1 เม.ย. 2021 เวลา 07:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วันนี้ผมไม่ได้มาโกหกอะไร แต่จะมาเล่าเรื่องดาวหางดวงหนึ่งให้ฟัง วันนี้ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่มีอะไรมากกว่าที่คิด เช่น เป็นวัน APRIL FOOLS DAY หรือ วันแห่งการโกหก และ ยังเป็นวันที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.5 ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกเลิกระบบทาส แต่วันนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับแวดวงดาราศาสตร์ใน ปลาย ศตวรรษที่ 20 จะเป็นอะไรติดตามได้ในบทความนี้ครับ
ปล. บทความในวันนี้ยาวมากกกกไม่เหมาะผู้ที่เบื่อง่าย 555
>>> วันนี้ในอดีต <<<
The Great Comet of 1997
ดาวหางใหญ่แห่งปี 1997 (พ.ศ.2540)
>>> การค้นพบ ดาวหางเฮล-บอปป์ <<<
วันที่ 1 เม.ย. เมื่อ 24 ปี ก่อน เป็น วันที่ ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) หรือชื่อในระบบอย่างเป็นทางการ C/1995 O1 เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ดาวหางเฮล-บอปป์ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1995 (พ.ศ.2538)
โดยนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน อลัน เฮล (Alan Hale) และ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอเมริกัน โทมัส บอพพ์ (Thomas Bopp) ซึ่ง ทั้ง 2 ค้นพบดาวหางในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่ต่างสถานที่กันซึ่งในวันที่ค้นพบดาวหางมีค่า โชติมาตร (Magnitude) อยู่ที่ 10.5
* โชติมาตร หรือ Magnitude คือ ค่าความสว่างของวัตถุบนท้องฟ้า ตาของ มนุษย์เราสามารถมองเห็นวัตถุที่มีค่า โชติมาตร ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ยิ่งวัตถุนั้นมี ค่าติดลบ มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสว่างมากเท่านั้น ตัวอย่างคือ ดาวศุกร์ ที่มี โชติมาตร อยู่ที่ - 4 เราจึงเห็นมันง่าย และ ดวงจันทร์เต็มดวงมีค่า โชติมาตร อยู่ที่ -12.6
ภาพถ่าย: ดาวหางเฮล-บอปป์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1995 / โดย: กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล / ที่มา: solarsystem.nasa.gov
เดือน กันยายน ปี 1995 ตำแหน่งของดาวหางยังคงอยู่เลยวงโคจรของดาวพฤหัสบดีออกไป ซึ่งก็คือในระยะทางประมาณ 5 AU หรือ 747,989,354 กม.
แม้จะอยู่ห่างไกลแต่ดาวหางกับมีการตอบสนองต่อแสงอาทิตย์ค่อนข้างมาก มันมีการระเหิดฉับพลัน (Out bursts) เล็กๆ 5 ครั้ง
ต่อมาในปี 1996 (พ.ศ. 2539) ในช่วงเดือน พฤษภาคม ความสว่างของดาวหางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีรายงานว่าเริ่มสังเกตุเห็น ดาวหางเฮล-บอปป์ ได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ท้องฟ้ามืดสนิท
ภาพถ่าย: ดาวหางเฮล-บอปป์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 / โดย:  A. Vesel, P. Repinc / ที่มา: www2.jpl.nasa.gov
จนมาถึงช่วงเดือน มกราคม ใน ปี 1997 (พ.ศ.2540) ดาวหางเฮล-บอปป์ มีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น โชติมาตร 2.5 ซึ่งสามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ง่าย และ เริ่มปรากฎหางยาว 2 องศา
เข้าสู่เดือน มีนาคม มันมีค่าความสว่างเพิ่มเป็น โชติมาตร 0 และ ทอดหางยาว 10 องศา และ ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1997 ดาวหางได้เข้าใกล้จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (Perihelion) ในระยะ 0.914 AU หรือ (136,732,454 กม.)
ภาพกราฟิก: แสดงระยะห่างระหว่าง " ดาวหางเฮล-บอปป์ (จุดสีขาว) และ ดวงอาทิตย์ (จุดสีส้ม) " ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1997
ทำให้ ดาวหางเฮล-บอปป์ มีค่าความสว่างสูงสุดในวันนี้อยู่ที่ โชติมาตร -0.7 ถึง -1
มีหางฝุ่นสว่างที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน โดยถ้าสังเกตบริเวณนอกตัวเมือง ปราศจากแสงรบกวนต่างๆ จะสามารถสังเกตเห็นหางทอดยาวถึง 20 - 25 องศา บนท้องฟ้า
และ หางแก๊ส ที่จะสังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก แต่ เห็นชัดจากภาพถ่ายซึ่งมีลักษณะเป็นหางสีฟ้า
ภาพถ่าย: ดาวหางเฮล-บอปป์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1997 / โดย: Norbert Mrozek / ที่มา: fg-kometen.vdsastro.de
มีรายงานว่าสามารถเห็น ดาวหางเฮล-บอปป์ ด้วยตาเปล่าครั้งสุดท้ายใน วันที่ 9 ธันวาคม 1997
แต่นักดาราศาสตร์ยังคงใช่กล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวหางอย่างต่อเนื่องทำให้ทราบว่า ดาวหางเฮล-บอปป์ จะเริ่มออกจากระบบสุริยะในช่วง ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563)
>>> เกร็ดเล็กน้อยจาก ดาวหางเฮล-บอปป์ <<<
- ดาวหางเฮล-บอปป์ เป็นดาวหาง ที่มีการเฝ้าสังเกตการมากที่สุดใน ศตวรรษที่ 20
- เป็นดาวหางใหญ่ดวงสุดท้ายใน ศตวรรษที่ 20 และ เป็นดาวหางใหญ่ดวงล่าสุด ที่สังเกตได้จากประเทศแถบซีกโลกเหนือ (ประเทศไทยเห็นได้) หลังจาก ดาวหางเฮล-บอปป์ ก็ทิ้งช่วงมา 24 ปี แล้ว ที่ไม่มีดาวหางใหญ่ที่สังเกตเห็นได้จากประเทศไทยมาเยือน
- มีคาบวงโคจรเดิมอยู่ที่ 4,265 ปี แต่ได้เข้าใกล้ดาวพฤหัสบดี วันที่ 5 เม.ย. 1996 ทำให้ถูกรบกวนจากแรงโน้มถ่วง วงโคจรจึงเปลี่ยนเป็น 2,404 ปี กล่าวคือจะกลับมาในปี ค.ศ. 4401
ภาพถ่าย: ดาวหางเฮล-บอปป์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1997 / โดย: Philipp Salzgeber / ที่มา: commons.wikimedia.org
- มีนิวเคียสขนาดใหญ่โดยมีขนาดอยู่ระหว่างที่ 40 - 60 กม.
- มีการค้นพบหางชนิดที่ 3 คือ หางที่มี อะตอมโซเดียม เป็นส่วนประกอบ ปกติเราจะพบหาง ดาวหางเพียง 2 ชนิด คือ หางฝุ่น ที่เกิดจากฝุ่นที่ออกมาจากนิวเคียส และ หางแก๊ส ที่เกิดจาการคล้ายประจุไออนที่ เราเห็นเป็นสีฟ้า
- ดาวหางเฮล-บอปป์ มีความสว่างมากกว่าดาวหางฮัลเลย์ประมาณ 250 เท่า ที่ระยะห่างเท่ากัน
- เป็นดาวหางที่ครองตำแหน่ง ดาวหางที่สามารถเห็นด้วยตาเปล่านานที่สุดในโลก คือ 18 เดือน หรือเท่ากับ 1ปี 6 เดือน
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์กล่าวถึง "ดาวหางเฮล-บอปป์" ฉบับปี พ.ศ. 2540
- เป็นดาวหางใหญ่ที่ ขาด 2 ใน 3 คุณสมบัติที่จะทำให้ดาวหางกลายเป็นดาวหางใหญ่คือ
1. ดาวหางจะต้องเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
2. ดาวหางจะต้องเข้าใกล้โลก
3. นิวเคียสดาวหางต้อง Active หรือ ไวต่อการกระตุ้นจากแสงของดวงอาทิตย์
* ซึ่ง ดาวหางเฮล-บอปป์ ไม่ได้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ไม่ได้เข้าใกล้โลก โดยวันที่มันเข้าใกล้โลกที่สุดยังห่างถึง 1.31 AU (195,973,211 กม.) มากกว่าระยะห่างโลกถึงดวงอาทิตย์ซ่ะอีก แต่นิวเคียสของดาวหางไวต่อการกระตุ้นมาก จึง ปล่อยฝุ่น และ แก๊ส ออกมาอย่างรุนแรงจึงทำให้มันสว่างมาก
>>> คำบอกเล่าจากคนไทยที่มีโอกาสได้เห็น ดาวหางเฮล-บอปป์ <<<
คำบอกเล่าจากคุณ Patipol Chamsakul
- ผมได้เห็นเฮล-บอปป์ ตอนค่ำๆ แค่หันไปมองทางตะวันตกเฉียงเหนือก็จะเห็นทันที รู้ได้ทันทีว่าไม่ใช่ดาวทั่วไป เพราะมีขนาดใหญ่ สว่างกว่า แล้วก็มีหาง หางจะโค้งๆ และ ชี้ขึ้นเฉียงๆ ชัดเจนมาก ยังจำความประทับใจนั้นได้ดีครับ ตอนนั้นผมเรียน ป.ตรี ปี 1 ได้เห็นจาก จ.สงขลา
คำบอกเล่าจากคุณ Sukrit Bhumitanon
- ตอนนั้นอยู่ ป.6 ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นดาวอะไร เห็นแต่สว่างมีหางฟุ้งๆ พอดีไปที่แผงหนังสือเจอหนังสือเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ในนั้นมีบทความเกี่ยวกับดาวดวงที่เห็นเลยทำให้รู้ว่าที่เราเห็นคือดาวหางเฮล-บ็อป ตื่นเต้นมากครับตอนนั้น เพราะเป็นดาวหางดวงแรกที่ที่รู้จักและได้เห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต ตั้งแต่นั้นมาเลยเป็นตัวจุดประกายให้สนใจในดาราศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
คำบอกเล่าจากคุณ Natthapong Wongphuangfuthaworn
- ช่วงประถม ตอนนั้นสนใจดาราศาสตร์อยู่ครับ ปีนแท็งก์น้ำหลังบ้านไปนั่งดู ดูด้วยตาเปล่า ภาพที่เห็นก็เหมือน ๆ ท่านอื่นครับ เป็นดาวหางที่ประทับใจมาก เพราะไม่ได้ดูดาวหางแบบนั้นอีกเลยครับ
ภาพถ่าย: ดาวหางเฮล-บอปป์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2540 / โดย: วรวิทย์/เอกชัย ตันวุฒิบัณฑิต / สถานที่: บ้านหนองงูเหลือม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
โฆษณา