29 มี.ค. 2021 เวลา 05:00 • การศึกษา
กฎหมายยุคโบราณ (Ancient laws)
3
ระยะแรก สังคมมนุษย์ในยุคโบราณใช้จารีตประเพณีเป็นบรรดทัดฐานของสังคม ให้ปฏิบัติร่วมกันหรือต้องห้ามปฏิบัติ เพื่อความสงบเรียบร้อยในชุมชนของตนเอง ทำให้ยังไม่มีกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งหมายรวมถึงยังไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรในช่วงแรก
1
ต่อมาได้ค้นพบว่า มนุษย์เริ่มบัญญัติจารีตประเพณีมาอยู่ในรูปแบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written law) โดยกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ ประมวลกฎหมายอูรูกาจีนา (Code of Urukagina) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกษัตริย์อูรูกาจีนา (Urukagina) ผู้ปกครองนครรัฐลาเกชและนครรัฐเกอร์ซู(Lagash and Girsu) ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ณ ช่วงเวลา 2,380–2,360 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่ทว่ายังไม่การค้นพบหลักฐานของประมวลกฎหมายดังกล่าวในปัจจุบัน เพียงแต่ทราบมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเท่านั้น
ขณะเดียวกันกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่มีการค้นพบหลักฐาน คือ ประมวลกฎหมายอูร์นัมมู (Code of Ur-Nammu) อยู่ในช่วง 2,100 - 2,050 ปีก่อนคริสต์ศักราช ผู้จัดทำ คือ กษัตริย์อูร์นัมมูแห่งเมืองอูร์ (Ur-Nammu of Ur) ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย โดยค้นพบหลักฐานของประมวลกฎหมายนี้เป็นแผ่นดินเหนียวจารึกภาษาสุเมเรียนที่เมืองนิปเปอร์ (Nippur) ในประเทศอิรัก ซึ่งได้จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี สังเกตว่า ประมวลกฎหมายนี้ปรากฎถึงหลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน รวมถึงมีหลักกฎหมายครอบครัวและหลักกฎหมายทาสด้วย เช่น หากชายใดประสงค์หย่ากับหญิงภริยาคนแรก ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่หญิงนั้นจำนวนหนึ่งเหรียญเงินมิน่า หากทาสคนใดหนีออกจากเมืองที่ตนอยู่และมีผู้นำพาทาสนั้นกลับมาคืนแก่เจ้าของทาส เจ้าของทาสต้องจ่ายเงินสองเหรียญเชเคลแก่ผู้นำทาสกลับมา
อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปเราจะรู้จักประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Code of Hammurabi) แห่งอาณาจักรบาบิโลน ซึ่งอยู่ในช่วง 1792-1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยมีกษัตริย์ฮัมมูราบีเป็นผู้จัดทำขึ้นมา สังเกตว่า ประมวลกฎหมายนี้นอกจากได้จารึกบทบัญญัติของกฎหมายอาญาเป็นส่วยมาก แต่ยังมีส่วนของกฎหมายเอกชนด้วย เช่น กฎหมายสัญญาเช่าที่ดิน กฎหมายครอบครัว กฎหมายสัญญาต่าง ๆ เป็นต้น
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ประมวลกฎหมายดังข้างต้นมักจะนำจารีตประเพณีของชนชาติตนเองมาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรและมักจะมุ่งเน้นที่กฎหมายอาญาเป็นหลัก โดยมีแนวคิดของหลักกฎหมายที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ หลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน (lex talionis) อันเป็นการลงโทษผู้กระทำผิดในลักษณะเดียวกับการกระทำของตนที่มีต่อผู้อื่น เช่น หากฆ่าคนตาย ผู้กระทำผิดต้องโทษประหารชีวิต
กฎหมายที่เก่าแก่รองลงมา ได้แก่ กฎหมายของโมเสส (ช่วงประมาณศตวรรษที่ 16 - 13 ก่อนก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นทั้งคำสอนในศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย รวมทั้งเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายพื้นฐานในโลกตะวันตก ช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายโบราณต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ของโลก เช่น กฎหมายฮิตไทต์ (Hittite laws) กฎหมายอัสซีเรียน (Assyrian laws) ประมวลกฎหมายเนสิลิม (Code of the Nesilim) พระมนูธรรมศาสตร์ (Law of Manu) ประมวลกฎหมายราชวงศ์ถัง (Tang Code) กฎหมายเบรฮอน (Brehon Law) เป็นต้น
โฆษณา