Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
3 เม.ย. 2021 เวลา 09:29 • ธุรกิจ
คำพิพากษาศาลฎีกา 'เจ้าหนี้-ลูกหนี้' ควรรู้
1
เปิดกรณีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ "เจ้าหนี้-ลูกหนี้" ควรรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมถึงอายุความการบังคดีแพ่งเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด?
บทความโดย สกล หาญสุทธิวารินทร์ | คอลัมน์ค้าๆ ขายๆ กับกฎหมายธุรกิจ
คำพิพากษาศาลฎีกา 'เจ้าหนี้-ลูกหนี้' ควรรู้
1.การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
ในสัญญาการกู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีสิทธิกำหนดให้ผู้กู้เสียดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด แต่ผู้ให้กู้ก็ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามใจชอบ เพราะมีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ย “เกินอัตรา” การที่ผู้ให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ โดยผลของกฎหมาย ความตกลงในส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยอมชำระไป เรียกคืนไม่ได้ ปัญหาคือดอกเบี้ยส่วนที่เรียกเกินอัตราที่ชำระไปแล้วนั้น นำไปหักกับหนี้เงินต้นได้หรือไม่
2
แต่เดิมแนวคำพิพากษาศาลฎีกา วางหลักไว้ว่า การชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตรา เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ เรียกดอกเบี้ยที่ชำระเกินอัตรา คืนไม่ได้ และก็จะนำดอกเบี้ยดังกล่าวไปหักกับหนี้เงินต้นไม่ได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2540 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7207/2555
แต่บัดนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกา (ประชุมใหญ่) กลับหลักเดิมเป็นบรรทัดฐานใหม่ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน และหลังจากทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่งแล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา ประกอบ ป.พ.พ.มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ
1
ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่
โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้
2.อายุความการบังคดีแพ่งเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด
ในคดีแพ่งเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ศาลจะออกคำบังคับคดีกำหนดวิธีปฏิบัติตามคำบังคับ ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับภายในเวลาที่กำหนด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็สามารถร้องขอให้ศาลออกให้มีการบังคดี คือตามยึดอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ ตามคำพิพากษากฎหมายได้ภายในระยะเวลาสิบปี ปัญหาคือ อายุความสิบปีนับตั้งแต่เมื่อใด
แต่เดิม คำพิพากษาศาลฎีกา วางแนวบรรทัดฐานไว้ว่า ระยะในการร้องขอให้บังคับคดี นับตั้งแต่วันมีคำพิพากษาของศาลชั้นที่สุด เช่น 4741/2539 วินิจฉัยว่า ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมมีความหมายว่า จะต้องดำเนินการเพื่อบังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป
3
แต่บัดนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษากลับหลักเดิม เป็นบรรทัดฐานใหม่ คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า ในคดีแพ่งนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคำพิพากษาก่อให้เกิดหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจะต้องออกคำบังคับ ซึ่งก็คือคำสั่งแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา กำหนดวิธีที่จะปฏิบัติ ระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่จำเป็น กับกำหนดวิธีบังคับตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ.มาตรา 272 หากมีกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำบังคับในวันมีคำพิพากษาได้ (เช่นกรณีการพิจารณาโดยขาดนัดตามข้อเท็จจริงในคดีนี้)
1
จึงเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จะยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ออกคำบังคับ ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมดภายในสิบปี เมื่อศาลมีคำพิพากษา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่าให้ต้องเริ่มนับนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด
3.ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686 เพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้น ดังนี้
2
มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
1
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693
ปัจจุบันมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่เกี่ยวกับมาตร 686 วรรคสอง เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5796/2562 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 และผิดนัดเรื่อยมาเป็นเวลาเกินกว่าสามงวดติดต่อกัน ภายหลังจากนั้น เป็นเวลาล่วงพ้นกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน
ผลของการบอกกล่าวของโจทก์ที่ล่วงพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 วรรคสอง
39 บันทึก
20
47
39
20
47
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย