28 มี.ค. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
เจ็บแฮมสตริง! เรื่องจริงที่นักบอลกลัว
เจ็บอะไรก็เจ็บได้สำหรับนักฟุตบอล (ถ้าไม่ถึงขั้นหัก) แต่สิ่งที่นักฟุตบอลกลัวที่สุดคือการเจ็บ "แฮมสตริง" เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ?
เชื่อว่าใครที่ติดตามฟุตบอลย่อมได้เห็นข่าวปัญหาอาการบาดเจ็บเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วของนักฟุตบอล เจ็บข้อเท้าบ้าง เจ็บเข่าบ้าง เจ็บหลังก็มี ซึ่งอาการบาดเจ็บข้างต้นที่กล่าวมาอาจจะเป็นอาการบาดเจ็บที่ไม่ได้รุนแรงนัก หรือถ้าหนักก็คือประเภทที่เจ็บเรื้อรัง เมื่อแฟนบอลได้เห็นข่าวเหล่านี้ก็ยังพอใจชื้นได้บ้างว่ามีความเป็นไปได้ที่นักฟุตบอลที่เจ็บคงไม่ต้องพักนาน สามารถกลับมาช่วยทีมที่ตนเองเชียร์ได้ในเร็ววัน
แต่ทันทีที่ได้ข่าวว่านักฟุตบอลเจ็บ "แฮมสตริง" ก็ไม่ต้องถามหาสิ่งอื่นใดหรือมีอะไรให้ลุ้นต่อได้เลย เพราะคุณจะรู้ทันทีว่านี่คือข่าวร้ายสุดๆทั้งสำหรับแฟนบอลและนักฟุตบอลที่จะต้องมาเสียเวลาอีกยาวนานกว่าจะได้กลับมาลงสนาม พูดง่ายๆเหมือนกับว่าต้องไปเริ่มนับหนึ่งเรียกความฟิตกันใหม่อีกรอบ
กล้ามเนื้อแฮมสตริงหรือกล้ามเนื้อหลังต้นขา ถือเป็นกล้ามเนื้อส่วนสำคัญในการเล่นฟุตบอล เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ออกตัววิ่งคือกล้ามเนื้อขาด้านหลัง ตั้งแต่ปลายก้น ยาวลงไปด้านล่าง เราจึงพบเห็นได้มากในกีฬาที่ใช้การวิ่งเป็นหลัก ซึ่งจะอธิบายแบบง่ายๆของอาการบาดเจ็บดังนี้
การเจ็บแฮมสตริงในฟุตบอลส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เส้นแฮมสตริงถูกกระชากอย่างรุนแรงจึงทำให้อักเสบ เช่นจังหวะการเปลี่ยนสปืดที่ต้องกระชากต้นขาอย่างกระทันหัน เท่าที่เราเห็นกันในการถ่ายทอดสดเหมือนจะไม่มีอะไรเกิดในจังหวะเจ็บ แต่แท้จริงแล้วนี่คือมหันตภัยร้ายที่นักฟุตบอลกลัวกันทุกคน เพราะจะไม่สามารถเล่นต่อได้ ต้องเปลี่ยนตัวออกสถานเดียว
3-6 สัปดาห์ คือขั้นต่ำของการพักรักษาอาการบาดเจ็บแฮมสตริง หากเป็นคนทั่วไปที่เตะฟุตบอลเพื่อออกกำลังกายเฉยๆคงไม่รู้สึกอะไรมากนัก พักได้ก็พัก แต่หากเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ต้องลงแข่งขันอย่างต่อเนื่องแล้ว นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยก็ว่าได้กับการโชว์ผลงานในแต่ละฤดูกาล เพราะฟุตบอลส่วนใหญ่เตะกันอาทิตย์ชนอาทิตย์ หากไม่มีเกมกลางสัปดาห์ นั่นไม่หมายความเป็นเวลากว่า 1 เดือนเลยทีเดียวที่คุณจะหายไปจาก Line Up ของทีม และอาจยาวนานกว่านั้นเนื่องจากเมื่อหายเจ็บแล้ว ก็ต้องมาเริ่มเรียกความฟิตกันใหม่ กินเวลาต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ตีออกมาคร่าวๆก็ 4 นัดเป็นอย่างน้อย ที่สำคัญคือเมื่อเคยเจ็บแฮมสตริงแล้วจะมีโอกาสเกิดซ้ำได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยเจ็บแฮมสตริง
1
เมื่อปี 2019 เมาริซิโอ้ โปเชตติโน่ อดีตกุนซือของท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ เคยพูดถึงเรื่องอาการบาดเจ็บแฮมสตริงของ เดเล่ อัลลี่ ที่กำลังฟอร์มแจ่มต่อเนื่องและเป็นตัวหลักในสมัยที่ยังคุมทีมไก่เดือยทองอยู่ว่า "กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังเป็นจุดที่เราต้องให้ความระมัดระวังพอสมควร ซึ่งอาการของ อัลลี่ นั้นดูไม่ค่อยดีเท่าไร คือตั้งแต่เห็นท่าทางที่เขาเอามือจับไปที่กล้ามเนื้อต้นขาของตัวเอง เราก็ทราบทันทีว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดีเสียแล้ว"
นั่นทำให้โปเชตติโน่ หันไปใช้โอกาสนี้ในการดันนักเตะดาวรุ่งและให้นักเตะคนอื่นๆพิสูจน์ตัวเองขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นให้นักเตะคนอื่นในทีม ในขณะที่เดเล่ อัลลี่เองต้องเสียตำแหน่งตัวจริงอยู่พักใหญ่ประมาณเกือบ 2 เดือน แถมไม่ได้ลงในเกมสำคัญรอบรองชนะเลิศ คาราบาวคัพ นัดที่สอง กับเชลซีอีกด้วยทั้งที่เกมแรกกุมความได้เปรียบอยู่ด้วยสกอร์ 1-0 สุดท้ายสเปอร์สก็ตกรอบ ด้วยการแพ้จุดโทษ และจนถึงปัจจุบัน เดเล่ อัลลี่ ก็ยังไม่สามารถลงตัวจริงให้สเปอร์สได้ต่อเนื่องอีกเลยทั้งจากอาการบาดเจ็บและฟอร์มที่ไม่คงที่เหมือนแต่ก่อน
นี่จึงเป็นฝันร้ายที่น่ากลัวของนักฟุตบอลเลยล่ะครับ เพราะคุณจะไม่สามารถเดินเหินได้ตามปกติในช่วง 2 สัปดาห์แรก ที่สำคัญคือคุณจะเสียโอกาสในการทำผลงานให้กับทีม สุ่มเสี่ยงจะเสียตำแหน่งในทีม รวมถึงทำให้ฟอร์มการเล่นไม่คงที่ แม้จะมีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ต่อให้เจ็บแฮมสตริงก็กลับมาเล่นได้เหมือนเดิมก็ตาม แต่ไม่ใช่กับทุกคน บางทีคุณอาจเป็นผู้โชคร้ายคนนั้นก็เป็นได้
1
วิธีที่ป้องกันการเกิดอาการบาดเจ็บแฮมสตริงแบบง่ายๆที่นักฟุตบอลสามารถทำได้ทันที นั่นคือการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณนี้ก่อนเสมอ จะช่วยลดการเกิดอาการบาดเจ็บที่จุดนี้ได้
ส่วนการรักษา สามารถประคบเย็น ประคบนํ้าแข็งทันทีที่รู้สึกปวด โดยให้ประคบไว้ 10-15 นาที ทุกชั่วโมงจนกว่าอาการปวด บวมจะลดลง รวมถึงนอนยกขาข้างที่ปวดให้สูงกว่าระดับหัวใจร่วมกับประคบเย็น เพื่อลดการบวมได้
1
นอกจากนี้ให้ลองยืดกล้ามเนื้อแฮมสตริงบ่อยๆเท่าที่บ่อยได้ เพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยการยืดกล้ามเนื้อก็แค่นั่งเหยียดขาข้างที่ปวดออกไป ให้เข่าเหยียดตรง จากนั้นเอามือก้มแตะปลายเท้าจนรู้สึกตึงที่ต้นขาด้านหลัง หรือใต้ข้อพับเข่า
อย่างไรก็ตามอาการบาดเจ็บแฮมสตริงสามารถรักษาหายได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพักลงน้ำหนัก หรือทายาต่างๆ (ถ้าไม่หนักจนถึงขั้นกล้ามเนื้อฉีกขาด) แต่เชื่อเถอะครับว่าการบาดเจ็บแฮมสตริงคืออาการหนึ่งที่นักฟุตบอลทุกคนกลัวมากที่สุด เพราะไม่สามารถเล่นต่อได้ ต้องพักนาน และสุ่มเสียงเสียตำแหน่งตัวจริงได้ง่ายๆเลยล่ะครับ
โฆษณา