2 เม.ย. 2021 เวลา 13:46 • ท่องเที่ยว
➡️ ซมเตียน" กัมพูชา​ ⬅️🔸1 ในประเทศยากจนแถวหน้าของโลก มันต้องมีชื่อของกัมพูชาอยู่ด้วยแน่ ยิ่งพ้นยุค 70 ออกมาจากสงคราม สิ่งที่ชาวโลกจะได้เห็น เมื่อมาเยือนที่นี่ คือ "ซมเตียน"
▪️
🔸ผมมากัมพูชา​ บ้านของนางอัปสราหนแรก ราวยี่สิบปีก่อน ถนนยุคนั้นไม่ต่างดวงจันทร์ เป็นหลุมเป็นบ่อ​ ไม่ต่างเตาขนมครก ถ้ามาในฤดูแล้ง ของแถมคือฝุ่นตลบ ส่วนฤดูฝนนี่ยิ่งสาหัส รถสไลด์ ไหลตกลงข้างทาง ไม่นับสะพานหัก รถชนวัวชนควายพวกนี้​ ​มีให้เห็นกันตลอดทาง แต่จะมาฤดูไหนยุคนั้น ที่ห้ามประมาท​ คือมาเลเรีย ไข้เลือดออก และก็โรคเท้าช้าง
▪️
🔸ระยะทาง 150 กิโลเมตร จากด่านไทยทางปอยเปตถึงเสียมเรียบวันนี้ ใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ในวันนั้น ระยะทางเท่ากัน ออกเช้าจากปอยเปต เราจะมาถึงเมืองมรดกโลก ก็พระอาทิตย์ตก​ ที่พนมบาเค็งพอดิบพอดี แถมระหว่างทาง จะกิน จะถ่ายหนัก หรือเบา ก็ต้องตามที่เจ้าถิ่นบอก คือถ้าไม่อยากขาขาด แขนหลุด เพราะกับระเบิด
ก็อย่าเถลไถล ออกนอกเส้นทางโดยเด็ดขาด
▪️
🔸"กับระเบิด" ราคาถูก​ ราคา​ 3 เหรียญเศษๆ จากค่ายคอมมิวนิสต์ คืออาวุธที่ไม่หวังสังหารกันให้ถึงตาย แต่หวังสร้างเป็นภาระให้กับข้าศึก​ ซึ่งนอกจากศัตรูโดยตรง ที่จะได้รับผลของมันแล้ว ชาวบ้านและเด็กๆในกัมพูชาอีกจำนวนมาก ได้ตกเป็นเหยื่อ​ของมัน ซึ่ง "ซมเตียน" หรือ "ขอทาน" ในยุคเปิดประเทศ ที่นักท่องเที่ยว​ เห็น​กันจนเกลื่อนตา ก็คือภาระที่เรื่องรัง​ มาจากกับระเบิดพวกนี้​นี่เอง
▪️
🔸ซมเตียนแขนขาด - ขาขาดมีอยู่ทั่วประเทศ เป็นมรดกจากสงคราม ทั้งที่เขมรซัดกับทั้งต่างชาติ และที่เขมรซัดกันเองในยุคเขมรแดง จนประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ ต้องตายไปในปีที่ศูนย์ หรือ Year Zero ของเขมรแดง และที่ทิ้งไว้คือ "กับระเบิด" ทั่วทุ่งนาป่าเขา ซึ่งมันมากเสียจน ยากจะคำนวนจำนวนจริงได้ว่า มันมีจริงในจำนวนเท่าไหร่
▪️
🔸เขมรสามฝ่ายสี่ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างก็ฝัง ฝังกันไว้ทั่วกัมพูชา และยิ่งเมื่อเขมรแดง ถูกผลักดันออกมาอยู่ตามตะเข็บชายแดนกัมพูชาไทย ที่ไทยได้คือ เขมรแดงกลายเป็นกันชนให้กับไทย ที่ไม่ต้องซัดกับเวียดนามแบบซึ่งหน้า แต่ที่แถมมาคือ กับระเบิด​ ที่ถูกวางเอาไว้​ทั่ว
🔸ทุกวันนี้ เชื่อกันว่ามี​ ยังคงมีกับระเบิดอยู่ถึง 18 ล้านลูก ที่ยังรอการเก็บกู้ ซึ่งมันมากกว่า​จำนวนประชากร​ 16.5 ล้านคน​ ของกัมพูชา​เสียด้วยซ้ำ​ และดูท่าว่า ไม่น่าจะมีทางเก็บกู้ได้หมด เพราะมันถูกฝังเอาไว้อย่างไร้แบบแผน ไม่มีแผนที่ ไม่มีจุดระบุที่ฝังไว้ แบบยุทธศาสตร์สงคราม​ อย่างในมาตราฐาน​เขาทำกัน
▪️
🔸ส่วนที่ทำได้ทุกวันนี้คือ การเข้ามาช่วยกัมพูชาจากหลายองค์กร ทั้งสหประชาชาติ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมัน จีน รวมถึงไทยเรา ที่เข้ามาสนับสนุน​ ทั้งทุน​ ทั้งอุปกรณ์​ ในการตรวจเช็คพื้นที่​สู้รบในอดีต และในพื้นที่เสี่ยงในปัจจุบัน มีการตรวจทำตารางกันไว้​ อย่างละเอียด​ แทบจะทุกตารางนิ้ว พร้อมวางแผนเก็บกู้ นำเอาไปทำลาย
▪️
🔸เวลาที่ทอดยาวนานมา ทำให้​ "ซมเตียน" รุ่นแขนขาดขาขาด ที่แบมือรุมล้อมนักท่องเที่ยว​ จนน่ากลัวในอดีต ผลัดใบล้มหายตายจากไป​ จนซมเตียนดูลดจำนวนลง​ และที่หลงเหลืออยู่บ้างในวันนี้​ ก็คือ "ซมเตียน" "ขอทานเด็ก" แบบนี้ แม้จะเคยเห็นกันอยู่เยอะ แต่ก็ลดลงไปมาก อย่าง "ซมเตียนเด็ก" ที่ผมถ่ายรูปกับเธอด้วยคนนี้ ซึ่งเธอก็เรียนรู้ ที่จะทำหน้าที่ อย่างใดอย่างหนึ่ง แทนการแบมือขอ เหมือนซมเตียนอื่น ที่เคยเห็น
▪️
🔸เมื่อมาถึง ณ ลานจอดรถของเทวสถานสำคัญแห่งหนึ่ง "เด็กคนนี้" เลือกที่จะมาเดินด้วยอยู่ห่างๆ แม้ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกล และเมื่อมาถึงเทวสถาน เธอก็เลือกจะชี้นิ้วไปที่วางรองเท้า พร้อมกับรอยยิ้ม ก่อนชี้ซ้ายชี้ขวาให้ดูว่า ต้องไปดูตรงนั้นนะ ต้องไปดูตรงนี้ด้วย ด้วยภาษาเขมรที่ยากจะเข้าใจ แต่มันก็จับความหมายได้​ ไม่ยากเย็น
▪️
🔸หลังการรอคอยที่นานพอสมควร เมื่อผมกลับลงมา เธอก็หยิบรองเท้า มาตั้งที่พื้นไว้ให้อย่างเรียบร้อย ผมให้เงินให้เธอไปยี่สิบ กับลูกอมอีกหนึ่งกำมือ และที่เห็นคือ เธอเอาลูกอมในกำมือนั้น เดินไปแบ่งให้กับซมเตียนคนอื่นๆ คนละเม็ดจนหมดมือ
▪️
🔸หลังถ่ายรูปนี้ไว้กับเธอ ซมเตียนน้อยคนนี้ เดินลงเขามาด้วยกันจนถึงรถ ก่อนยืนโบกมือส่งยิ้มร่ำลา และรอจนรถออกตัวไป จบหน้าที่ๆเธอเลือกจะทำ แทนการแบมือขออย่างซมเตียนเด็กอื่น
▪️
▪️
🔸ผมไม่รู้ว่า ขอทานที่นี่พัฒนาขึ้น หรือเด็กน้อยคนนี้ เธอมี service mind ผิดจากเพื่อนคนอื่น แต่พัฒนาการง่ายๆแบบนี้เอง คือพัฒนาการหนึ่ง ในอีกหลายๆพัฒนาการ ที่จะพาให้เด็กน้อยคนนี้ รวมถึงกัมปูเจีย ได้เดินออกจากแถวของความยากจน​ และนี่คือ​ ความเรียบง่ายหนึ่ง ที่ได้เห็น และมาเล่าแบ่งกัน
▪️
▪️
▪️
ภาพถ่ายต่างกรรมต่างวาระ
📸 All Photos ☀️ by Tui Kajondej
⭕ รวมเรื่องร้อยเรื่องราว
🌸 เขียนทุกเรื่องด้วยความสนุก เพื่อความสุขของผู้เขียน และสะสมเรื่องเขียนไว้จดจำ ในมุมสนุกตรงนี้ 🌸

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา