หากเดินจับจ่ายในตลาด บนแผงขายผลไม้ ไม่ว่าจะฤดูไหน ก็จะเห็นว่ามีกล้วยอยู่บนแผงให้เราได้ซื้อตลอดทั้งปี กล้วยเป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ หรือกล้วยหอม ในไทยมีการปลูกกล้วยเพื่อการค้าอยู่ในทุกภาค แต่กลายเป็นว่ากล้วยบางส่วน อย่างกล้วยหอมนั้นมาจากสวนกล้วยในลาวที่สร้างรายได้และยังสร้างมลพิษให้กับดินและแหล่งน้ำของผู้คนตามสายน้ำโขงอีกด้วย
.
ประเทศลาวที่การส่งออกอันดับต้นๆ ในปี 2563 คือ ทอง เยื่อไม้และเศษกระดาษ ทองแดงและผลิตภัณฑ์จากทองแดง และมีกล้วยหอมเป็นอันดับที่ 4 ซึ่งนับเป็นสินค้าผลผลิตการเกษตรที่มีการส่งออกสูงสุดอันดับหนึ่ง ในปี 2563 มีรายงานว่า ลาวทำเงินจากการส่งออกกล้วยราว 7 พันล้านบาท ซึ่งทำรายได้สูงขึ้นกว่าปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท
.
ไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศคู่ค้าหลักที่เป็นปลายทางการส่งออกสินค้าของลาว โดยอยู่อันดับรองมาจากจีนและเวียดนาม
.
การเพาะปลูกกล้วยเชิงอุตสาหกรรมที่มีลักษณะแบบอุตสาหกรรมในลาวนั้นในพื้นที่เมืองต้นผึ้งและเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว มีราคาเช่าอยู่ที่ไร่ละ 7,000 บาทต่อปี และด้วยค่าแรงราคาถูกสำหรับคนงานในไร่ รวมถึงการการขาดควบคุมการใช้สารเคมีในขณะนั้น จึงทำกลายเป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนจากจีนเข้ามา เนื่องจากพื้นที่ปลูกกล้วยที่จีนได้ลงทุนในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มีราคาเช่าที่ไร่ละ 20,000 บาทต่อปี
.
ตามแผนยุทธศาสตร์การเกษตร ปี 2568 ของรัฐบาลลาว ตั้งเป้าหมายให้กล้วยเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศสูงสุด โดยมุ่งหวังว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจากอุตสาหกรรมผลิตกล้วยนี้ แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตอาจไม่เกิดขึ้นจริงได้ เมื่อพื้นที่การปลูกกล้วยแบบอุตสาหกรรมมีการใช้สารพิษอย่างเข้มข้น มีรายงานว่าพบสารพิษกว่า 130-150 ชนิด และมีใช้สารเคมีสูงกว่าการใช้ในระดับทั่วไปถึง 10 เท่า
.
เจ้าหน้าที่ประจำแขวงบ่อแก้ว หนึ่งในพื้นที่ปลูกกล้วยในลาว เผยว่าสวนกล้วยในพื้นที่ไม่ได้ปลูกกล้วยน้ำว้าซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ปลูกเฉพาะกล้วยหอมเพื่อตอบสนองความนิยมของตลาดโลก เพราะกล้วยหอมไม่ใช่พืชท้องถิ่นและไม่ทนต่อโรคหรือปรับตัวอยู่ในสภาพท้องถิ่นได้เหมือนกล้วยพันธุ์พื้นเมือง จึงมีการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงและกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีสำหรับป้องกันแมลง 19 ชนิด และป้องกันโรคถึง 28 ชนิด
.
ขณะที่รัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกกล้วยจะเป็นหนทางหนึ่งในการเสริมรายได้ให้กับประชาขน แต่ชีวิตของประชาชนที่เข้าไปรับจ้างในสวนกล้วยกลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นในการปลูกกล้วย แหล่งน้ำถูกสูบไปใช้ในสวนกล้วยในปริมาณมากจนกระทบกับแหล่งน้ำของเกษตรกรรายย่อย และการรั่วไหลของสารเคมีสะสมลงดินและแหล่งน้ำโขง
.
แพทย์จากโรงพยาบาลเมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทาเผยว่าคนงานในสวนกล้วยเข้ารักษาด้วยอาการปวดหัว มีผื่น เหนื่อยล้า และมีปัญหาเกี่ยวกับตับ แต่หลังจากที่มีจำนวนไร่กล้วยลดลง จำนวนผู้ป่วยด้วยอาการดังกล่าวก็ลดลงตามไปด้วย แต่ยังมีคนงานราว 10-15 คนเข้ารับการรักษา
.
หลังจากที่ในลาวมีการห้ามปลูกกล้วยในหลายพื้นที่เนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในฝั่งไทยก็มีรายงานว่าทุนจีนได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย กว่า 2,700 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกในไทยที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนปลูกกล้วยเชิงอุตสาหกรรม โดยเช่าพื้นที่ไร่ละ 3,000 บาท ต่อปี ซึ่งค่าเช่าที่ถูกกว่าในลาว 1 เท่า และถูกกว่าในจีนเกือบ 7 เท่า
.
ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยประมาณ 481,639 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลุกกล้วยน้ำว้า 328,456 ไร่ กล้วยไข่จำนวน 63,233 ไร่ และกล้วยหอมจำนวน 62,525 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่ออุตสาหกรรมการส่งออก โดยกล้วยไทยถูกส่งไปยังจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก
.
อย่างไรก็ตามเมื่อทุนและวิธีการปลูกกล้วยแบบอุตสาหกรรมที่ใช้สารเคมีอย่างหนักกำลังหลั่งไหลเข้ามาในไทย ผลกระทบจากการทำสวนกล้วยแบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในลาวก็อาจย่อมเกิดขึ้นในไทยได้ด้วยเช่นกัน แล้วเราจะมีวิธีปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากอุตสาหกรรมการปลูกกล้วยนี้ได้อย่างไร?