1 เม.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
ผมตื่นขึ้นมาพบว่า ผมเขียนหนังสือมาแล้วสามสิบกว่าปี และกว่าครึ่งหนึ่งด้วยสถานะที่เรียกว่า ‘นักเขียนอาชีพ’
3
คำว่า ‘นักเขียนอาชีพ’ แปลว่าจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูหนัง ค่าเล่าเรียนลูก ทุกอย่างด้วยรายได้จากการเขียนหนังสือหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
5
แค่คิดจะเป็นนักเขียนอาชีพก็น่ากลัวแล้ว!
รอดชีวิตมาสิบกว่าปีในฐานะนักเขียนอาชีพ รู้สึกอย่างไร?
รู้สึกว่าปาฏิหาริย์มีจริง! ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!
1
แต่ปาฏิหาริย์ชนิดนี้มาพร้อมการออกแรง การเขียนหนังสือเป็นงานหนัก การเขียนให้ดียิ่งหนัก การรักษาคุณภาพต่อเนื่องยิ่งหนักเข้าไปอีก
1
การเป็นนักเขียนอาชีพในเมืองไทยมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือเรื่องรายได้ หยุดเขียนวันไหน ก็อดวันนั้น เพราะรายได้จากการพิมพ์หนังสือขายไม่ใช่เงินก้อนใหญที่อนุญาตให้เกษียณได้ การทำงานโดยมีภาระนี้ค้ำคออยู่ทำให้ทำงานดีได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
1
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Openbooks เคยกล่าวว่า โมเดลธุรกิจที่ผมและนักเขียนอีกหยิบมือหนึ่งทำคือ ‘เขียนเอง-พิมพ์เอง-ขายเอง’ น่าจะเป็นหนทางเดียวที่เหลือของนักเขียนวรรณกรรมไทยยุคนี้ หากเราไปไม่รอด ก็น่าจะเป็นข่าวร้ายของวงการที่พิสูจน์ว่าโมเดลนี้ไม่ ‘เวิร์ก’ ดังนั้นเราสมควรกัดฟันต่อไป
6
เขาพูดเกินเลยไปหน่อย แต่อาจไม่ผิดนักในเรื่องการวางแผนการเขียนอย่างเป็นระบบ เขียนเอง-พิมพ์เอง-ขายเองอาจจะเป็นหนทางเดียวที่เหลือของนักเขียนวรรณกรรมยุคนี้จริง ๆ เพราะมองไปตามชั้นในร้านหนังสือ พื้นที่หดน้อยลงจนน่าตกใจ จากยอดพิมพ์เรือนหมื่นในสมัยสี่สิบปีก่อนลดลงมาเหลือหลักพัน บทกวีเหลือหลักร้อย
นักอ่านก็เปลี่ยนไป คนอ่านแบบจริงจังมีน้อยลง จากกลุ่มที่อ่านทุกอย่าง เป็นกลุ่มที่อ่านเฉพาะบางแนวเท่านั้น และหลายคนวิวัฒนาการเป็นพวกชอบอ่านข้อความสั้น บทความหนึ่งหน้าถือว่า “ยาวมาก”! เมื่อมองไปที่นักเขียน พบว่ามีมากขึ้น พื้นที่สำหรับนักเขียนเป็นแบบเฉพาะส่วน (niche) มากขึ้น กลุ่มใครกลุ่มมัน กลุ่มยิ่งเล็ก ก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น โมเดลเขียนเอง-พิมพ์เอง-ขายเอง จึงอาจเป็นทางรอดเดียวก็เป็นได้
3
ดังนั้นการอยู่รอดมานานขนาดนี้จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่ง!
ในสมัยของ มนัส จรรยงค์ นักเขียนชั้นครูคนนี้เขียนเรื่องสั้นให้เสร็จก่อนอาหารเย็น ยื่นต้นฉบับให้ลูกวิ่งไปส่งโรงพิมพ์รับเงินมาทันซื้อข้าวเย็น ถ้าเขียนไม่จบ ทั้งครอบครัวก็อด
3
ไม้ เมืองเดิม หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ก็ทำงานหนักตลอดชีวิต บางช่วงแทบจะเลิกราจากวงการเพราะเขียนอะไรก็ไม่เข้าตาใคร
2
มาถึงยุคอินเทอร์เน็ต นักเขียนทำงานด้วยข้อแม้ทางการตลาดและสังคมที่ต่างจากสมัยก่อน แต่โดยรวมก็ยังต้องทำงานหนักเหมือนเดิม
ในวงการนักเขียน ประสบการณ์สามสิบปีไม่จัดว่ายาว เพราะการเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุด นักเขียนที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่ต้องเรียนอะไรใหม่คือนักเขียนที่ตายแล้ว
3
นักเขียนต้องตามโลกให้ทัน การเปิดโลกทำให้ได้รับข้อมูลใหม่ ๆ มาทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่ตัน นี่แปลว่านักเขียนไม่เพียงต้องเป็นนักอ่านตัวยง ยังต้องเป็นนักคิด คิดไกลกว่าคนอื่น ตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง ทำไมโลกเป็นอย่างนี้ ทำไมการเมืองเป็นอย่างนั้น ทำไมคนจึงมีพฤติกรรมอย่างที่เห็น ทำไม ทำไม ทำไม เมื่อมองโลกทะลุ ก็มีมุมมองการเขียนที่ลึกขึ้นกว่าแค่เขียนนิยายธรรมดาเรื่องหนึ่ง นี่ไม่ได้บอกว่าต้องเขียนเรื่องที่เครียดหรือมีสาระลุ่มลึกเสมอ แต่การเข้าใจโลกทำให้เราเขียนงานที่สมจริง แม้จะเป็นนิยายน้ำเน่า ก็เขียนได้ลึกกว่า สมจริงกว่า
1
นักเขียนต้องเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นมนุษย์ สังคม โลก จักรวาล เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ได้อย่างไรหากเราไม่เข้าใจมนุษย์ และจะเข้าใจมนุษย์ได้อย่างไร หากไม่รู้เรื่องจักรวาลเลย เพราะมันเกี่ยวข้องกัน
4
เมื่อเขียนหนังสือ ควรมองไกลกว่าแค่หนังสือ ควรรู้และสัมผัสศิลปะทุกแขนง เพราะนักเขียนที่ไม่คิดว่าตัวเองกำลังทำงานศิลปะก็เป็นได้เพียง
นักเขียน ไม่ใช่ศิลปิน
2
นักเขียนต้องรู้จักความงาม ควรมีรสนิยมเกี่ยวกับความงาม รับรู้สัมผัสความงาม มีต่อมรับรู้ความงาม เมื่อเข้าใจและสัมผัสความงามจนมันเป็นส่วนหนึ่งของเรา ก็สามารถทำงานเขียนที่มีความงามได้ งานเขียนที่ทำออกมาจะมีสัดส่วนลงตัว ซึ่งเป็นหลักความงามของศิลปะทุกแขนง เหมือนกันหมด แน่ละ ความงามดูเป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่มันก็มีหลักของมันที่เราศึกษาได้ ความรู้, ความงาม และรสนิยม เรียนรู้และฝึกฝนได้ แต่ต้องมีวิญญาณของการเรียนรู้
2
การทำงานศิลปะต้องเปิดใจตัวเอง ต้องไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่ลบไม่ได้ อย่ามองว่าเป็นไปไม่ได้ เราสามารถสร้างงานสดใหม่ได้เสมอ แม้ว่าจะต่อยอดจากงานที่มีคนเคยทำมาก่อน
1
สำหรับนักเขียนไทย ต้องคิดไกลกว่าแค่เขียนให้คนไทยอ่าน แต่เขียนให้มนุษยชาติอ่าน
นิยายเป็นเรื่องสะท้อนมนุษยชาติโดยปริยาย แต่มิได้หมายความว่ามันจะมีอยู่สายทางเดียว เป็นไปได้ไหมที่จะเขียนเรื่องมุมอื่น ๆ ของมนุษย์ เรื่องสังคม เรื่องมนุษยชาติ เรื่องจักรวาล
อย่าคิดว่าจะเขียนแต่เรื่องสนุกหรือเรื่องลุ่มลึกทางใดทางหนึ่งแค่ทางเดียว นักเขียนควรเป็นอิสระจากกรอบคิด ก้าวข้ามกติกา ความเคยชิน ลองเขียนเรื่องที่ไม่เคยเขียนมาก่อนบ้าง จึงจะสนุก หากนักเขียนไม่สนุกกับการเขียนหนังสือ ผู้อ่านจะสนุกได้อย่างไร จำเป็นไหมว่าเรื่องสะท้อนสังคมต้องเป็นเรื่องของชาวบ้านถูกไล่ที่ สิ่งแวดล้อมเสียหาย มันอาจเป็นเรื่องมนุษย์ต่างดาว เรื่องนักสืบ เรื่องอิงประวัติศาสตร์ เรื่องแฟนตาซี ฯลฯ ก็ได้ อาจสามารถสะท้อนสังคมเหมือนกัน และอาจไปไกลกว่าแค่สะท้อนสังคมก็ได้
4
ข้อมูลคนเรามีจำกัด ดังนั้นนักเขียนจึงต้องเติมความรู้และความคิดใหม่ ๆ ให้ตัวเองด้วย ต้องตามโลกทัน นักเขียนต้องอ่านมาก ถ้าเป็นไปได้ควรอ่านหนังสือทุกประเภท นิตยสารต่าง ๆ อ่านเรื่องศาสตร์ต่าง ๆ ควรรับรู้เรื่องโลกภายนอก ควรรู้เรื่องการเมือง ปรัชญา สังคม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพราะเราต้องทำงานด้านนั้น แต่การอ่านกว้างทำให้ความคิดกว้าง ทำให้เกิดการแตกหน่อทางความคิด พล็อตก็จะกว้างขึ้น
1
อีกข้อหนึ่ง นักเขียนควรมีคุณสมบัติของการเป็นนักคิดด้วย คือไม่ใช่รอสิ่งที่เป็นข้อมูลชั้นสองที่ผู้อื่นพูดหรือเล่าให้ฟัง เราคิดริเริ่มขึ้นมาก่อนได้ เป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ (trendsetter) เดินนำหน้าผู้อ่านสักสองสามก้าวเสมอ
4
.
จาก เขียนไปให้สุดฝัน
โฆษณา