Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ATIPONG PADANUPONG
•
ติดตาม
28 มี.ค. 2021 เวลา 07:59 • ศิลปะ & ออกแบบ
ภาพ โขนสดตรีเศียร นี้ ใช้เวลานาน (ตามเคย) กว่าจะเสร็จ ตั้งแต่ร่างสเก็ตช์ ต่อด้วยการขยายขึ้นดรออิ้งขาวดำ และจบที่ภาพสีน้ำมัน ถึงจะนานแต่ก็ทำด้วยความสนุกสนาน ไม่รู้สึกเบื่อ เพราะได้วาดสิ่งที่ชอบหลายอย่างลงในภาพ อาทิเช่นหัวโขนตรีเศียร ซึ่งสวยแปลกตา, การแสดงโขนสดแบบบ้านๆ, ซุ้มปืนอัดลมจุกน้ำปลาตามงานวัด, บรรยากาศโรงละครสัตว์และ Freak Shows, ของเล่น ตุ๊กตุ่นต่างๆ ฯลฯ
1
พญายักษ์ตรีเศียรเป็นน้องชายต่างมารดาของทศกัณฐ์ พอเติบใหญ่ก็แยกออกมาครองเมืองของตนเอง ในช่วงต้นเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อนางสำมนักขา น้องสาวคนสุดท้องของทศกัญฐ์สูญเสียสามี เธอก็ออกเดินทางท่องเที่ยวให้คลายความเศร้า บังเอิญไปเจอพระรามในอาศรมกลางป่า ก็ปิ๊งอย่างแรง พยายามไล่จีบก็ไม่สำเร็จ พาลหงุดหงิดไปตบตีนางสีดา พระรามกับพระลักษมณ์เลยทำร้ายนางเป็นการลงโทษและไล่ไป
นางสำมนักขาโกรธแค้นจึงไปฟ้องพี่ชาย 3 ตน อันมี ทูษณ์ ขร และ ตรีเศียร ยักษ์ทั้งสามทยอยกันยกทัพมาหวังฆ่าพระราม แต่ล้วนพ่ายแพ้ถูกพระรามสังหารตายหมด บทบาทของตรีเศียรก็จบลงง่ายๆ สั้นๆ แค่ตรงนี้ ส่วนนางสำมนักขายังไม่ยอมเข็ด ไปฟ้องพี่ใหญ่คือทศกัณฐ์ ใส่ความและยุยงอะไรต่างๆมากมาย จนทศกัณฐ์ทั้งโกรธทั้งเคลิ้ม ทำการลักตัวนางสีดา พาให้เกิดสงครามใหญ่โตยุ่งเหยิงตามมาภายหลัง
ที่สนใจวาดตรีเศียร ส่วนนึงคือหัวโขนที่งดงามถูกใจ อีกส่วนนึงคือในบทประพันธ์รามเกียรติ์สมัยรัชกาลที่ 1 เขียนถึงการจัดทัพของตรีเศียรว่า เหล่าทหารตั้งแต่ระดับขุนศึกลงไปถึงไพร่พล ล้วนประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ ผสมปนกันระหว่างยักษ์ ภูติผี อมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานหลากหลายชนิด เป็นกองทัพของเหล่าอสุรกายไฮบริดพิสดาร ซึ่งปกติไม่มีปรากฏในทัพของยักษ์เมืองอื่นๆ ดังเช่นคำกลอนที่แนบมานี้
ผมเลยจับตอนที่ตรีเศียรจัดทัพ ตรวจไพร่พลก่อนยกออกไปหาพระรามมาวาด เปลี่ยนพลทหารอสุรกายให้เป็นตุ๊กตาคิวพีหรือซอนนี่ แองเจิ้ล ส่วนนายทหารให้ดูกึ่งๆ คนดูแลซุ้มยิงปืนจุกน้ำปลาในงานวัด ตรีเศียรเองก็เปรียบดังตัวชูโรง หรือไม่ก็หัวหน้าคณะโขนสด
อนึ่ง ชื่อโขนสด "ตรีเศียร ตระการศิลป์" บนป้ายห้อยด้านบน ผมดัดแปลงมาจากชื่อโขนสดคณะครู "พิชัย วิไลศิลป์" ซึ่งเป็นโขนสดคณะแรกที่ได้ไปชมโดยบังเอิญ ในงานสงกรานต์วัดไร่ขิง เมื่อปี 2550 รู้สึกประทับใจในความอารีมีน้ำใจของชาวคณะ และบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง จับต้องได้ใกล้ชิดกับผู้ชมของการแสดงโขนสด จนอยากวาดออกมาเป็นภาพ คือจุดเริ่มแรกของภาพชุดโขนสดที่ทำต่อเนื่องเรื่อยมา
หากไม่ฟลุคไปเจอการแสดงวันนั้น ผมคงไม่มีอะไรให้เก็บมาต่อยอด มาถ่ายทอดเป็นภาพเขียนต่างๆนาๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
1 บันทึก
7
2
1
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย