27 มี.ค. 2021 เวลา 11:30 • อาหาร
Burmese Milk Tea เครื่องดื่มนี้มีที่ (เมียน) มา
Burmese Milk Tea เครื่องดื่มนี้มีที่ (เมียน) มา
ในวันที่โลกเปลี่ยนไป สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ด้วยเช่นกัน คือ สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติชานม แต่ต้นกำเนิดชานมในพม่านั้นมาจากไหน ผมเชื่อได้ว่าแม้กระทั่งคนพม่าเองก็ยังไม่รู้ ส่วนตัวผมเองก็พยายามหาจุดเชื่อมโยงว่าชานมในพม่ามาจากแห่งใด มาจากไต้หวันหรือเปล่า ผมก็พยายามหาข้อมูลก่อนว่าแล้วชานมนั้นกำเนิดมาจากไหนมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่
หลังจากที่หาข้อมูลเรื่องชานมมาร่วมอาทิตย์พบว่าชานมนั้นมีการบริโภคในหลายตำแหน่งของโลก เช่น ชานมฮ่องกงที่เรียกว่า ไหนฉ่า เป็นชาดำที่ผสมนมข้นจืด โดยมีต้นกำเนิดในช่วงการปกครองของอังกฤษ ซึงก็แปลว่าชมนมในฮ่องกงนั้นถูกนำมาจากแห่งไหนสักแห่งที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษนั่นเอง เมื่อผมพยายามพินิจพิเคราะห์ว่าชานมที่ไหนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนและเป็นชาดำ ทำให้คิดถึง “ชาชัก” ที่แพร่หลายในมาเลย์เซีย สิงคโปร์และทางภาคใต้ของไทยนั่นเอง มาถึงจุดนี้เป็นไปได้ว่าชานมในฮ่องกงน่าจะมาจากมาเลย์เซียที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนนั่นเอง
แต่หากวิเคราะห์ให้ดีก็ชวนให้สงสัยว่าทำไมประเทศมาเลย์เซียและสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศที่เหมาะกับการปลูกชาแต่เป็นสถานที่ที่แพร่หลายในการดื่มชานม นั่นแสดงว่ามีความเป็นไปได้ ที่ชานมมาจากมาเลย์เซียนั้นถูกนำมาจากแหล่งอื่น ผมจึงหาข้อมูลต่อว่าในโลกนี้มีประเทศไหนดื่มชานมบ้าง และแล้วผมก็ได้ข้อมูลมากขึ้นว่าในโลกนี้มีอีกหลายที่ในโลกดื่มชานม
ในอินเดียมีการนำชาใส่นม และใส่เครื่องเทศต่าง ๆ เช่น มาซาล่า ทำให้ชามีกลิ่นเครื่องเทศและถั่วอัลมอนด์ ที่เรียกว่า Chai แต่นอกจากการใส่นมแล้วหากสูงขึ้นยังทิเบตและภูฏาน ชาวทิเบตและภูฏานนิยมการดื่มชาที่ผสมกับเนย ซึ่งมีกลิ่นและรสชาติเข้มข้นกว่านม ซึ่งในภาษาภูฏานเรียกว่า Suja และอีกชาหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้คือ ชานมพม่า นั่นเอง
มาถึงจุดนี้ หากเราพยายามมองว่าวัฒนธรรมการดื่มชานั้น อาจจะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนจีน พม่าและอินเดีย เป็นไปได้ว่าพม่าที่เป็นจุดเชื่อมต่อของวัฒนธรรมอินเดียและจีน จะนำวัฒนธรรมการดื่มชามาจากจีนและการนำนมมาผสมในชาอีก เพื่อเพิ่มรสชาติให้ชามีรสและกลิ่นที่ดีขึ้น ยิ่งหากพิจารณาถึงรากเหง้าทางภาษาพม่า ที่เป็นภาษาในกลุ่ม Sino-Tibetan หรือตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แยกย่อยไปในกลุ่มภาษา โลโล-พม่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นรากภาษา Pyu ซึ่งพัฒนามาเป็นภาษาพม่าในปัจจุบันนั่นเอง
ผมมองว่าวัฒนธรรมกับภาษาย่อมมีการไหลไปคู่กัน ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ชานมในพม่าหรือในประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มแล้ว มันยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชาวพม่า จีน และอินเดียว่ามีความใกล้ชิดกันมาแต่ครั้งบรรพกาล
หม่องคำมิน
นักชิม นักท่องเที่ยวนักเขียนอิสระ ในเมียนมาร์
#THESTATESTIMES
#WeeklyColumnist
โฆษณา