วนใครจะวางแผนขั้นสูงกว่านี้ก็สามารถไปวางแผนต่อยอดกันได้เลย
แผนขั้นต่ำนี้อาศัยหลักการที่ว่า เราออมเงินเข้าไปทุกเดือน เลือกลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แต่ไม่ใช่หุ้นอะไรก็ได้ ถ้าเลือกหุ้นเองได้ก็ดี ถ้าเลือกหุ้นเองไม่ได้แนะนำให้ซื้อกองทุน passive fund ที่เน้นลงทุนในหุ้นจะเป็นประเทศไทยก็ดี หรือต่างประเทศก็ดี หรือซื้อหลายๆก็กระจายหลายๆประเทศยิ่งดีมาก(ไว้ episode หลัง เดี๋ยวมาเล่าเรื่องกองทุน passive fund อีกทีนะ)
เป็นกองประเภท RMF เลยยิ่งดีเพราะว่ากอง RMF มีไว้สำหรับการวางแผนเกษียณอยู่แล้ว แถมลดหย่อนภาษีได้อีก เราจะได้ล๊อคเงินเอาไว้เลยว่าเงินก้อนนี้เราไม่สามารถแตะได้อีกต่อไป กระจายไปในประเทศที่น่าจะเติบโตในอนาคต ผลตอบแทนที่คาดหวังก็ตีว่าเฉลี่ย 8% ต่อปีเท่านั้นก็พอครับ เพื่อให้แผนนี้เอื้อมถึงได้จริง
การวางเป้าเกษียณมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ
1. จินตนาการว่าเราจะเกษียณตอนซักอายุเท่าไหร่ดี
2. หลังจากนั้นใช้ชีวิตที่ไหน ค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่อเดือนเท่าไหร่ดี
3. คำนวณว่าสรุปวันที่เกษียณต้องมีเงินเท่าไหร่
4. คำนวณถอยกลับมาว่าเราต้องเก็บเงินต่อปีเท่าไหร่ก่อนเกษียณ
5. วางแผนการลงทุนว่าจะใช้เครื่องมือไหนเพื่อพาเราไปให้ถึงเป้าหมาย
ข่าวดีคือวันนี้เราทำ excel มาแจกแล้วครับ ไม่ต้องไปเริ่มคำนวณให้เมื่อยมือ เรามาดูกันเลยว่าใช้ยังไง
Excel ช่วยวางแผนเกษียณ
1. เข้าไปที่ลิ้งค์ “การคำนวณเป้าเกษียณ”
https://docs.google.com/spreadsheets/d/1JB5aq8etYSRuptkO6zlT1tBYsbdFrPHg2qvxog-R4G4/edit?usp=sharing
ไฟล์นี้เราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ต้อง copy ไปที่ google drive ของตัวเองก่อน หรือว่าจะ Download เป็น Excel ลงมาเปิดในเครื่องก็ได้
ส่วนที่เราจะต้องกรอกมีเพียงช่องที่ระบายสีเหลืองเท่านั้นนะครับ สำคัญมากเพราะผูกสูตรการคำนวณไว้หมดแล้ว อย่าไปแตะมันนะเดี๋ยวพังไม่รู้ด้วยหละ
2. กดที่เมนู “File” >> “Make a copy” แล้วเลือกว่าเราจะ copy sheet นี้ไปไว้ที่ไหนใน google drive ของเราเอง
การใช้งาน Excel ช่วยวางแผนเกษียณ
3. เข้าไปที่ sheet “Retire Plan”
วางแผนเกษียณขั้นตอนที่ 1
ในส่วนของ “Step 1: ชุดคำถาม”
- ที่ช่อง ”1. ปัจจุบันอายุเท่าไหร่” กรอกอายุปัจจุบัน
- ที่ช่อง “2. วางแผนเกษียณไว้ตอนอายุเท่าไหร่” กรอกอายุที่ตั้งใจอยากจะเกษียณ
- ที่ช่อง “3. วางแผนใช้เงินก้อนนี้ไปถึงอายุเท่าไหร่” ให้กรอกว่าพอเก็บเงินก้อนนี้ได้แล้วในวันที่เกษียณจะใช้เวลากี่ปีจนเงินก้อนนี้หมด
- ที่ช่อง “4. หลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่” ให้กรอกจำนวนเงินที่ต้องการใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ ลองออกแบบ life style, สถานที่ที่อยู่ตอนบั้นปลาย, ภาระที่มี(ไม่ควรมีแล้วนะ) ส่วนนี้แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนเลยครับ แต่แนะนำให้อย่างนึงว่าอย่าเทียบกับชีวิตปัจจุบัน
ให้ลองเทียบความต้องการในบั้นปลายจริงๆ ผมเห็นวิถีชีวิตที่ใช้เงินเดือนละ 5 พันในต่างจังหวัดแบบมีไร่นาสวน ก็อยู่ได้สบายๆ หรือใครอยู่ตามชุมชนเมือง พื้นฐานเอาให้อยู่ได้ ไม่ผ่อนบ้าน ไม่ผ่อนรถ ไม่ส่งลูกเรียน เดือนๆนึงเต็มที่ก็ 1.5-2 หมื่นบาทก็สบายๆนะ
- ที่ช่อง “5. เงินเฟ้อต่อปี(สมมติฐาน)” จะทิ้งไว้ที่ 3% ก็ได้ หรือถ้ามีสมมติฐานในใจเลขอื่นๆตามแต่สะดวกเลย
ในที่นี้เรามาลองสมมติกันว่า
- ปัจจุบันเราอายุ 25 ปี
- อยากวางแผนเกษียณไว้ซักอายุ 60 ปี
- เงินที่เก็บมาได้อยากมีใช้ได้ถึงซักอายุ 85 ปี ตามอายุเฉลี่ยๆของคนในครอบครัวเรา
- หลังเกษียณอยากมีเงินเดือนให้ตัวเองใช้ซัก 15,000 บาท จริงๆใช้ไม่หมดหรอก เผื่อไปเที่ยวบ้าง เจ็บป่วยบ้าง ปีนึงก็อยู่ได้สบายตามประสาคนวัยปลอดภาระแล้ว
หลังจากนั้นระบบจะคำนวณเป้าหมายเงินที่จะต้องมีในวันที่เกษียณให้อัตโนมัติในช่อง “ต้องมีเงินในวันเกษียณทั้งสิ้น” 18,466,443.90 บาท และมีตาราง “เงินเดือนหลังเกษียณ” ให้ดูด้วย
ระบบช่วยคำนวณเงินเดือนหลังจากเกษียณ
จะสังเกตุว่าจากที่เรากรอกว่าเราอยากมีเงินเดือนใช้ซัก 15,000 บาท แต่ทำไมหลังเกษียณในปีที่ 1 เราถึงเริ่มคำนวณว่าเราใช้เงินเดือน 42,207.94 บาท เลยหละ? คำตอบก็คือเงินเฟ้อที่เรากรอกไปข้างบนนั้นแหละปีละ 3%
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อก่อนสมัยผมเด็กๆ เริ่มรู้จักก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาท โตขึ้นมาหน่อยเป็น 20 บาท จนในปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามนึงก็ 40-50 บาท แสดงว่าเงิน 15,000 บาท ของเราในวันนี้จะด้อยค่าลง เหตุผลที่คำนวณออกมาได้ 42,207.94 บาท ก็เพราะว่าเราอยากคงอำนาจการใช้จ่าย(purchasing power)
ของเราวันนี้ให้ได้เท่าเดิมเพราะฉะนั้นถึงวันที่เราเกษียณเราเลยต้องมีเงินเดือน 42,207.94 บาท เพื่อจะได้มีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยเท่ากับ 15,000 บาทเท่าในวันนี้นั่นเอง และเงินเดือนของเราก็จะโตตามเงินเฟ้อไปเรื่อยๆจนอายุ 85 ปี น่าจะเข้าใจกันแล้วนะครับว่าทำไมวันที่เกษียณเราต้องมีเงิน 18,466,443.90 บาท
ต่อมาถ้าเราไม่รู้จักเรื่องการลงทุนเลยเราคงคิดว่าชาตินี้คงไม่มีวันเก็บได้ถึงขนาด 18 ล้านบาทหรอก มันเยอะไปสำหรับเรา แต่ตอนนี้เรารู้จักเรื่องการลงทุนกันแล้วนะครับ และอยากแนะนำให้รู้จักกับการลงทุนแบบทบต้นด้วย หมายความว่าอะไร? หมายความว่าสมมติเรามีเงิน 100 บาท เอาไปลงทุนได้กำไร 5% เท่ากับว่าเรามีเงิน 105 บาท เราก็ไม่ถอนเงิน 5 บาทมาใช้ เท่ากับปีต่อมาฐานของเราเริ่มจาก 105 บาท และลงทุนได้กำไรอีก 5% เท่ากับว่าปีที่สองเรามีเงิน 110.25 บาท
นี่หละครับที่เขาเรียกว่ามหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น เพราะฉะนั้นเราไม่ได้สะสมเงินเองทั้ง 18 ล้านบาทหรอก เราจะยืมพลังดอกเบี้ยทบต้นมาใช้กัน มันจะทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆตามจำนวนปีและเงินที่สะสมมา
ส่วนต่อมาไปดูส่วนที่เขียนว่า “STEP 2: คำนวณการออมและลงทุนเพื่อเกษียณ”
วางแผนเกษียณขั้นตอนที่ 2
- เริ่มที่กรอกปี พ.ศ. ปัจจุบันก่อนเลย
- หากว่าเรามีทุนก้อนแรกเริ่มต้นก็ให้ใส่ “เงินเริ่มต้น” เข้าไปด้วย
- เสร็จแล้วให้เราวางแผน “ออมต่อเดือน” ว่าเราจะออมต่อเดือนเท่าไหร่ ให้ใส่ทุกปีไปถึงปีที่เราเกษียณเลย ในปีแรกๆเราก็จะกรอกเงินที่เราพอออมได้ และปีหลังๆเราก็ตั้งใจกับตัวเองไว้ว่า หน้าที่การงานเติบโต มีรายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจขยับขยายได้ก็จะออมเข้ามาได้เยอะขึ้น
- ในช่อง “ผลตอบแทนต่อปี” สำหรับ passive fund แล้วเราก็ยังเชื่อว่ากะไว้ซักแค่ 8% ต่อปีก็พอ เพื่อให้แผนนี้เราเอื้อมถึงจริงๆนะ
แผนการลงทุนสอดคล้องกับเป้าหมายหรือไม่?
หลังจากกรอก STEP 2 ครบแล้วให้เล็งไปที่ปีที่เราเกษียณใน column “รวมผลกำไร” ระบบจะระบายสีม่วงไว้ให้แล้ว จะเห็นว่ารวมทั้งเงินต้นและผลตอบแทนที่ทำได้ทั้งหมดแล้วรวมเป็น 18,474,703.84 บาท เท่ากับว่าพอสำหรับการเกษียณในปีที่เราคาดไว้พอดีเลยครับ และหากไปดูที่ช่อง "รวมเงินออม" เกิดจากเงินออมของเราเพียง 3,852,000.00 บาทเท่านั้น นี่แหละผลของมหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น
เอาหละครับ เราได้แผนกันแล้ว ต่อไปที่จะต้องทำการบ้านก็คือไปเลือกกองที่จะลงทุน อยากแนะนำให้ลงพวก index ของแต่ละประเทศ เช่นของไทยก็ SET50 จะเป็นกองที่มัดรวมหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 ตัว และมีการปรับหุ้นเข้าออกปีละ 2 ครั้ง ทำให้กองทุนถือแต่หุ้นใหญ่สภาพคล่องดี พอที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ เราก็ถือแบบนี้ในหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น หรือแถบยุโรป ถึงเวลาเกษียณเราก็คงถึงเป้าหมายได้ไม่ยากครับ เพราะเราตีต่ำๆไว้แล้วว่าลงทุนยาวๆเราขอแค่ปีละ 8%
อย่าลืมว่าที่เรากรอกเป็นแผนขั้นต่ำเพื่อให้เรา “ถึงชัวร์ๆ” ก่อนนะครับ เพราะฉะนั้นอย่าพยามมีความต้องการเยอะเกินความจำเป็นครับ ส่วนใครคิดเห็นอย่างไรกับ Excel ที่แจกไป หรือมีข้อซักถามถามได้ใน comment เลยนะครับ
“May the Wealth be with You”
— Machine Logic —
https://www.facebook.com/machinelogics
15 บันทึก
3
14
15
3
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย