26 มี.ค. 2021 เวลา 04:18 • หนังสือ
เคล็ดลับกับการอ่านและการเขียน
สรุป สมาธิเกิดจาการอ่าน การอ่านก่อให้เกิดการสะสมคำ ที่จะนำไปสู่การเขียน
คำพูดของคอทองแดง ที่ว่า "เหล้าขวดแรก มักจะเปิดยาก เมื่อผ่านขวดแรกไปแล้ว ขวดต่อไปก็ง่าย" เฉกเช่นเดียวกัน คนอ่านหนังสือ ที่เล่มแรกเป็นเรื่องยากมาก แต่หลังจากจบเล่มแรกไปแล้วเล่มที่ 2 3 4 ก็เป็นเรื่องที่ง่ายและอ่านได้เร็วขึ้นด้วย และสุดท้ายเรื่องของการเขียน ถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผม แม้ว่าเรื่องที่จะเขียนนั้น เป็นเรื่องที่เรารู้ดีที่สุดใกล้ตัวที่สุด แต่กลับไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ให้คนทั่วไปอ่านเข้าใจได้ เช่น เมื่อวัยเด็ก ในวิชาภาษาไทย คุณครูให้เขียนเรียงความเรื่องครอบครัวของฉัน แต่ความรู้สึกเวลานั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต ทั้งๆที่เราใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวทุกวัน รู้ว่าพ่อแม่ เป็นใครมีอาชีพอะไรมีพี่น้องกี่คน เราเป็นคนที่เท่าไหร่ ใครชอบอะไรไม่ชอบอะไร เรากลับไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้ เขียนได้ไม่เกิน 5 บรรทัดก็จบนึกแล้วก็ขำตัวเอง ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะมาใช้วิชาเรียงความในการประกอบอาชีพ เช่นการเขียนหนังสือ หรือจดหมายสำหรับติดต่องานและธุรกิจ โดยส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แม้กระทั่งหนังสือเรียนจะอ่านก็ต่อเมื่อก่อนเข้าห้องสอบสักครึ่งชั่วโมง หรือตอนออกมาจากห้องสอบแล้วเพื่อมาหาคำตอบว่าที่ทำไปแล้วถูกหรือไม่ คิดว่าหลายๆคน คงเคยทำเช่นนี้ แต่หลังจากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ จึงต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งการเรียนนั้นไม่ยากไม่ต้องไปนั่งเลคเชอร์ที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องไปพบอาจารย์ ไม่ต้องทำงานส่งเพื่อเก็บคะแนน เพียงแค่ลงทะเบียนเรียนแล้วรอรับหนังสือ จากนั้นก็ลงมืออ่านได้เลย เมื่อถึงตอนสอบ จะได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ความสามารถในการอ่านและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา เพราะถ้าอ่านมากจำได้มาก สามารถเข้าใจเนื้อหาในตำราได้ดี ก็จะสามารถสอบผ่านได้ง่าย จึงเป็นที่มาของการฝึกตัวเองให้มีนิสัยรักการอ่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่มหาวิทยาลัยที่ส่งมาให้ คือวิชาไทยศึกษา มี 2 เล่ม จำนวน 15 หน่วยการเรียน ความหนารวมกันแล้วมากกว่า 500 อ่านครั้งแรก ยากมากไม่มีสมาธิ อ่านไปได้ 3 หน้า จำอะไรไม่ได้ต้องกลับมาเริ่มต้นอ่านใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่ ประมาณ 5-6 ครั้ง จากนั้นลองตื่นเช้าประมาณ 4:00 น. เพื่ออ่านหนังสือตามคำแนะนำของคุณครูเมื่อตอนเด็กๆ ปรากฏว่าสัปดาห์แรกอ่านไม่ได้เลยสักหน้า เพราะง่วง แต่ก็พยายามฝืนใจ แต่หลังจากที่เวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เริ่มมีสมาธิและอ่านได้มากขึ้น จากนั้นก็สามารถอ่านได้ วันละ 1 หน่วย การจดจำก็ดีขึ้นด้วย ใช้เวลาในการอ่านน้อยลง สรุป 15 วันอ่านได้ 15 หน่วย เมื่อสอบผ่านในเทอมแรกก็ย่ามใจลงทะเบียนเรียนปีการศึกษาละ 7 วิชาเลย จนสามารถเรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง คิดไม่ถึงว่าตัวเองจะทำได้ ที่สำคัญ วิชาที่ว่ายากมาก ๆ หลายคน สอบไม่ผ่านต้องลงทะเบียนซ้ำหลายรอบ เช่น เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น หรือวิชาสถิติและการวิจัย ซึ่งเปรียบเสมือนยาขมสำหรับผู้ที่เรียนในระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเปิด เพราะต้องศึกษาจากตำราเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว สามารถผ่านได้ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องซ่อมและไม่ต้องพบอาจารย์ ถามว่ามีเคล็ดลับอะไร ที่อ่านแล้วเข้าใจและทำข้อสอบได้ ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแค่ให้เรามีสมาธิต่อการอ่าน และสร้างจินตนาการเกี่ยวกับหนังสือที่เราอ่านอยู่ เช่นหากเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ให้จินตนาการว่า หากเราเป็นนักธุรกิจหรือเป็นเจ้าของกิจการ จะต้องบริหารกิจการของเราอย่างไรให้ เกิดผลกำไรและมีความมั่นคง หรือหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ก็ต้อง จินตนาการ ถึงยุคสมัยในอดีตที่หนังสือกล่าวถึง เพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจถึงเนื้อหาที่กล่าวถึงในหนังสือได้เป็นอย่างดีและจะเกิดภาพจำได้นานอีกด้วย (นี่เป็นยุคการเรียนรู้ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตนะครับ)
ในส่วนเรื่องของการเขียนที่ผมบอกว่ายากมากสำหรับผม คืออ่านมา รู้มา เรียนมา หรือเห็นมา แต่เขียนถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหนดี ผมจึงใช้วิธีลูกทุ่งคือนึกอะไรได้ก็เขียนไปเรื่อยๆ และพยายามอ่านหนังสือหลายๆแนว หลายๆแบบ เพื่อเก็บสะสมคำไว้ใช้ในงานเขียน เช่นเดียวกันกับที่ท่านเกิดความประทับใจในสถานที่หรืออาหารแล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เราจะเล่าอย่างไรให้คนๆ นั้น รู้สึกคล้อยตามและเห็นภาพตามไปด้วย หากทำเช่นนั้นได้ท่านก็สามารถเขียนหนังสือเล่าเรื่องได้เช่นเดียวกัน ส่วนการเล่าเรื่องจะมีอรรถรสน่าติดตามเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกใช้คำเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย หรือการรังสรรค์คำใหม่ๆ ให้ผู้อ่าน ได้ตีความและมองเห็นภาพเช่นเดียวกับผู้ที่เขียนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเขียนหนังสือชิ้นแรกนั้น ไม่ได้ยากไปกว่าการอ่านหนังสือเล่มแรก และถ้าหากว่าสำเร็จแล้วชิ้นต่อๆ ไป ก็จะหลั่งไหลมาเองโดยเฉพาะผู้ที่อ่านมามาก เดินทางบ่อยๆ พบเห็นสิ่งต่างๆ และช่างสังเกต สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบอย่างดีที่จะนำมาใช้ในการเล่าเรื่องได้อย่างไม่รู้จบ ไม่เชื่อก็ลองถามหนู "เรไร รายวัน" ดูได้
และท้ายที่สุดขอเป็นกำลังใจให้นักอ่านและนักเขียนมือใหม่ทุกท่านครับ โปรดอย่าได้ลังเลลงมือเขียนได้เลย เพียงวันละ 2-3 บรรทัดก็ได้ ไม่ต้องคิดมากนึกอะไรได้ก็เขียนไป เชื่อว่าสักวันหนึ่งท่านจะถึงปลายทางแห่งความฝันคือการเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ได้ไม่ยาก เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ
เวตาล/๒๖/มี.ค./๖๔
ขอบคุณภาพจากเพจ "เรไรรายวัน"
โฆษณา