นักปรัชญากรีกคนสำคัญมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือนักปราชญ์นาม "โปรทาโกรัส" .
.
ดวงตาของโปรทาโกรัสอาจจะต่างกับนักปรัชญากรีกคนอื่น ๆ ตรงที่เขามองกลับมาที่ตนเอง แทนที่จะมองจากตัวเองไปข้างนอกเฉกเช่นนักปรัชญาคนที่ผ่านมา
.
แนวคิดหลักของโปรทาโกรัสคือ "มนุษย์คือเครื่องวัดสิ่งทั้งปวง"
.
ความเป็นอัตตา หรือตัวตน คือความคิดหลักที่โปรทาโกรัสกล่าวถึง
.
วันนี้เราจะชวนทุกคนมาสวมหมวกเป็นโปรทาโกรัสเพื่อมองเห็นความจริงในแบบอัตนัยกันค่ะ
.
ความจริงที่โปรทาโกรัสกล่าวถึงนั้น หมายถึงการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าหรือมีความหมายได้ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายของคน ๆ นั้น เพราะมนุษย์ทุกคนมีผัสสะหรือการรับรู้ที่แตกต่างกัน และไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกหรือความเห็นแก่กันและกันได้ ความจริงจึงเป็นสิ่งเฉพาะตัวเอง
.
ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่มีแก้วน้ำร้อนวางอยู่ตรงหน้า แล้วให้คนสองคนจับแก้วน้ำนี้พร้อมกัน คนที่ 1 บอกว่า "ร้อนมาก ๆ " แต่คนที่ 2 กลับไม่ได้บอกเช่นนั้น กล่าวเพียงว่า "ร้อนนะแต่ไม่ได้ร้อนมาก" หากเราสวมหมวกโปรทาโกรัสตัดสินก็จะบอกว่า ไม่มีใครถูกและไม่มีใครผิด เพราะทั้งสองคือความจริง
.
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
.
การรับรู้หรือผัสสะสัมผัสทั้ง 6 ของมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน น้ำร้อนเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือความรับรู้ ความจริงจึงเป็นความจริงเฉพาะของคน ๆ นั้น เราไม่สามารถส่งต่อความรู้สึกของคนเราให้กับเพื่อน หรือคนรอบข้างให้รู้สึกเหมือนเราได้
และตรงนี้เองที่ทำให้ "ผัสสะ" ต่างไปจาก "เหตุผล" ความรู้สึกร้อนมาก ๆ จากคนที่ 1 จึงไม่สามารถส่งว่า "ร้อนมาก ๆ" มายังคนที่ 2 ได้
.
ทำให้นึกถึงคำว่า "ฉันเข้าใจความรู้สึกของคุณนะ" จริงอยู่ว่าคน ๆ นั้นอาจจะเคยเจอกับเหตุการณ์เช่นเดียวกัน แต่การที่จะรู้สึกเช่นเดียวกันกับอีกคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะ ความรู้สึกก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ผัสสะ" ไม่สามารถสื่อสารระหว่างตัวบุคคลได้ นี่เองที่เป็นสิ่งที่เรียกว่า "อัตนัย" ที่ทำให้ต่างจากคำว่า "ปรนัย"
.
.
.
อ้างอิง: ปรีชา ช้างขวัญยืน. (2514). ปรัชญากรีก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.