30 มี.ค. 2021 เวลา 02:08 • บันเทิง
คดีเด็ด | ศูนย์รวมความเซอร์เรียลตำรวจไทยผ่านหน้าจอทวี
.
สื่อฟรีทีวียุคสมัยหนึ่ง มีบทบาทอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์และเป็นช่องทางสำหรับการสื่อสารอะไรบอกอย่างจากหน่วยงานรัฐไปสู่ประชาชนผู้ชมทางบ้าน เพราะสถานีจำนวนไม่น้อยมีเหล่าทัพทหารเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์
ไม่แปลกหากเราเคยผ่านตา ละครที่เกี่ยวข้องกับ ชีวิตทหารเกณฑ์ในค่ายที่ดูสนุกสนาน, มือปราบตำรวจน้ำดีที่ดูแลความเรียบร้อยในบ้านเมือง ไปจนถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความกล้าหาญ เสียสละของบรรพบุรุษนักรบในอดีตกาล นำมาร้อยเรียงเป็นคอนเทนต์นำเสนอผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์อยู่เสมอมา
ต่อให้ละครหรือรายการนั้น ๆ จะเน้นชูโรงขายความบันเทิงเป็นหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้รายการบันเทิงเหล่านั้นล้วนมี agenda บางอย่างที่แฝงอยู่ เช่น แนวคิดชาตินิยม, ความเชื่อต่าง ๆ การกระตุ้นให้คนเกิดจิตสำนึกรักชาติ, หวงแหนแผ่นดิน หรือทำให้คนรู้สึกดีกับหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ของรัฐ ผ่านคอนเทนต์บันเทิง
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะในยุคที่ซิทคอมโด่งดัง แบรนด์สินค้าภาคเอกชน ก็ยังเลือกที่สื่อสารทางอ้อมผ่านบท, ฉากการแสดงของละคร แทนที่จะมาขายโต้ง ๆ เพื่อเป็นมิตรกับผู้ชม ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดความเชื่อ หรือโดนฮาร์ดเซลล์อยู่
แต่คงไม่มีรายการทีวีไหนสามารถพลิกโฉมตำรวจไทย ให้ดูเป็นมิตรกับประชาชนได้มากเท่ากับ “คดีเด็ด” รายการบันเทิงที่อยู่คู่กับช่อง 7 สี มาอย่างยาวนานมากกว่า 2 ทศวรรษ
.
…………………………………………………………………
.
ช่วงบ่ายวันเสาร์สำหรับคนไทยเมื่อสัก 10-20 ปีก่อน ไม่มีอะไรบันเทิงเท่าเปิดช่อง 7 สี ดูรายการ “คดีเด็ด” ซึ่งออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543
 
คดีเด็ด ผลิตโดย Kantana และ บ.อิเมจิเนชั่น ริมจำกัด (I-Rim) มีรูปแบบรายการที่น่าสนใจ
เพราะตลอดระยะเวลาร่วม ๆ 1 ชั่วโมง คุณจะได้พบกับพล็อตเรื่องแปลก ๆ เหนือความคาดหมาย จากผู้คนสาขาวิชาชีพที่ดูไม่น่าจะมาเล่าเรื่องตลกให้ชาวบ้านได้หัวเราะร่า อย่าง “ตำรวจ” ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์สุดเซอร์เรียลในการปฏิบัติงาน
ในยุคแรกเริ่ม คดีเด็ด นำเสนอโดยใช้การถ่ายทำเหตุการณ์จำลอง ไม่ได้เน้นการแสดงที่ตลกมากนัก
เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นบุคคลต้นเรื่องเล่าที่มาที่ไปและอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนคนพากย์ทำหน้าที่บรรยายซีนต่าง ๆ เพื่อให้คนดูเก็ตมากขึ้น
ต่อมา คดีเด็ด เปลี่ยนวิธีการนำเสนอเล็กน้อย จากเซ็ทฉากจำลองประกอบเรื่องเล่า ก็ปรับมาเป็น ละครสั้นเพื่อเน้นให้เนื้อหาดูมีความตลกมากขึ้น
โดยใช้กลุ่มดาราตัวประกอบหน้าเดิม ๆ สลับหมุนเวียนเปลี่ยนบทไปมา ตอนหนึ่งนักแสดงคนนี้เล่นเป็นโจร ตอนต่อไปคนเดียวกันอาจกลายเป็นตำรวจก็ได้
แม้มันอาจดูไม่ค่อยสมจริง แถมยังทนเลือกใช้นักแสดงหน้าเดิม ๆ อยู่ตลอดหลายปี แต่คดีเด็ดยุคละครสั้น กลับเป็นช่วงเวลาที่เรตติ้งรายการนี้ พุ่งกระฉูด
เพราะคนดูชอบอะไรที่ย่อยง่าย ดูแล้วขำได้เลย ไม่ต้องซับซ้อนอะไร เป็นรายการเบาสมอง เปิดแล้วฮาแน่
ความนิยมของ คดีเด็ด ถึงขั้นที่ได้รับไฟเขียวเพิ่มเวลาออกอากาศ และสามารถนำเอาเทปเก่า ๆ ไปขายเป็นซีดีรวมฮิตคดีเด็ดได้เลย
ผมคิดว่าอีกเหตุผลหนึ่ง คือ คนดูส่วนใหญ่ชอบคดีเด็ด เพราะความเซอร์เรียลในเรื่องราวที่ ตำรวจไทยไปเจอมา
มันช่างแตกต่างกับหนังละครในยุคเดียว ที่มักนำเสนอภาพลักษณ์ตำรวจในคาแรกเตอร์ที่เข้มขรึม ชูความเป็นฮีโร่ เป็นคนที่รักความถูกต้อง และเก่งกาจการต่อสู้
ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามา แม่งตรงกันข้ามกับ ตำรวจ ใน “คดีเด็ด” ที่ทำให้เราได้ขำกับฉากตำรวจวิ่งไล่จับโจร, กระโดดพุ่งเข้าไปกลางวงไพ่, เจ้าหน้าที่เจอเรื่องไม่คาดฝันระหว่างปฏิบัติหน้าที่, สื่อสารกันผิดพลาดจนเหตุการณ์วุ่นวาย ไปจนถึงได้ฮากับรีแอคชั่นของผู้กระทำความผิด ยามเจอตำรวจ
แถมผลพลอยได้จากความนิยมในรายการคดีเด็ด ยังช่วยให้ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยในสายตาประชาชน (ณ ช่วงพีคของรายการ) กลายเป็นข้าราชการที่ไม่ได้ดูน่ากลัวจนเกินไป คนทั่วไปกล้าที่จะเข้าถึงมากขึ้น
ประกอบกับยิ่งรายการดังเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีตำรวจอยากส่งเรื่องราวของตัวเองมาให้ คดีเด็ด พิจารณาอย่างมาไม่ขาดสาย เพื่อนำไปออนแอร์ จนทำให้ยุคหนึ่ง คดีเด็ด มีวัตถุดิบให้เลือกอย่างมากมายว่าจะหยิบเรื่องไหนมาเล่าดี
อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ คดีเด็ด เป็นที่ถูกอกถูกใจคนดู คงเป็น พิธีกรดำเนินรายการ “หว่อง-พิสิทธิ์ กีรติการกุล” เจ้าของวลีเด็ด “แหม่ ทำไปได้” เพราะถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า รายการจะดังมานาน 2 ทศวรรษได้แบบนี้หรือไม่ ?
เดิมที พิสิทธิ์ เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประกาศช่อง 7 สี เขามีลักษณะการอ่านข่าวไม่เหมือนใคร จนได้รับฉายาว่า “นักข่าวหน้าเดียว” เพราะมักเล่าข่าวด้วยสีหน้าเรียบเฉย น้ำเสียงที่นิ่ง รวมถึงท่าทางที่ดูเนิบช้า
พิสิทธิ์ ได้รับการชักชวนให้มาเป็นพิธีกรคดีเด็ด เนื่องจากรู้จักกับหนึ่งในทีมงานเบื้องหลังผู้สร้างรายการนี้ ซึ่งมองเห็นว่าคาแรกเตอร์แบบ พิสิทธิ์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะมารับบท “ผู้ดำเนินรายการ” สุดท้าย พิสิทธิ์ ก็ตกลงสวมบทบาทใหม่เป็น พิธีกรรายการตลก ที่หยิบเรื่องเล่าจากตำรวจมาตีความสรุปให้สนุก ขำขัน มากกว่าเดิม
แฟนรายการจึงจดจำ พิสิทธิ์ ได้เป็นอย่างดี จากการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยคลุมด้วยเสื้อสูท เดี๋ยวยืนประจำการอยู่หน้าสถานีตำรวจบ้าง, เดี๋ยวโผล่ไปแถวโต๊ะธุรการระหว่างตำรวจกำลังทำงานบ้าง (เจ้าหน้าที่ต้องทำเป็นไม่สนใจด้วย)
ก่อนจะพูดเข้าเนื้อหาและสรุปเรื่องราวแต่ละคดี ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ, ใบหน้าที่ dead สนิท และใช้คำพูดที่ไม่ยืดยาวนัก ง่าย ๆ แต่ได้ยินแล้วอดหัวเราะไม่ได้ในตอนสรุปจบเรื่อง
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้จะเป็นรายการขายขำ แต่พิสุทธิ์ไม่เคยหลุดหัวเราะออกหน้าจอเลย (เจ้าตัวยอมรับว่าเคยหลุดหัวเราะในระหว่างถ่ายทำ แต่คนตัดต่อไม่ได้เอามาลง) เขายังคง คีพ คาแรกเตอร์ เป็นพิธีกรหน้านิ่ง แต่แอบซ่อนโหมดฮาอยู่ในวลีเด็ดตอนสรุปจบ
ในยุคต่อมา คดีเด็ด เปิดโอกาสให้คนจากสาขาอาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานบริการสังคม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ, พนักงานดับเพลิง, เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัย, แพทย์, นักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น มาร่วมแชร์เรื่องราวของตัวเอง ไม่ได้จำกัดคอนเทนต์ตัวเอง เพื่อทำแต่เรื่องตำรวจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จนมาช่วง 10 ปีหลัง เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนสามารถหาซื้ออุปกรณ์เพื่อบันทึกภาพได้ในราคาที่ไม่สูงมาก สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ถ่ายวิดิโอได้แล้ว ประกอบกับในภายหลังพฤติกรรมของคนหันไปบริโภคคอนเทนต์บันเทิงทางออนไลน์มากขึ้น
คดีเด็ด จึงตัดสินใจปรับรูปแบบการนำเสนออีกครั้ง จากเดิมที่ใช้ละครสั้น ก็เริ่มมีการสอดแทรกนำเอาเนื้อหาที่เป็นกระแสหรือเอาคลิปเหตุการณ์ที่ได้จาก กล้องวงจรปิด, กล้องหน้ารถ, โทรศัพท์มือถือ มาให้ กฤษ คดีเด็ด หรือกฤษพล โพธิ์พิทักษ์ธานนท์ ทำหน้าที่พากย์บรรยาย
ส่วน พิสิทธิ์ ยังทำทุกอย่างเหมือนที่เคยเป็นมา คือกล่าวนำเปิดหัวให้คนอยากดู และพูดสรุปจบตีความในสไตล์ตลกเงียบแบบเดิม
การปรับตัวในครั้งนี้ ได้กลายเป็นที่มาของประโยคไวรัลของรายการคดีเด็ดยุคหลังที่ว่า “ขอย้ำอีกครั้ง ภาพนี้เป็นภาพจริง ไม่ได้ถ่ายทำ คนที่เห็นในภาพก็เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่ตัวแสดง” เพื่อไม่ให้ผู้ชมสับสนว่า อันไหนแสดง อันไหนคลิปจริง
ปัจจุบัน คอนเทนต์ในรายการคดีเด็ด หลัก ๆ ยังเป็นเรื่องเล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนเดิม เพียงแต่ข้อจำกัดที่ว่า เจ้าของเรื่องเล่าต้องเป็น ตำรวจ หรือไม่ก็เจ้าหน้าที่รัฐ, กลุ่มคนที่ทำงานบริการสังคมอย่างเดียว แทบไม่มีแล้ว
เพราะคนดูทางบ้านที่ไม่ได้ทำงานลักษณะดังกล่าว ก็สามารถเอาคลิปภาพเหตุการณ์จริงที่ดูแล้วขำขันตาม หรือมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ส่งมาให้ทีมงานพิจารณา เพื่อนำสร้างเป็นละครสั้นหรือนำไปออกอากาศจริง ๆ
แม้ว่าตอนนี้ ฐานคนดูเก่า ๆ ที่เคยชื่นชอบรายการนี้ หลายคนอาจไม่ได้มานั่งเฝ้าหน้าจอทุกบ่ายวันเสาร์ เพื่อรอดู คดีเด็ด เหมือนอดีต เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สื่อโทรทัศน์ ไม่ได้ทรงอิทธิพลเหมือนอดีต จนทำให้มีรายการทีวีมากมายล้มหายตายจาก
แต่รูปแบบรายการที่มีลักษณะแปลก มีแนวทางตลกเฉพาะตัวแบบ คดีเด็ด ยุคนี้ก็ยังคงขายได้ มีคนติดตามดูอยู่ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ รายการ คดีเด็ด กำลังย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 เข้าไปแล้ว
.
.
.
ติดตามเราได้ทาง www.facebook
com/alongwriter
โฆษณา