25 มี.ค. 2021 เวลา 11:18 • ธุรกิจ
ปัญหาคอขวด หนึ่งในปัญหา ที่ทำให้องค์กร ต้องติดหล่ม
ถ้าพนักงานทุกคน มีความสามารถที่เก่งรอบด้านเท่ากันหมดทุกคน
องค์กรก็คงจะเติบโตระเบิดในเวลาอันสั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะทุกอย่างมันมีข้อจำกัด..
ส่วนใหญ่แล้ว พนักงานแต่ละคน ล้วนมีความสามารถที่แตกต่างกันไป
ซึ่งก็จะทำให้คนคนนั้น มีฝีมือหรือความสามารถที่เด่นชัดออกไปในทางใดทางหนึ่ง
ในฐานะผู้นำองค์กร ควรจะต้องเห็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน และต้องกำหนดเป้าหมาย การกระจายงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบ และให้สอดคล้องกับความสามารถของพนักงานแต่ละคน เพื่อลดกระบวนการที่ทำให้เกิดความล่าช้า หรือ ผิดพลาด
แล้วถ้าทุกอย่างมันทำง่ายอย่างที่พูด
ทำไมหลาย ๆ องค์กร ถึงยังติดหล่ม ไม่สามารถพาบริษัทให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกท่านมารู้จัก กับหนึ่งในสาเหตุที่มีชื่อว่า “ปัญหาคอขวด (Bottlenecks)” ที่ทำให้องค์กรของเรา อาจไม่เติบโตก้าวไปข้างหน้า ดั่งความคิดที่วางแผนเอาไว้
โดยคำว่า “คอขวด” มาจากลักษณะของ ส่วนด้านบนของขวดน้ำ ซึ่งมีพื้นที่แคบที่สุด
ทำให้เกิดการไหลของน้ำที่ช้า และมีปริมาณที่ถูกจำกัด
โดยแรกเริ่มเดิมที คำนี้ถูกเริ่มใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า และในเรื่องของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน
กระบวนการคอขวด หมายถึง กระบวนการที่ทำให้เกิดความล่าช้าของการสร้างผลผลิต หรือกระบวนการผลิตขั้นต่อไป
ซึ่งเป็นผลทำให้เกิด เวลาสูญเปล่าในการทำงาน (ldle time)
หรือเกิดงานสะสม (Work in Process) ในกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าจะยกตัวอย่างที่ให้เห็นภาพง่ายขึ้น คือ เรื่องของช่องจราจรของรถยนต์
การที่เราขับรถบนถนน 3 เลนใหญ่ แต่ในอีก 1 กิโลเมตรถัดมา
ถนนมีการบีบตัวลง เหลือเพียงแค่ 1 เลนเท่านั้น
ผลที่เกิดตามมา ก็คือ เกิดปัญหาคอขวด ที่จะทำให้ รถติดสะสมยาว นั่นเอง
1
ถ้าเราลองมองปัญหาคอขวดในระดับการทำงานขององค์กรกันบ้าง
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัยระหว่างทีม
พนักงาน A และ B ต้องผลิตชิ้นงาน ให้กับพนักงาน C
ซึ่งพนักงาน C จะสามารถเริ่มงานได้ ก็ต่อเมื่อได้รับงานทั้ง 2 ชิ้นจาก A และ B แล้วเท่านั้น
พนักงาน A ความเร็วเฉลี่ยในการทำงานเสร็จ 1 งาน ใช้เวลา 1 วัน
พนักงาน B ความเร็วเฉลี่ยในการทำงานเสร็จ 1 งาน ใช้เวลา 3 วัน
แบบนี้เท่ากับว่า พนักงาน C จะสามารถเริ่มทำงานได้ อาจต้องรอเวลา มากถึง 3 วัน
ซึ่ง ดูเหมือนว่า การที่พนักงาน A ทำงานเสร็จมาตั้งแต่วันแรก ก็คงจะเปล่าประโยชน์ไป...
แบบนี้ เราจะเรียกว่า ปัญหาคอขวดในที่ทำงาน
แต่เรื่องทั้งหมดตรงนี้ ก็ใช่ว่า เราจะไปกล่าวโทษถึงแต่พนักงาน B เพียงอย่างเดียว
ในฐานะผู้นำทีมแล้ว เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ ว่าสาเหตุที่แท้จริง คืออะไร ?
- เป็นไปได้ไหมว่า เราเลือกใช้แรงงานคน ไม่เหมาะสมกับประเภทของงาน
- พนักงานคนนั้น กำลังประสบปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ เพิ่มเติมหรือไม่
- งานที่ถูกแบ่งตามรายบุคคล แบ่งได้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือไม่
เมื่อเรารู้แล้วว่า มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นในที่ทำงาน แล้วต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานี้ ?
1. การแบ่งย่อยการบวนการ เพื่อลดระยะเวลาการทำงาน
จากการที่ 1 คน ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
ให้ลองปรับลดให้เหลือเพียงการทำแค่อย่างเดียว
โดยจุดมุ่งหมายคือ ทำให้การโฟกัส เป็นไปได้ดีและมีคุณภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitask) เป็นเรื่องที่ดี
เพียงแต่ว่า ความสามารถแบบนี้พนักงานจำเป็นต้องฝึกฝนให้เรียนรู้จนเกิดความเคยชิน
2. ลองให้อำนาจการตัดสินใจเด็ดขาด กับพนักงาน
เคยคิดไหมว่าบางที ปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เกิดจากตัวพนักงาน
แต่เกิดจาก การที่ทุกคนต้องมานั่งรอการตัดสินใจจากผู้นำทีมอย่างเรา..
ในบางเรื่องที่เรามีความมั่นใจในความสามารถพนักงานคนนั้นแล้ว
ก็ลองมอบอำนาจการตัดสินใจเด็ดขาด ให้กับพวกเขาดู
3. เราเลือกคน ที่เหมาะสมกับงาน แล้วหรือยัง ?
แม้แต่พนักงานที่เก่งที่สุดหรือแม้แต่ผู้บริหาร ก็อาจทำให้เกิดปัญหาคอขวดได้ เมื่อพวกเขาเหล่านั้น เกิดจุดติดขัดเมื่อต้องทำสิ่งที่ตนไม่ถนัด
ที่สำคัญคือ หากเราเลือกคนให้ไม่เหมาะสมกับงาน
อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา มากกว่าแค่ปัญหาคอขวด อย่างเช่น เกิดความผิดพลาดในงานนั้นได้
4. ทบทวนเป้าหมายองค์กร และคู่มือวิธีการทำงาน
ลองกลับมามองที่จุดเริ่มต้น อย่าง เป้าหมายของบริษัท และ ทบทวนคู่มือวิธีการที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมาย
ที่ใช้คำว่าคู่มือ นั่นก็เป็นเพราะว่า สิ่งนี้จะต้องเป็นไกด์ไลน์หรือแนวทางปฏิบัติ ที่ช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้ถูกต้อง ครบถ้วน และ ราบรื่น มากขึ้นได้จริง ๆ
พวกเขาจะรู้ว่าต้องทำอะไรเป็นอย่างแรก และต้องทำอะไรเป็นสิ่งต่อไป
เสมือนกับเรามีคู่มือการประกอบเฟอร์นิเจอร์
ที่ช่วยให้การประกอบมันขึ้นมา ทำได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
THE BRIEFCASE ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 4 วิธีปฏิบัติที่ได้ว่ามานี้ จะเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อลดปัญหาคอขวดของการทำงานในองค์กรได้
และถึงแม้จะไม่สามารถช่วยให้ปัญหานี้หมดไป
แต่อย่างน้อย ก็น่าจะพอทำให้คอขวดในองค์กรของคุณกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่มากก็น้อย..
โฆษณา