26 มี.ค. 2021 เวลา 10:35 • ครอบครัว & เด็ก
อ่านหนังสือเท่าไรก็ไม่เข้าหัว อาจเกิดจากภาวะ "สมองล้า"
Dek64 ฟังทางนี้ก่อน พบกับวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะ “สมองล้า” สำหรับนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้การอ่านหนังสือและการสอบมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ่านหนังสือทั้งวันแต่รู้สึกความรู้ไม่ได้เข้าหัวเลย พยายามตั้งใจเรียนแล้วแต่รู้สึกไม่มีสมาธิเลย อ่านคำถามบนข้อสอบวนซ้ำถึง 5 รอบกว่าจะเข้าใจ นึกอะไรไม่ออก สร้างสรรค์งานใหม่ๆไม่ได้เลย ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลบแก้ประโยคเรียงความซ้ำไปมาเป็น 10 รอบ หรือ นั่งจ้องงานอยู่โดยที่เริ่มทำงานไม่ได้สักที
หากคุณเคยมีประสบการณ์คล้ายๆแบบนี้แล้ว คุณกำลังพบกับภาวะ “สมองล้า” หรือ “Mental Fatigue” คือการที่สมองของเราไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดอาการหลักๆคือ ไม่มีสมาธิในการจดจ่อ ความอดทนลดลง เบื่อหน่ายกับภาระงาน หมดพลังในการทำสิ่งต่างๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆไม่ค่อยได้ ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพการทำงานของเรา หรือ นักเรียน นักศึกษาที่กำลังเรียน และเข้าสู่ช่วงสอบที่สำคัญ
ภาวะสมองล้านี้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านกายภาพ หรือ สภาวะจิตใจและความเครียดก็ตาม แต่อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้สมองล้า คือการ “ใช้งานสมองหนักเกินไป” ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ สมองก็เหมือนกับชิพในคอมพิวเตอร์ ถ้าเกิดว่าเราเปิดหลายๆโปรแกรมในครั้งเดียวการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ก็จะช้าลง กระตุก หรือแม้แต่เกิดอาการ error จนค้างไม่สามารถใช้งานได้เลย สมองก็เหมือนกัน ถ้าเราทำหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆกัน หรือเอาความสนใจไปลงกับสิ่งไม่สำคัญสมองเราก็จะอ่อนล้าจนทำงานสำคัญได้ไม่เต็มที่
เพราะ“ทุกการคิด ทุกการจดจ่อ ล้วนใช้พลังงาน” นักแข่งหมากรุกระดับโลก ใช้พลังงานไปถึง 6,000 แคลอรี่ ในการแข่งขันเพียงหนึ่งวัน โดยที่ไม่ได้ขยับไปไหนเลย แค่นั่งและคิดเท่านั้น การคิดจึงเป็นการใช้พลังงานสมอง รวมถึงการใช้สมาธิจดจ่อด้วย ดังนั้น การตอบแชท การอ่านเทรนด์ # ในทวิตเตอร์ คิดถึงการบ้านที่คั่งค้าง การคิดถึงการสอบ หรือแม้แต่ คิดและจินตนาการว่าจะต้องล้างจาน สมองเราก็จะใช้พลังงานใกล้เคียงกับการเดินไปล้างจานจริงๆเช่นกัน
เมื่อรู้ถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ “สมองล้า” แล้ว ในบทความนี้ Kids Proper จะมานำเสนอแนวทางที่จะช่วยเพิ่มพลังให้สมองของเราเพื่อให้อ่านหนังสือและทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สมองอ่อนล้าช้าลง
1. อย่าให้สมองขาดพลังงาน อย่างที่บอกว่าการคิดและการจดจ่อนั้นใช้พลังงาน ยิ่งช่วงสอบยิ่งต้องอ่านหนังสือเยอะ ต้องทำข้อสอบ หากสมองได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ก็จะอ่อนล้าได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการควบคุมอาหารจึงสำคัญมาก
- ลดน้ำตาล ผลจากการวิจัยสรุปว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าน้ำตาลส่งผลให้สมองประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากแต่พบว่า น้ำตาลจะยิ่งทำให้ความตื่นตัวลดลง และยังส่งผลให้สมองล้ามากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นทางที่ดี เน้นของกินจำพวก โปรตีน ไข่ นม หรือธัญพืช แบบนี้จะดีกว่าการกินขนมที่มีน้ำตาลสูงอย่าง โดนัท หรือ ช็อกโกแลตหวานๆ
- ควรทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ หากขาดมื้อใดไปสมองจะขาดพลังงานให้ดึงออกมาใช้งาน หากต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก ให้เพิ่มอาหารว่างระหว่างมื้อเข้ามาด้วยเพื่อให้สมองมีพลังงานเพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าอย่าให้ขาด น้ำจะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่าปล่อยให้ตัวเองขาดน้ำล่ะ น้ำหวานหรือชา กาแฟ ไม่นับนะ !!!
2. การนอนสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะหักโหมแค่ไหน หากไม่ได้นอนหลับพักผ่อนสมองก็จะไม่สามารถจัดระเบียบข้อมูลเข้าไปเก็บในความทรงจำระยะยาวได้ การนอนเพื่อให้สมองจัดเก็บความรู้ คงดีกว่าอดนอนหลายๆคืนแล้วสุดท้ายนึกอะไรไม่ออกจริงไหม
3. ออกกำลังกาย การขยับร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้เราสดชื่น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของความคิดความจำได้ ดังนั้นนอกจากอ่านหนังสือแล้ว หาเวลาออกกำลังกายด้วย
- ออกกำลังกายเบาๆ อย่างการเดินสัก 10 นาทีต่อวันจะช่วยให้สดชื่นมากขึ้น
- หากีฬาที่ชอบจะช่วยให้ไม่เครียดว่าจะต้องออกกำลังกาย และสนุกไปกับการออกกำลังกายได้มากขึ้น หรือถ้าเหงา หาเพื่อนไปออกกำลังกายด้วยกันก็จะยิ่งสนุกมากขึ้น
4.เบรกระหว่างวัน เมื่อเหนื่อยล้ามากๆ อย่าไปฝืนอ่านหนังสือต่อเลย เบรกตัวเองสัก 10 นาทีออกไปเดินข้างนอก คุยเรื่องไร้สาระกับเพื่อน หรือนอนพักสายตาสัก 20 นาที สูดอากาศสดชื่นจากธรรมชาติ จะช่วยให้สมองได้รีเฟรชกลับมาพร้อมอ่านหนังสือได้อีกครั้ง
5.หยุดเช็คโทรศัพท์ การตอบไลน์ การเล่นโซเชียลมีเดีย จะเอาพลังงานในการมีสมาธิจดจ่อของเราไป ฉะนั้น ในการเช็คโทรศัพท์แต่ละครั้ง กว่าสมองจะกลับมาจดจ่อกับหนังสือใหม่ได้ก็ต้องใช้เวลาถึง 15 นาที หากจะเล่นโทรศัพท์ควรจำกัดเวลา แล้วเล่นไปเลยทีเดียวเวลานั้น ที่สำคัญควรห่างจากหน้าจอโทรศัพท์อย่างน้อย 1 ชั่งโมงก่อนนอนด้วยน้า
เป็นอย่างไรกันบ้างกับแนวทางการเพิ่มพลังสมอง เพื่อป้องกันตัวเองจากภาวะ “สมองล้า” ในช่วงสอบแบบนี้ หากน้องๆอ่านแล้วรู้สึกว่าบทความนี้มีประโยชน์ ฝากกด Like กด Share เพื่อแบ่งปันแนวทางดีๆแบบนี้ให้เพื่อนๆด้วยนะครับ ขอให้ #DEK64 ทุกคนรวมถึงใครที่กำลังอยู่ในช่วงสอบ สามารถทำข้อสอบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนะครับ โชคดีกับการสอบ
#เด็ก #แม่และเด็ก #ครอบครัว #เลี้ยงลูก #จิตวิทยา #จิตวิทยาพัฒนาการ #พัฒนาการเด็ก #kidsproper #เด็กสมวัย #ทำข้อสอบ #อ่านหนังสือ #สมองล้า #mentalfatigue #Dek64
โฆษณา