31 มี.ค. 2021 เวลา 17:42 • ประวัติศาสตร์
เมียนมา คาเรน สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด
by ภู เชียงดาว
เหตุการณ์หลังจากมีการรัฐประหารของทหารเมียนมา ทำให้ประชาชนพากันออกมาประท้วงกันทั่วประเทศ กระทั่งทหารเผด็จการโดยการนำของพลเอก มิน อ่องลาย ได้ออกมาไล่ล่ายิงประชาชนอย่างต่อเนื่องและบ้าคลั่ง จนลุกลามไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ล่าสุด ถึงขั้นมีการใช้เครื่องบินยิงถล่มบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยง ทำให้สูญเสียอย่างหนัก จนชาวกะเหรี่ยงต้องพากันลี้ภัยหนีตายข้ามมาฝั่งไทย
นั่นทำให้ ผมนึกถึงภาพการเดินทางและเรื่องราวเก่าๆ ในครั้งนั้น...เมื่อหลายสิบปีก่อน...
***************************************************************************
ในค่ำคืนเดือนมืด เรายกเท้าออกจากผืนแผ่นดินไทย หย่อนลงในลำเรือหางยาวก่อนคนขับเรือจะพาแล่นฝ่าข้ามแม่น้ำเมยไปในความมืด เพียงครู่เดียวมองเห็นแสงไฟวอมแวมอยู่เบื้องหน้า เราขึ้นเหยียบอีกผืนแผ่นดินหนึ่ง แผ่นดินที่หลายคนบอกว่านี่เป็นแผ่นดินของคาเรน(Karen) หรือกะเหรี่ยง
แม้ว่าผมเดินทางตามแนวชายแดนมาหลายหน หากลึกๆ ยังคงรู้สึกตื่นเต้นและชวนประหวั่นเหมือนเดิม ยังดีที่ครั้งนี้ผมร่วมเดินทางไปพร้อมกับ ‘ชิ สุวิชาน’ ศิลปินเชื้อสายกะเหรี่ยง หรือปวาเก่อญอ จึงรู้สึกอุ่นใจขึ้นมากโข เนื่องจากทางกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (ดีเคบีเอ) ได้เชิญเขาไปเล่นดนตรีและขับร้องเพลงในงานรื่นเริงประจำปี
บรรยากาศคืนนั้น เราจึงมองเห็นกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลงประสานเสียงรักชาติปลุกใจ การฟ้อนรำ ฟ้อนดาบ ตีกลองกบ และการเปิดร้านขายอาหารกันอยู่รอบๆ บริเวณงาน สีหน้าแววตาแต่ละคนคืนนั้นจึงดูชื่นสุข เหมือนกับว่าชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยเจอสงครามมาก่อนอย่างนั้น ในบางจังหวะแห่งค่ำคืน ผมแอบหลบออกมายืนอยู่ในมุมสลัวเพียงลำพัง จ้องมองดูภาพตรงหน้า ก่อนครุ่นคิดไปถึงอีกสถานที่หนึ่งที่อยู่ไกลออกไป...
นั่นคือ ฐานกองบัญชาการมาเนอปลอร์ ไม่ไกลจากบริเวณบ้านสบเมย ก่อนนั้นเคยเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง (KNU) ตอนนี้อาจดูเงียบงันและรกร้างว่างเปล่า เหลือเพียงร่องรอยเศษซากของสงครามการสู้รบครั้งใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อน
กองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ถือเป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งอีกกลุ่มหนึ่งที่สู้รบกับพม่ามายาวนาน ก่อนจะถูกทหารพม่าเข้าบุกโจมตีจนแตกพ่ายเมื่อปี 2537 หลายคนทราบดีว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กะเหรี่ยงเคเอ็นยูต้องแตกถอยร่นไปนั้น ก็คือกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (ดีเคบีเอ) ได้แตกคอและหันไปยอมจับมือกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อช่วยยึดกองบัญชาการเคเอ็นยูที่มาเนอปลอร์ หวังเพียงแลกกับสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าจะมอบอาณาเขตพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ปกครองตนเองเป็นการแลกเปลี่ยน
นับแต่นั้นมา นอกจากเราจะได้ยินข่าวการสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แล้วยังคงได้ยินข่าวกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) กับกะเหรี่ยงคริสต์ (เคเอ็นยู) สู้รบ เข่นฆ่า ห้ำหั่นกันทุกปี ทั้งๆ ที่มีเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกัน!
จริงๆ แล้ว กะเหรี่ยง ถือว่าเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรมอันดีงามมาเนิ่นนานแล้ว ผสานกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและสงบสุขมาโดยตลอด จนกระทั่งการเข้ามาของคนพม่าในช่วงที่มีการเจรจากับประเทศอังกฤษเพื่อคืนอิสรภาพให้แก่พม่า กระทั่งเจ้าหน้าที่ของอังกฤษได้ตั้งชื่อดินแดนที่มีของกลุ่มชนชาติที่มีอำนาจในดินแดนนี้ว่า Karen State หรือ รัฐกะเหรี่ยง ต่อมา ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่าเข้าควบคุมยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ จนทำให้ชนชาติกะเหรี่ยงต้องลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่ามาอย่างยาวนาน กระทั่งมาแตกคอกันเองในตอนหลัง
ชิ สุวิชาน บอกว่า ในประวัติศาสตร์ของชนชาติกะเหรี่ยงนั้นมีการต่อสู้เพื่อกู้ชาติมายาวนานกว่า 60 ปีมาแล้ว ซึ่งคนกะเหรี่ยงฝั่งพม่า มีความเห็นที่แตกต่างกันและไม่ลงรอยกันอยู่เป็นระลอกๆ ในอดีต ตอนที่มีการระดมกันเพื่อกู้ชาติใหม่ ความเห็นก็ไม่ลงรอยกัน กลุ่มหนึ่งต้องการกู้ชาติด้วยการสู้รบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่อีกกลุ่มหนึ่งต้องการใช้การเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศหรือศาลโลกเป็นแนวทาง ซึ่งมี ‘ซอบาอูยี’ ผู้ซึ่งจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ รวมอยู่ด้วย แต่สุดท้ายก็ใช้หลักการประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ จึงมีมติให้ใช้แนวทางการสู้รบด้วยอาวุธ ซอบาอูยี ผู้นำการกู้ชาติคนแรกของคนกะเหรี่ยงตอนนั้นก็ต้องยอม เพื่อให้กระบวนการต่อสู้เป็นเอกภาพ แต่ถ้าย้อนกลับไปดู จะเห็นว่า ในหลายๆ ครั้ง มีบางกองพลลงไปมอบตัวกับทางการพม่าบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดรบราฆ่าฟันกันเหมือนยุคนี้
ชิ สุวิชาน บอกว่า ในฐานะที่เป็นคนเชื้อสายกะเหรี่ยง แม้จะอยู่ประเทศไทย รู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่พี่น้องกะเหรี่ยงต้องมาสู้รบกันเอง ถึงแม้ว่าเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดจากแผนการยุแยงตะแคงรั่วของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าเกิดจากความขัดแย้งกันภายในของพี่น้องกะเหรี่ยงด้วยกันเอง รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเลยใช้จุดอ่อนนี้เป็นเครื่องมือในการสลายความเข้มแข็งของคนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเศร้า
ชิ สุวิชาน เล่าให้ผมฟังหลังจากครั้งหนึ่งเคยไปเล่นดนตรีให้กับพี่น้องที่รัฐกะเหรี่ยงในพม่า ว่าเคยไปที่ย่างกุ้ง ไปลุ่มน้ำเอราวดี เมืองปาเต็ง แล้วเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่อาณานิคมอังกฤษปกครอง สมัยนั้นคนกะเหรี่ยงค่อนข้างใกล้ชิดกับคนอังกฤษทำให้พัฒนาการของคนกะเหรี่ยงในด้านสาธารณูปโภค การศึกษาซึ่งรวมไปถึงศาสนาก้าวหน้าพอสมควร แต่หลังยุคอาณานิคมสิ่งเหล่านั้นเสื่อมโทรมอย่างเห็นได้ชัด ไปเห็นในยุคที่อาคารต่างๆเริ่มสึกหรอ ประชาธิปไตยที่สึกหรอ แต่ที่ยังคงเหนียวแน่นคือศาสนา คนกะเหรี่ยงที่พม่านับถือศาสนาอย่างจริงจังทั้งพุทธ ทั้งคริสต์ อาจเป็นเพราะพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ เลยหันมาพึ่งศาสนาซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอเยียวยาหัวจิตหัวใจคนในยามชีวิตไร้หนทาง
ทุกวันนี้ สังคมโลกย่อมจับตามองและพยายามตั้งคำถามว่าต้นตอของปัญหาความขัดแย้งของพี่น้องกะเหรี่ยงที่ต้องสู้รบกันเองนั้นมันอยู่ตรงไหน ซึ่ง ชิ สุวิชาน บอกว่า มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นแผนการของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่ใช้เงิน อำนาจ และศาสนาเป็นเครื่องมือในการทำให้คนกะเหรี่ยงแตกแยกกันเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากความขัดแย้งกันภายในของคนกะเหรี่ยง อำนาจ ผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่เข้าใครออกใคร นั่นจึงเป็นรอยโหว่ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเห็นช่อง เห็นโอกาสที่จะดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นเครื่องมือในการปราบคนกะเหรี่ยงด้วยกัน
“...เวลาผมมีโอกาสไปสัมผัสพี่น้องทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าพี่น้องกะเหรี่ยงเคเอ็นยู กะเหรี่ยงดีเคบีเอ หรือในรัฐกะเหรี่ยง ผมมักจะพูดเสมอว่า ในฐานะคนกะเหรี่ยงคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คนกะเหรี่ยงด้วยกันเองต้องลุกขึ้นมาฆ่ากัน ผมอยากเห็นคนกะเหรี่ยงรักกัน แม้จะแพ้สงครามแต่ถ้ายังมีความรัก เราอยู่ได้ แม้เราไม่มีประเทศ แม้เราจะอยู่อย่างลำบากแร้นแค้น แต่ถ้าเรามีความรักเราอยู่ได้ ถ้าเรามีความรักและความสามัคคีก็ไม่มีใครทำลายเราได้...” ชิ สุวิชาน เอ่ยออกมาด้วยสีหน้าจริงจัง
แหละนี่เป็นอีกหนึ่งบาดแผลของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติที่สะดุด ชำรุด และรอการเยียวยา.
โฆษณา