Podcast..รายการหนึ่งถ้วยกาแฟ เรือขวางคลองสุเอช
บีบีซี รายงานว่า โชเอะ คิเซ็น ไคชา (Shoei Kisen Kaisha) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เจ้าของเรือขนส่งสินค้าลำยักษ์ Ever Given – เอฟเวอร์ กิฟเวน ที่ขวางคลองสุเอซของอียิปต์ ตั้งแต่วันอังคารที่ 23 มี.ค. 2564 แถลงขออภัยที่ทำให้การค้าทั่วโลกหยุดชะงัก และกำลังพยายามแก้ปัญหาโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าการเอาเรือลำดังกล่าวออกเป็นการยากมาก
เรือ Ever Given ที่มีความยาว 400 ม. และน้ำหนัก 200,000 ตัน ขวางคลองสุเอซในแนวทแยง ท่ามกลางกระแสลมแรงและพายุใต้ฝุ่น ส่งผลให้ตอนนี้เรืออย่างน้อย 150 ลำ กำลังรอผ่านเส้นทางเดินเรือสำคัญแห่งนี้
ประมาณ 12% ของการค้าทั่วโลกผ่านคลองสุเอซ ซึ่งเชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และเชื่อมโยงทางทะเลสั้นสุดระหว่างเอเชียและยุโรป ส่วนเส้นทางเดินทางเรืออื่นคือรอบแหลมกู๊ดโฮป ทางใต้สุดของแอฟริกา ซึ่งใช้เวลาการเดินทางมากกว่าคลองสุเอซเกือบ 2 สัปดาห์
เรือลำดังกล่าวดำเนินการโดย Evergreen Marine – เอฟเวอร์กรีน มารีน บริษัทขนส่งสัญชาติไต้หวัน แต่ใช้ชื่อ Ever Given
“ด้วยความร่วมมือกับทางการท้องถิ่นและบริษัทผู้จัดการเรือ Bernhard Schulte Shipmanagement เรากำลังพยายามทำให้เรือลำดังกล่าวกลับมาลอยอีกครั้ง แต่กำลังเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก เราขออภัยอย่างยิ่งที่ทำให้เรือลำอื่นในคลองสุเอซและผู้วางแผนล่องผ่านคลองต้องกังวลอย่างมาก” Shoei Kisen Kaisha ระบุในแถลงการณ์
แหล่งข่าวอุตสาหกรรมบอกรอยเตอร์ว่า ต่อให้เรือ Ever Given กลับมาลอยอีกครั้งในเวลารวดเร็ว ทั้งเจ้าของเรือ และบริษัทผู้รับประกันเรือ จะต้องถูกเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับจากความล่าช้าและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากบริษัทต่างๆ ที่ฝากสินค้ากับตู้คอนเทนเนอร์บนเรือลำดังกล่าว
โทชิอากิ ฟูจิวาระ เจ้าหน้าที่ Shoei Kisen Kaisha บอกเอเอฟพีว่า เรือ Ever Given มีกรมธรรม์ประกันภัย แต่ไม่ทราบรายละเอียดหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนนี้
คลองสุเอซ (อังกฤษ: Suez Canal) เป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นในประเทศอียิปต์ ระหว่างพอร์ตซาอิด ฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสุเอซ (Suez) บนฝั่งทะเลแดง มีความยาว 183 กิโลเมตร คลองสุเอซเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ากับทะเลแดง ผ่านช่องแคบสุเอซ ในอียิปต์ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 101 ไมล์ เดิมทีมันถูกขุดขึ้นด้วยมือ ปัจจุบัน สามารถรองรับเรือยาว 500 ม. กว้าง 70 ม. ลึก 70 ม. ไม่มีประตูกั้นน้ำเพราะทะเลทั้ง 2 แห่งมีระดับเดียวกัน
คลองสุเอซเริ่มสร้างในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2402 แล้วเสร็จในเดิอนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2412 เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการค้าระดับโลกเนื่องจากเป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย ขจัดการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ทวีปแอฟริกา
คลองสุเอซช่วยให้การเดินทางระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียสั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรือไม่ต้องเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกา ก่อนการสร้างคลองนั้น ใช้การขนถ่ายสินค้าทางบกระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง
คลองสุเอซแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเหนือและส่วนใต้ โดยมีทะเลสาบเกรตบิตเตอร์ (Great Bitter) เป็นจุดกลาง
• ปัจจุบันคลองสุเอซไม่จำเป็นต้องมีการกั้นคลอง (canal lock) เพราะระดับน้ำทะเล ระหว่าง 2 มหาสมุทรนั้นใกล้เคียงกัน โดยคลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร และในปี ค.ศ. 2010 มีแนวทางการขยายให้สามารถรองรับเรือที่กว้างถึง 22 เมตรได้ โดยปัจจุบันเรือที่มีขนาดหน้ากว้างเกิน 16 เมตร จะต้องทำการขนถ่ายสินค้าโดยใช้เรือเล็กขนส่งของตนเอง จากต้นคลองไปยังสู่จุดสิ้นสุดของคลอง
• มีเรือผ่านคลองนี้ประมาณ 25,000 ลำในแต่ละปี ซึ่งขนถ่ายสินค้าคิดเป็นจำนวน 14% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด การขนส่งตั้งแต่ต้นคลองจนถึงจุดสิ้นสุดคลอง ใช้เวลาประมาณ 11-16 ชม
หลังจากเปิดใช้คลองในปี พ.ศ.2412 แล้ว มีเรือนานาชาติใช้บริการผ่านคลองเป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการประกันสิทธิในการใช้คลอง ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศให้เรือของทุกชาติ สามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบ หรือยามสงคราม
ฝ่ายอังกฤษ ที่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ ครุ่นคิดในใจเสมอว่าคลองสุเอซเป็นช่องทางที่คอขาดบาดตาย หากมีการศึกสงครามอังกฤษจะไม่มีเสรีในการเคลื่อนกำลังรบทางเรือ
อังกฤษพยายามทุกวิถีทาง และในที่สุด พ.ศ.2418 รัฐบาลอังกฤษได้เข้าซื้อหุ้นของคลองสุเอซ 44% จาก ผู้ปกครองอียิปต์ ชื่อ อิสมาอิล ปาชา ซึ่งในขณะนั้นอียิปต์กำลังประสบปัญหาการเงินเพื่อนำไปสร้างเขื่อนอัสวาน
ปี พ.ศ.2425 เกิดเหตุความไม่สงบในอียิปต์ในทางการเมือง อังกฤษฉวยโอกาสส่งทหารเข้ายึดและปกครองอียิปต์แบบดื้อๆ โดยมีฝรั่งเศสแอบหนุนหลัง อังกฤษได้ปกครองอียิปต์สมใจนึก โดยมีคลองสุเอซเป็นแก้วตาดวงใจ
สถานการณ์ตรงนี้พลิกผันอีกครั้งกลายเป็นว่า อังกฤษเข้ามาขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์คลองสุเอซกับฝรั่งเศสในแผ่นดินอียิปต์
มหาอำนาจทั้งสองเลยต้องไปตกลงกันในอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล พ.ศ.2431 มีผลทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเป็นกลาง แต่ในทางปฏิบัติกองกำลังของอังกฤษได้ยึดครองพื้นที่จนกระทั่งปี พ.ศ.2497
สนธิสัญญา ข้อตกลงทุกชนิดในโลกนี้ไม่เคยมีความหมาย ชาติที่แข็งแรงกว่าจะฉีกทิ้งและบดขยี้ชาติที่อ่อนแอได้ทุกนาที
แม้กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ประกาศห้ามเรือของชนชาติศัตรู แล่นผ่านคลองสุเอซ
เมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล ในปี พ.ศ.2491-2492 อียิปต์ประกาศห้ามเรือของอิสราเอลแล่นผ่านคลองสุเอซ
เงินทองไหลนองแต่ไม่ได้เข้าประเทศอียิปต์เลย 26 กรกฎาคม พ.ศ.2499 นายพลนัสเซอร์ (Nasser) ของอียิปต์ประกาศยึดคลองสุเอซเข้าเป็นของรัฐ ทำให้เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง
อียิปต์ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งทหารเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งรถถังบุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ และมุ่งหน้าไปเขตคลองสุเอซ
ในเวลาเดียวกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็กระหน่ำซ้ำเติมโดยยกพลขึ้นบกที่ Port Said อ้างว่าส่งทหารเพื่อเข้ามารักษาความสงบ กองทัพอียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือราว 40 ลำ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน
ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2499 สหประชาชาติ โดยสหรัฐอเมริกากดดันให้อังกฤษและฝรั่งเศสถอนกองกำลังออกจากคลองสุเอซ เพราะเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้ามาช่วยอียิปต์
มีนาคม พ.ศ.2500 อียิปต์ยินยอมให้เปิดใช้คลองได้อีกครั้ง และเมื่ออิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนาย
ปัญหาผลประโยชน์ของมหาอำนาจยังไม่จบสิ้น กรกฎาคม พ.ศ.2501 ธนาคารโลกเข้ามาไกล่เกลี่ยการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ ผลการเจรจารัฐบาลอียิปต์ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทคลองสุเอซเป็นจำนวน 81.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วิกฤตการณ์ คลองสุเอซ ครั้งที่ 2
เดือนมิถุนายน พ.ศ.2510 ได้เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ อียิปต์ประกาศไม่ยอมให้เรืออิสราเอลผ่านคลอง
อิสราเอลส่งรถถังบุกเข้าไปถึงด้านตะวันออกของคลองสุเอซ อียิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือขวางคลอง ความขัดแย้งครั้งนั้นยาวนาน 8 ปี จากปี พ.ศ.2510-2518
ในปี พ.ศ.2522 หลังจากอียิปต์และอิสราเอลบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ อียิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี
ปัจจุบัน คลองสุเอซได้รับการปรับปรุง และเปิดให้เรือนานาชาติแล่นผ่านได้ตามปกติ นับเป็นคลองที่มีความสำคัญทางด้านการค้าและทางยุทธศาสตร์มากแห่งหนึ่งของโลก
คลองสามารถรับเรือที่มีน้ำหนักขนส่งได้มากถึง 150,000 ตัน ความกว้างของเรือที่สามารถผ่านได้คือไม่เกิน 16 เมตร เมื่อปริมาณการเดินเรือเพิ่มมากขึ้น ในปี พ.ศ.2553 จึงขยายคลองให้สามารถรองรับเรือที่กว้างถึง 22 เมตร ได้
7 สิงหาคม 2558 ประธานาธิบดี อัลซีซี ของอียิปต์ ทำพิธีเปิดคลองสุเอซสายใหม่ที่เมืองท่าอิสเมอิลีอา ร่วมด้วยผู้นำจากหลายชาติ เพื่อขุดคลองสุเอซเส้นทางใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของอียิปต์การขุดคลองสุเอซเส้นทางที่ 2 ต้องขุดพื้นดิน 37 กม. รวมไปถึงขุดลอกคลองเดิมให้กว้างและลึกขึ้นในระยะทาง 35 กม. ใช้เงินราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
คลองสุเอซเส้นทางใหม่จะย่นระยะเวลาการเดินเรือจาก 18 ชั่วโมง เหลือเพียง 11 ชั่วโมง รัฐบาลอียิปต์หวังว่าภายในปี 2566 จำนวนเรือที่ใช้คลองสุเอซจะเพิ่มจาก 49 ลำต่อวัน เป็น 97 ลำ และประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากคลองนี้ จะเพิ่มเป็น 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
References
บีบีซี
วิกิพีเดีย