27 มี.ค. 2021 เวลา 06:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคโนโลยีการติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุกับการนำ AI มาประยุกต์ใช้งาน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอาการและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก บางเคสต้องมีเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด
ด้วยจุดประสงค์ที่จะลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเฝ้าระวังและติดตามผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลขึ้น
เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้พยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยไม่ต้องเฝ้าผู้ป่วยตลอดเวลาและช่วยให้ผู้ป่วยมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจที่ดีขึ้น
เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นและทำการศึกษาในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักจะเป็นในรูปแบบของการติดตั้งเซนเซอร์ไว้ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น
การติดตั้งแผ่นรองเตียงเพื่อตรวจจับแรงของผู้ป่วย การติดตั้งสายรัดข้อมือตรวจจับการเครื่องไหว ซึ่งจะทำการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ถ้าเซนเซอร์ตรวจจับถึงความผิดปกติ
อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยในขณะที่ไม่ได้อยู่กับอุปกรณ์ หรือการแจ้งเตือนที่ผิดพลาด เป็นต้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีในลักษณะนี้ได้มีการก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่อมีการนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาช่วยในการพัฒนาการติดตามผู้ป่วย
ไม่นานมานี้ Kepler Vision Technologies บริษัทผู้พัฒนาซอฟแวร์การจดจำพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านกล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวสัญชาติดัตช์ ได้ประกาศเปิดตัว Kepler Night Nurse Edge Box (KNN)
เทคโนโลยีการติดตามพฤติกรรมของผู้ป่วยในเวลากลางคืน KNN เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ AI อย่าง deep learning เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ท่าทางของผู้ป่วยผ่านข้อมูลที่ได้จากวิดิโอสตรีมมิ่งที่บันทึกแบบเรียลไทม์
Credit: Kepler Night Nurse
อุปกรณ์ชนิดนี้สามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังพยาบาลว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ และสามารถตรวจสอบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
เทคโนโลยีที่มาแทนอุปกรณ์ที่เป็นเซนเซอร์ต่าง ๆ นี้ เพื่อกำจัดและแก้ปัญหาสัญญาณเตือนที่ผิดพลาดซึ่งสามารถลดการผิดพลาดของการแจ้งเตือนถึง 99%
แน่นอนว่าอุปกรณ์นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้ป่วย แต่ปัจจุบันก็ยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ AI ในงานด้านต่าง ๆ
AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้าไปมีบทบาทในงานหลายด้านในแง่ของประสิทธิภาพและความฉลาดของการประมวลผลต่าง ๆ แต่ก็ยังมีปัญหาในด้านความปลอดภัยของผู้ที่ใช้งานหรือผู้ที่ตกเป็นข้อมูลให้ระบบจดจำเพื่อประมวลผล
ดังนั้นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในด้านข้อมูลและความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องชีวิตของมนุษย์
อย่างไรก็ตามตัวของอุปกรณ์ KNN ทางบริษัทได้มีการยืนยันว่าหลังจากการสอบเทียบเป็นระยะเวลา 3 เดือนข้อมูลวิดีโอที่บันทึกภาพของผู้ป่วยจะไม่สามารถนำออกจากตัวอุปกรณ์ได้
เพราะฉะนั้นข้อมูลภาพผู้ป่วยจะไม่มีการผ่านผู้ใช้อย่างพยาบาลหรือใครก็ตามสิ่งที่เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะได้รับคือข้อมูลการแจ้งเตือนสภาวะต่าง ๆที่ผ่านการประมวลผลแล้วเท่านั้น
โดยเจ้าอุปกรณ์ KNN ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ตามคำสั่งของสภายุโรป 93/42/EEC เป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่น่าคิดจากข้อมูลในบทความนี้คือการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งในด้านของประสิทธิภาพนั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาลแต่ผู้สร้างได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นหรือไม่และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร ? เป็นสิ่งที่ผู้ที่มีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ต้องวางแผนรับมือ
ขอบคุณภาพประกอบโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
โฆษณา