Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศิลปะภาพเขียนร่วมสมัยประเภทต่างๆในมุมมองของข้าพฯ
•
ติดตาม
28 มี.ค. 2021 เวลา 14:05 • ศิลปะ & ออกแบบ
“อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” เขียนโดยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
ต้นเดือนกันยายนปีนี้ (2557) เราสูญเสีย อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินคนสำคัญไปอีกหนึ่งท่าน
ข้อเขียนมีดังนี้
ถวัลย์ ดัชนี จิตรกรอิสระ
กราบคารวะพระคุณของอาจารย์ ที่รู้ว่าศิษย์นั้นโง่ ขยัน กระนั้นก็ยังรักและเมตตา
ก่อนเข้ามาเรียนศิลปากร ภายใต้การสอนของอาจารย์ศิลป์ ผมมาจากเชียงราย เข้าเรียนวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ความรัก ความศรัทธาและความใฝ่เรียนใฝ่รู้ ทำให้ผมมาเข้าศิลปากร
ความงุนงงสงสัย ความฉงนฉงาย เคลือบแคลงเส้นแบ่งกั้นระหว่างช่างฝีมือ คนรังสรรค์ศิลปะ ช่างหัตถกรรม กับผู้รังสฤษฏ์ จิตวิญญาณและรอยเท้า ลมหายใจพระเป็นเจ้า
จากเบ้าหลอมหนึ่งไปสู่เตาเผาใหม่ ขัดเกลา ขูดถาก เคี่ยวกรำมาอีกห้าปีในคณะจิตกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และธุดงค์รอนแรมข้ามฟ้าไปอีกหลายประเทศในยุโรปอีกกว่าห้าปี
บ่อยครั้งที่ย้อนทวนกระแสกาลเวลาเวียนคืนหลัง ความทรงจำเก่าๆ กลับผุดพราย เมื่อวันวาน แจ่มกระจ่าง โปร่งเบา หดหู่ท้อแท้ด้วยความเยาว์เขลา และโง่ ปีติยินดีเริงร่ากับความสำเร็จชั่วครู่ยามเหมือนหยดน้ำค้าง ขันสมเพช ระคนความลี้ลับของมรรคาศักดิ์สิทธิ์ในวิหารแห่งศิลปะ ที่ผมเดินก้าวย่างเข้าไปในเทวาลัยทิพย์นั้นมาตลอดชีวิต และครั้นในปัจฉิมวัย ได้นั่งเคี้ยวเอื้องคืนวันในแรกระบัดหนุ่ม
อาจารย์ศิลป์ ถ้าเปรียบประดุจเทพ แห่งจิตวิญญาณ ผู้บรรจุสายธารชีวิตให้พะเนียงโชนประกาย ทำนุบำรุงแสงเพลิงเหล่านั้นให้ส่องทางวิถีสุนทรียศาสตร์ รังสรรค์ความรักปรากฏรูป ผ่านฝีมือ ประสบการณ์ความชำนาญแม่นยำในทักษะ ความรู้จัดเจนปราดเปรื่องเป็นเลิศ ปราชญ์สุนทรีย์ทางทฤษฎี ความนุ่มนวลควรแก่การงานของดวงจิต และวิญญาณอิสระในแง่นิรมิตสร้างสรรค์
อาจารย์ไม่ใช่ปั้นดินให้เป็นดาว หากแต่นิรมิตมนุษย์ให้เป็นเทพและให้เทพรังสรรค์ลมหายใจแห่งความรักออกมาเป็นศิลปะ โอยทานทิพย์แก่มวลมนุษยชาติ
ระลึกถึงอาจารย์ ผ่านการทำงานศิลปะมาตลอดชีวิต วันนี้มาขอดเกล็ดบางครั้งในร่มเงามหาวิหารแห่งพุทธิปัญญา เมตตาธรรม และแพร้วด้วยอารมณ์ขันของท่านเอง
สมัญญาจากอาจารย์
ผมเป็นนักเรียนจิตรกรรมคนแรก คนเดียวของท่านที่มาจากเชียงรายโดยกำเนิด ผมมาจากภูสูงของผ้าห่มปกและผีปันน้ำ แดนลาว ไทย พม่า สามเหลี่ยมทองคำ ชอบเสื้อสีแดงชายครุยกรุยกรายของกระเหรี่ยง เครื่องประดับชาวเขาหลายเผ่า อาวุธและเครื่องใช้ในพิธีกรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ ทั้งที่สูงบนดอยและที่ราบลุ่ม
อาจารย์เรียกผมว่า “นายคนภูเขา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานตัวผมมาตลอดชีวิตของท่าน
ขยันเกินไป
ผมตั้งใจเรียน ขยัน และทำงานหนัก แต่สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะไม่มีความสลักสำคัญอะไรนัก ถ้าเราปราศจากความเข้าใจแจ้ง ทำงานแต่พอควร ถนอมออมแรงไว้สำหรับงานสุนทรียภาพ ผมทำงานอย่างบ้าคลั่งมาตลอดหกเดือนแรกของการเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ ด้วยตระหนักว่ามาจากเพาะช่าง รากฐานยังไม่มั่นคง ดำริชอบ และเข้าใจชอบไม่มี มีแต่เพียรชอบ วิริยะชอบ ตั้งใจชอบ ผมตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกวิชา เพราะความผิดอย่างเดียวกัน
“นายคนภูเขา นายมันโง่แล้วขยัน ไม่ดีนะนาย นายยิ่งทำงานหนัก ยิ่งล่มจม เหมือนอียิปต์และเขมร ประเทศชาติล่มจมเพราะทำปิรามิด สร้างเทวาลัยมากเกินไป นายหัดคิดเสียบ้าง อย่าเอาแต่ทำ ขยันเกินไป โง่เกินไป ทำปุ๋ยก็ยังไม่ดีนาย...”
ผมหยุดทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ เรียน เสาะแสวง ค้นคว้าไต่ถาม อีกปีต่อมาคะแนนทุกวิชาของผม โดยเฉพาะ วาดเส้น วิจัยศิลปไทย ผมได้ถึงขั้นดีเป็นเลิศ ครั้งแล้วครั้งเล่า งานนักศึกษาเหล่านั้นของผมแทบจะยึดครองบอร์ดนักศึกษา
ส่งห้า-ออกเจ็ด
แล้ววันหนึ่งก็มาถึง วันส่งงานเข้าแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นปีหนึ่งปลายปี ผมเคยส่งงานเข้าร่วมแสดงมาแล้วเมื่อครั้งอยู่เพาะช่าง ได้เข้าร่วมแสดง ขายได้ด้วย จึงชะล่าใจส่งเข้าแสดงอีกครั้ง
ผมส่งงานเข้าไปห้ารูป เป็นวัดโพธิ์สีน้ำมัน ต้นดอกทองกวาววัดพระแก้ว และชาวเขา ผมถูกคัดออกมาทั้งหมดเจ็ดรูป?! ส่งงานห้ารูปถูกคัดออกเจ็ดรูป!? เป็นที่เยาะเย้ยหุยโห่ฮาป่าของเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องคนรู้จักในแวดวง
อีกสองรูปมาจากไหนหรือ?
มันเป็นงานติดบอร์ดที่ผมเคยภาคภูมิใจ อิ่มเอิบด้วยความปีติมาแล้วนั่นเอง!
ไม่รู้ว่า “ผู้หวังดี ประสงค์ร้าย” ท่านใดกรุณาส่งเข้าไปสมทบซ้ำเติม
และสำหรับวันนั้นเล่า มันทั้งอาย เจ็บแสบ หดหู่ และความไม่เข้าใจแจ้ง
ผมนั่งรออยู่คนเดียวจนมืดค่ำ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครทัก ผมค่อยๆ ย่องเข้าไปแบกรูปมากองไว้มุมตึกทีละรูป เรียกรถตุ๊กๆ มาขนกลับไปไว้ในส้วมร้างข้างบ้าน เพราะไม่มีที่เก็บ ต่อมาผมทาสีดำทับเพื่อเอาไว้ใช้เขียนรูปอื่นต่อไป
แต่ผมไม่เคยท้อแท้ ไม่เคยเหนื่อยหน่าย ยอมรับความผิดหวัง หากยังมีพลัง ยังมีไฟศิลปที่ลุกเรืองอยู่ในจิตวิญญาณนิรันดร์
มีแต่ถูกต้อง
วันหนึ่งในสนธยากาล อาจารย์กำลังจะกลับบ้าน ในความขมุกขมัวรัวลางทั้งบรรยากาศและความคิด ท่านเดินเข้ามาหาผมในซอกตึกเรียนแล้วบอกว่า
“นายคนภูเขา งานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน เป็นอะคาเดมิคนะนาย มันไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว ม้าของนายตายแล้ว ยืนตาย วิ่งไม่ได้ ร้องไม่ได้ วัดของนายเหมือนฉากลิเก ฟ้าของนายไม่มีอากาศ หายใจไม่ได้ รูปของนายไม่มีมิสติคเลย นายไม่เข้าใจนะ นายคนภูเขา”
ผมจะไปเข้าใจได้ยังไงล่ะ รุ่นพี่ที่ได้แสดงงานศิลปกรรมครั้งนั้น รูปเขียนปลาของเขาได้คะแนนสิบห้า ส่วนของผมได้คะแนนเก้าสิบ กลับถูกคัดออก
อะไรคือศิลป?
คำถามนั้นก้องสะท้อนอยู่ในผนังใจของผมในวัยหนุ่ม ในขณะที่ผมกำลังทำความเข้าใจศิลปะ ทะลวงกำแพง และหักโซ่ตรวน ขื่อคาพันธนาการทางงานช่างฝีมือ ไปความสะเทือนใจในศิลป
นี่นาย
“นี่นาย...ฉันคิดว่า นายพอแล้ว นายทำได้แล้วงานเรียน นายคิดซินาย สร้างสรรค์นะนาย นายทำอะไรมาก็ได้ ที่ผิดน่ะนาย ฉันจะบอกนายว่ามันผิดยังไง
นี่นาย...อันนี้ ไม่ใช่นิสัยของนายนะ มันเป็นเดคคอเรทนะนาย มันสวยเกินไป มันไม่มีกำลังนะนาย เลิกทำเสียดีกว่านาย
นี่นาย...อันนี้ นายแกล้งทำเกินไป มันไม่ซินเซียร์นะนาย มันมากเกินไป มันเป็นบาโรคนะนาย มันไม่มีข้างใน มันกลวงนะนาย ฉันว่ามันไม่ดีนี่นาย...ของนายมันเป็นโปสเตอร์นะนาย เพอร์สเปคตีฟนายผิดนะนาย มันไม่เป็นศิลปะนะนาย นายไม่เข้าใจฟิลลิ่ง มันไม่มีสปิริตนะนาย
นี่นาย...ควายของนาย แอ็คชั่นมากเกินไปนะ ฉันว่าม้าเท่านั้นทำท่านี้ วัวควายไม่ทำนาย
นี่นาย...เราเรียนศิลปะนะ ทำไมนายถึงไปให้เขาฝึกทหาร ซ้ายหันขวาหัน คนนะนายไม่ใช่ควาย
นี่นาย...หัวหน้ากองหัตถศิลป์ มาฟ้องว่าพวกนายนั่งนินทานางแบบทั้งวันไม่ทำงาน
นี่นาย...นู้ดของนายเหมือนไม้ทาสีนะนาย ไม่มีชีวิตเลย นายพยายามนะนาย
นี่นาย...รูปคนของนายยุ่งเกินไป ทำการเมืองมากเกินไป ฉันอยากให้นายทำศิลปะนะนาย ไม่อยากให้นายยุ่งเรื่องการเมืองในศิลปะ อันตรายมากนะนาย
นี่นาย...นายตกเพอร์สเปคตีฟอีกแล้ว นายมารีเอ็กแซมกับฉันนะนายก่อนกลับบ้าน
นี่นาย...นายอยากได้อ่านทีซีสไหมนาย มาหาฉันที่ห้องนะ พรุ่งนี้ฉันไปโรงพยาบาล
นี่นาย...ถ้านายรักฉัน ทำศิลปะนะนาย นายไม่ต้องจัดวันเกิดให้ฉัน นายจัดห้องเรียนให้สะอาด นายโกนหนวดแล้ว คนภูเขา วันนี้นายเป็นฮิวแมนบีอิ้งแล้ว ก่อนนั้นนายเป็นลิงนะนาย
นี่นาย...นายเข้าเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ผู้หญิงด้วยนะนาย ฉันรู้นายไม่ชอบ แต่อาร์ตีสต้องมีความรู้เรื่องอื่นนะนาย ถ้านายปฏิเสธ นายลำบากนะนาย วันหน้า
นี่นาย...ฉันคิดว่า ที่นายขอห้าร้อยไปซื้อผ้าร้อยเมตรมาเขียนโปสเตอร์งานแห่งชาติ ฉันให้นายห้าบาทพอแล้วนาย เขียนเมตรเดียวพอ อาร์ท เอ็กซิบิชั่น ฉันออกวิทยุแล้ว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์แล้ว ฉันไม่ใช่โสเภณีนะนาย เราทำงานศิลปะ คนดูเขาอยากมาเอง ฉันไม่ได้ขายตัว ฉันทำศิลปะนะนาย
นี่นาย...ค่ำแล้ว นายเพิ่งกลับมาหรือ? (ผมกับวิรัช กันทรัพย์ เพื่อนรุ่นน้องมัณฑนศิลป์ อาจารย์ใช้ให้ไปเขียนประกาศนียบัตรที่สถานทูตแห่งหนึ่ง ทั้งวัน เช้าจรดเย็น ตามคำสั่งอาจารย์)
นายได้มีข้าวกินไหม? เขาเลี้ยงไหม? เขาให้เงินนายไหม? ไม่เลยหรือ? บ้าจริงๆ
นี่ฉันให้นายนะ (อาจารย์ควักเงินส่วนตัวให้คนละร้อย บ่นพึมพำว่าบ้า บ้าจริงๆ)
นี่นาย...รูปชาวเขาลงผี อันนี้ของนาย เก็บไว้ให้ดีนะ นายมีหัวคนหนึ่ง วันหนึ่งจะเป็นรูปสำคัญของเมืองไทยนะ
นี่นาย...นายคิดว่านายเป็นใคร สวัสดิ์ ชลูด ตั้งราคาสามพันบาท นายไปตั้งราคาเท่าเขาได้ยังไง นายยังเป็นนักเรียนอยู่นะ นายไม่ใช่อาร์ตีส
นี่นายคนภูเขา นายเอากะเขาด้วยหรือ? แสดงรูปวังสวนผักกาดนี่เหรอ? นายระวังนะ นายทำคอมเมอร์เชี่ยลมากไปนะนาย ฉันว่านายตั้งใจทำงานดีกว่า
นี่นายคนภูเขา ฉันให้นายได้รางวัล แต่รูปนายแย่มากนะนาย สีนายไม่ทำงาน เพอร์สปคตีฟนายผิด มันเป็นโปสเตอร์นะนาย รูปนายเป็นรูปที่เลวน้อยนิดหน่อยนะนาย
นี่นาย...ฉันคิดว่าถ้านายเขียนรูปอย่างนี้นะนาย ตายดีกว่านาย ไม่มีสปิริตเลย
มหาวิหารแห่งคุณธรรม
อาจารย์คือเทพเจ้า สำหรับลูกศิษย์ ทั้งเคารพรัก ยกย่องเทิดทูนบูชา ต่อหน้าและลับหลัง เราวางท่านไว้บนหิ้งบูชาดุจคุรุเทพ เกรงและกลัวท่านจะโกรธเสียใจที่เราไม่ขยันหมั่นเพียร ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศ ทั้งคุณธรรม จริยธรรมและตลอดจนเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิต อาจารย์อยู่อย่างสงบสันโดษ มักน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ละโมบยินดีในลาภสรรเสริญสุข ทรงภูมิทรงปัญญา หากแต่อ่อนน้อมค้อมต่ำกับผู้คนทุกหมู่เหล่า มีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ ผู้คนที่ได้รู้จักท่านประทับใจในความสง่างามของบุคลิก ความเชื่อมั่นศรัทธากล้าในศิลปศาสตร์ทุกสาขา ความรอบรู้ในภาษาศาสตร์ อาจารย์พูดได้ดีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน นอกเหนือไปจากอิตาเลียน สเปนและภาษาไทยพื้นฐานของท่าน
ท่านกว้างขวางในทัศนคติ และยิ่งใหญ่ด้วยเมตตาธรรม ปรารถนามิตรสหายที่สามารถปฏิเสธแนวความคิดของท่านได้
อาจารย์มามหาวิทยาลัยแต่เช้า ทำงาน เขียนหนังสือ เตรียมการสอน ตรวจตรา วิจารณ์ ควบคุม ให้แนวนโยบาย ไปร่วมงานสังคม พิธีกรรมทางศิลป กินอาหารกลางวันคนเดียวง่ายๆ ในห้อง ไม่มีเครื่องดื่มใดๆ ไม่มีอบายมุข ไม่มีราคะจริตความฟุ้งเฟ้อใดๆ เข้ามาแผ้วพาน มีชีวิตแสนขลังอยู่ในเทวาลัยเร้นลับน่าพิศวงของเหล่าศิษย์ และนั่งสงบสง่าอยู่ท่ามกลางดวงใจ ดวงวิญญาณของเหล่าศิษย์อยู่ในอนันตภาวะ
ในความเบิกบานทางสุนทรียภาพนั้น อาจารย์เปรียบประดุจ ห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งอียิปต์ วิหารแห่งเมโสโปเตเมีย อโครโปลีสแห่งกรีก มหาวิหารแห่งโรมและฟลอเรนซ์ ตรีมูรติแห่งอินเดีย และมหากาพย์ภารตะอุปนิษัท และไตรปิฎกแห่งหินยานและมหายาน ปกรณัมแห่งทวยเทพ ตลอดจนวรรณคดีดนตรีทุกท่วงทำนอง เหล่าศิษย์กำซาบสุนทรียรสเหล่านั้น แม้กระทั่งสอนนั่งโต๊ะกินข้าว มรรยาทผู้ดีฝรั่ง กินไวน์หลากรส กลิ่น สี เรียนรู้รากเหง้าอู่อารยธรรมตะวันตก
ฉันเป็นมนุษย์นะนาย
ครั้งหนึ่ง ผมและอาจารย์ไปลงเรือข้ามฟากท่าช้าง อาจารย์พาพวกเราไปดูวัด ในพลบโพล้แห่งสนธยากาล ระลอกทองของแดดยามเย็น เกลือกกริ้วบนพรายน้ำเจ้าพระยา อาจารย์และลูกศิษย์ยืนอยู่ท้ายเรือ ท่ามกลางผู้โดยสารที่บุ้ยใบ้ชี้ให้ดูกัน
“ฝรั่ง! ฝรั่ง! สอนคนไทยดูวัด!?”
ผู้ชายฝรั่ง วัยต้นหกสิบ รูปร่างสง่างาม ผมหยัดศก ใบหน้าสงบนิ่งเหมือนนักบุญผู้คงแก่เรียน มองดูลูกศิษย์ผู้ร่วมทาง แล้วกล่าวว่า
“นายคนภูเขา ดูซิ เขาว่าฉันเป็นฝรั่ง แต่ข้างในของฉัน มีเลือดสีแดงเหมือนทุกคน ฉันเป็นมนุษย์นะนาย ฉันเป็นคน คนที่รักเมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของนายด้วย”
พลันทันทีหูผมอื้ออึงด้วยกัมปนาทอารมณ์ จินตนาการและท่วงทำนองของมนุษยชาติ อดนึกถึง มาร์โคโปโล โคลัมบัส วาสโคดากามา มาจนถึง โคร์ราโด เฟโรจี หนุ่มน้อยจากฟี่เรนเซ่ มหานครแห่งศิลปอิตาลี ธุดงค์กาลเวลามาหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปร่วมสมัยในสยามประเทศ กว่าร้อยปีฉนำกาล จนเติบใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตศิลปินของชาติไปสู่นานาอารยประเทศ ทิ้งรอยอัจฉริยภาพแผ่นดินไว้บนผืนใจแผ่นพื้นจิตวิญญาณตราบจนทุกวันนี้
ผมไม่เคยภาคภูมิใจในกิจกรรมอันใดของสมมุติสัจจะในชีวิต ที่เคยได้มี ได้ทำ ได้เป็น ไม่เคยให้ความสลักสำคัญกับโลกธรรมเหล่านั้น มีเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่เคยได้มี เคยได้เป็น นั่นคือ เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี
ความรู้สึกผูกพัน สำนึกคุณ กตัญญู และมีเจ้าของ เป็นเหมือนลูกหมาพันทางหลงเข้ามาในเมือง มีมูลนายคอยปกป้องเลี้ยงดูจนมีชีวิตเติบกล้ามาจนถึงทุกวันนี้
กว่าสามสิบปีที่อาจารย์จากไป ตำนานชีวิต ยังคงตราตรึงตอกประทับอยู่ภายในส่วนลึกของศิษย์ ต่างกรรมต่างวาระต่างวาทะ หากแต่ด้วยดวงใจและความรัก ความปรารถนาดีและเมตตาจิตอย่างหามิได้ ไม่มีที่สิ้นสุด อาจารย์ที่เราเห็นคือผู้ชายแกร่งทรนงองอาจในภูมิปัญญาบริสุทธิ์ อ่อนน้อมค้อมต่ำแก่ศิลป สุนทรียศาสตร์ ให้ความหวังให้พลังศรัทธา บ่อเกิดความหวังและพะเนียงใฝ่ศิลปะที่ฉาบเปลวความเป็นอมตกาล ที่เปล่งแววพุทธิปัญญาท้าทายกาลเวลา อยู่กับนิรันดรภาพ
ผมเป็นคนเขียนรูปไร้สังกัด อิสระเหมือนควายป่า โดดเดี่ยวเหมือนนอแรด มีความสุขอิ่มเอมสงบระงับ ตามมรรคาวิถีเดียวกันกับครรลองเล็กๆ ที่อาจารย์ได้แผ้วถางไว้ให้
ทำงานหนัก โง่ ขยัน เหมือนเก่า
เพียงแต่ แก่ขึ้น งุ่มง่ามและช้าลง
“นายคนภูเขา” ของอาจารย์ ไม่เคยพูดถึงอาจารย์ผ่านตัวหนังสือ นอกจากวาดรูป
วันนี้วันเกิดอาจารย์อีกครั้ง ขอให้คารวธรรมของผมจากดวงใจ จากจิตวิญญาณ จงสัมผัสถึงอาจารย์ เหมือนภูเขาสัมผัสทะเลไกลด้วยไอหมอกจากภูสูงด้วยเถิด.
(เขียนโดย ถวัลย์ ดัชนี ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์”, พิมพ์ครั้งที่ 2 กันยายน 2542, หน้า 418-427.)
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย