28 มี.ค. 2021 เวลา 07:55 • หนังสือ
คิดให้เล็กลง แล้วลงมือทำซะ (Mini Habits: Smaller Habits, Bigger Results)
- Stephen Guise/ กัณฑ์อเนก จารุรักษา แปล
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 บังเอิญไปเจอที่ Kinokuniya @CTW แล้วรู้สึกชื่อหนังสือสะดุดตาดีเพราะรู้สึกเชื่อมโยงกับหนังสือเล่มนี้ เชื่อมโยงยังไง? รู้ตัวเองเลยว่าเป็นคนคิดเยอะ คิดๆ แต่มีปัญหาในการเอาสิ่งที่คิดมาลงมือทำ คือมีปัญหาในขั้นตอนลงมือทำนั่นเอง เลยอ่ะ ลองซื้อมาอ่านดู ล้ะก็สามารถอ่านจบภายในสองวัน ทีนี้ อยากเอามาแบ่งปันโดยสรุปสาระสำคัญของเล่มนี้ให้คนอื่นฟังบ้าง เผื่อใครมีปัญหาแบบเดียวกัน แล้วไม่รู้หลักการว่าเริ่มแก้ยังไง ใช้วิธีไหนดี ลองเริ่มจากโพสนี้ดูกันได้
"A journey of a thousand miles must begin with a single step." - Lao Tzu
- ความตั้งใจไม่ว่าจะมีอยู่เยอะแค่ไหน ก็ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ถ้าไม่เกิดผล อีกอย่างที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ความตั้งใจที่ไม่มีการกระทำ มันจะเป็นสิ่งที่กลับมาทำลายความมั่นใจของเราเอง
- การทำสิ่งเล็กๆสำคัญกว่าการไม่ทำอะไรเลย การทำสิ่งเล็กๆทุกวัน ยังให้ผลที่คุ้มค่ากว่าการรวบหลายสิ่งหลายอย่างมาทำในวันเดียว เพราะอะไร? เพราะการทำทุกวันต่างหากที่กลายเป็นนิสัยพื้นฐานไปชั่วชีวิต
- จุดเริ่มต้นของแนวคิดทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้มาจากการที่ "ลองคิดตรงข้ามกับสิ่งที่คิดอยู่ แล้วดูว่ามีความคิดสร้างสรรค์อะไรเกิดขึ้นบ้าง?" โดย Stephen (ผู้เขียน) เค้าเฟลและล้มเหลวกับตัวเองมาหลายปี ในแง่ของการทำอะไรบางอย่างให้สม่ำเสมอ จนบรรลุเป้าหมาย และกลายเป็นนิสัยไปในที่สุด ที่เค้าสังเกตเห็นได้ชัดเลยคือเวลาที่ตั้ง New Year Resolution แล้วผู้คนส่วนใหญ่ก็ดูจะทำได้เพียงแค่สองสามวัน หลังจากนั้นก็จะล้มเหลวทันที ทีนี้พอ Stephen ได้แนวคิดเรื่องคิดตรงข้าม เค้าเลยนำมาปรับใช้กับเป้าหมายของเค้า ว่าอยากที่จะออกกำลังให้ได้ 30 นาทีในทุกวัน พอเค้าคิดแบบนี้เค้าก็รู้สึกว่ามันดูยิ่งใหญ่มาก ยังไม่ทำก็สัมผัสได้ว่ามันเหนื่อยมากแน่ๆ เค้าเลยลองคิดสิ่งที่ตรงข้าม คือสเกลการออกกำลังที่ตรงข้ามกับการออกกำลัง 30 นาที นั่นก็คือ การวิดพื้นเพียงแค่ 1 ครั้ง เค้าคิดล้ะเค้าก็ตลกกับเป้าหมายอันนี้ เพราะมันดูเล็กจนเหลือเชื่อ แถมยังดูงี่เง่าและเป็นไปได้ยากอีกด้วยถ้าแค่วิดพื้น 1 ครั้งไม่สำเร็จ เค้าจึงเริ่มลงมือวิดพื้น 1 ครั้ง แล้วเค้าก็สังเกตว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ เพราะท่าทางในการเริ่มออกกำลังกาย 30 นาที หรือวิดพื้นเพียง 1 ครั้ง มันก็เริ่มจากท่าเดียวกัน แต่ความแตกต่างคือ พอเค้าลงไปวิดพื้น 1 ครั้ง นั่นเท่ากับว่าเค้าได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ถึงแม้มันจะเล็กมาก แต่เค้าก็ได้ทำตามเป้าแล้ว แล้วพอลงมือทำ แล้วทำได้มากกว่านั้น วิดพื้นได้มากกว่า 1 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นโบนัส ที่ทำได้เกินเป้าหมาย win-win ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย
"It's not what we do once in a while that shapes out lives. It's what we do consistently" - Anthony Robbins
- ก้าวเล็กๆ คือ นิสัยใหม่ที่ดีที่เราต้องการสร้างขึ้น ในรูปแบบเล็กจิ๋วจนน่าตลก และเป็นไปได้ยากที่จะทำมันไม่ได้ ตรงที่เป็นไปได้ยากที่จะไม่ทำไม่ได้นี่แหละ คือกุญแจสำคัญของระบบก้าวเล็กๆ ที่อยากให้เราทำบางสิ่งให้ได้ทุกวัน โดยที่รู้สึกดีกับตัวเองว่าได้บรรลุเป้าหมายนั้นไปด้วย เช่น อยากออกกำลังให้ได้ 30 นาทีทุกวัน ก็ซอยย่อยเป็น วิดพื้นวันละครั้ง หรืออยากเขียนหนังสือให้ได้ 3,000 คำทุกวัน ก็ซอยย่อยให้เหลือแค่การเขียนให้ได้ 50 คำต่อวัน
- แล้วเพราะอะไรถึงใช้วิธีนี้? ก็เพราะก้าวเล็กๆพวกนี้ เราใช้ความมุ่งมั่นน้อยมาก พอใช้ความมุ่งมั่นน้อย แรงต้านที่จะไม่ทำก็น้อยตาม ส่งผลให้มีโอกาสสูงที่จะทำรอบพิเศษให้มากขึ้นไปอีกด้วย แต่ก็อย่าลืมว่าถ้าวันไหนทำได้แค่ก้าวเล็กๆที่ตั้งไว้ เช่น เขียนได้ 50 คำต่อวัน ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ส่วนวันที่เขียนได้ 2,000 คำก็ให้ถือว่าเป็น A plus, but a must is only those small steps. อีกอย่างคือก้าวเล็กๆพวกนี้เป็นอะไรที่เอื้อมถึง สามารถทำได้ทุกวัน แล้วพอเราทำได้ทุกวัน มันก็กลายเป็นนิสัยใหม่ขึ้นมานั่นเอง
- ความเครียดมีส่วนกระตุ้นดึงพฤติกรรมที่เป็นนิสัยดีหรือไม่ดีออกมา เพราะอะไร? เพราะความเครียดเพิ่มแรงเหวี่ยงให้คนพุ่งเข้าหาพฤติกรรมที่เป็นนิสัย แล้วมันเพราะอะไร? ก็เพราะคนเราตัดสินใจง่ายๆในเวลาที่เครียดได้ยาก ประกอบกับความมุ่งมั่นก็ต่ำลง เหนื่อยหน่าย จึงมีแนวโน้มที่จะแค่ทำสิ่งที่เคยทำเป็นปกตินั่นเอง
- Stephen ยังเน้นย้ำอีกด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าการเกิดนิสัยใหม่คือการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลา 21 หรือ 30 วันนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริงๆแล้วความเชื่อนี้มาจากการที่คุณหมอคนหนึ่งค้นพบว่า คนไข้ที่ถูกตัดแขน หรือขา จะใช้เวลาประมาณ 21 วันในการปรับตัวให้คุ้นเคยกับการสูญเสียนั้นๆ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลยกับการสร้างนิสัยใหม่ ความจริงคือระยะเวลาเฉลี่ยในการสร้างนิสัยใหม่คือ 66 วัน ที่พฤติกรรมจะเปลี่ยนเป็นนิสัย โดยเวลาจริงอาจจะมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ 18 ไปจนถึง 254 วันเลยทีเดียว
"Emotions will either serve or master, depending on who is in charge." - Jim Rohn
- ถ้าใช้แรงจูงใจนำ เราคงสร้างนิสัยไม่ได้ เพราะอะไร? ก้าวเล็กๆอาศัยการทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ตอนที่มีแรงจูงใจอยากจะทำมัน แรงจูงใจมีประโยชน์ แต่อยากให้มองว่ามันเป็นของแถมมากกว่าสิ่งที่พึ่งพาได้ เพราะแรงจูงใจตั้งอยู่บนความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกของคนนั้นลื่นไหล และคาดเดาไม่ได้ เช่น ตอนไม่สบาย หมดอารมณ์ ก็ยากที่จะสร้างแรงจูงใจขึ้นมา เพราะแรงจูงใจสร้างได้ก็ต่อเมื่อตอนที่เรามีพลังมากพอ มีความคิดที่สมบูรณ์ และไม่มีสิ่งยั่วยุ แต่ถ้าใช้แรงจูงใจ พอจะทำก็รู้สึกว่าสถานการณ์ไม่เป็นใจ จบด้วยการเอาไว้ทำพรุ่งนี้แล้วกัน
- ในขณะที่ความมุ่งมั่นสามารถพึ่งพาได้ และเสริมให้แข็งแกร่งได้แบบเดียวกับกล้ามเนื้อ ความมุ่งมั่นยังสามารถกำหนดตารางกิจกรรมได้ แล้วทำตามตาราง "ไม่ว่าในตอนนั้นจะมีแรงจูงใจหรือไม่ก็ตาม" ทำให้เกิดความคงเส้นคงวา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นมิตรต่อการสร้างนิสัย
- ประโยชน์พื้นฐานของก้าวเล็กๆคือ ความสามารถที่จะปฏิบัติกิจต่างๆให้สำเร็จไม่ว่าตอนนั้นจะรู้สึกเช่นไร รวมทั้งความรู้สึกพึงพอใจก่อนบรรลุเป้าหมาย ที่มักจะขัดขวางความคืบหน้า เพราะข้อกำหนดมันเล็กมากจนน่าตลก คุณจึงไม่เหลือข้ออ้างใดๆในการที่จะ "ไม่ทำ" มัน
- สุดท้ายนี้ จบด้วยสัญญาณที่บ่งบอกว่าพฤติกรรมที่ทำได้กลายเป็นนิสัยไปแล้ว
- ไม่มีแรงต้านอีก
- เป็นตัวตนของตัวเอง
- ทำโดยไม่ต้องคิด
- ไม่กังวลกับสิ่งนั้น
- กลายเป็นเรื่องปกติ
- และ ใช่ มันน่าเบื่อ
โฆษณา